น้ำมันรั่ว & บทเรียน ที่คนไทยไม่ใคร่เรียนรู้
จริงๆ แล้วเมื่อสัปดาห์ก่อนมีข่าวใหญ่ที่สังคมสมควรให้ความสนใจ แต่ถูกบดบังไปด้วยกระแสบิ๊กไบค์ชนคนบนทางม้าลาย ทั้งการเลือกตั้งซ่อมหลักสี่-จตุจักร เรื่อยมาจนตรุษจีน ยังไม่มีน้ำมันรั่วเท่าไร
กรณีน้ำมันรั่วที่ระยอง จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางและคนไทยทุกคนจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน แค่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น ผลกระทบที่ว่าสามารถไล่เรียงไปได้ตั้งแต่มิติของสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตการทำมาหากินของคนชุมชน การท่องเที่ยว เศรษฐกิจมหภาคของจังหวัดระยองและใกล้เคียง สุขภาพอนามัย รวมไปถึงข้อกฎหมายในการป้องกันและชดเชยกับผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด
ในแง่ของมิติสิ่งแวดล้อมนั้นคงไม่ต้องอธิบายอะไรมากมาย เพราะทุกคนทราบดีว่าคราบน้ำมันย่อมส่งผลเสียต่อทั้งพืชและสัตว์ทะเล แต่น้อยคนอาจจะทราบว่าแท้จริงแล้ว การกำจัดน้ำมันพิษเหล่านี้อาจจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวไม่น้อยไปกว่าการปนเปื้อนเอง
มหากาพย์น้ำมันรั่วในอ่าวเม็กซิโกของ BP ในปี 2553 ซึ่งเป็นกรณีน้ำมันรั่วครั้งประวัติศาสตร์เพราะปริมาณน้ำมันจำนวนมากที่ปนเปื้อนในอ่าวเม็กซิโก ทำให้ทางการสหรัฐจำต้องตัดสินใจในการกำจัดสารพิษ ซึ่งมีทางเลือกสองทางคือ
หนึ่ง ใช้สารเคมี กำจัดคราบน้ำมัน ซึ่งสามารถทำให้น้ำทะเลกลับมาใสในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าสารพิษนั้นจะหายไป แท้จริงแล้วสารพิษจะถูกจับตัวและตกตะกอนเหลือในทะเล ซึ่งสารพิษเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปไหน ซึมซับเข้าพืชสัตว์ทะเล และในที่สุดก็มาตกอยู่ในร่างกายของคน
หรือ สอง ใช้อุปกรณ์ซับสารเคมี ที่มีส่วนผสมของพลาสติกสังเคราะห์คุณภาพสูง ที่เรียกกันว่า “บูม” ในการล้อมคราบน้ำมัน ดูดซับและกำจัดจนหมดไป ซึ่งทางเลือกนี้จะเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด แต่ค่าใช้จ่ายนั้นสูงมาก ไหนจะค่า “บูม” ซึ่งมีราคาแพง ไหนจะค่าการขนถ่ายล้อมบริเวณคราบน้ำมัน คูณด้วยจำนวนอาณาบริเวณที่ต้องล้อมอันกว้างใหญ่
บทเรียนจากน้ำมันรั่วที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ทำให้เราเห็นชัดว่า การตัดสินใจจัดการปัญหาครั้งนั้นได้เลือกทางเลือกที่สองโดยการใช้บูมซึ่งถือเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่ทางเลือกทางการเมืองที่ใช้สารเคมี ที่ดูเหมือนแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและประหยัด แต่แท้จริงแล้วนั้นกลับส่งผลเสียในระยะยาว
ตัดภาพกลับมาที่เมืองไทย รายงานจากบริษัทสตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง (SPRC) ซึ่งถือหุ้นใหญ่โดยบริษัทปิโตรเลียมข้ามชาติยักษ์ใหญ่ Chevron ได้แจ้งว่าผู้เกี่ยวข้องได้ปฏิบัติการใช้อากาศยานและเรือเพื่อโปรยสารเคมีกำจัดคราบน้ำมันควบคู่ไปกับการตั้งทุ่นสกัดแล้วซึ่งก็ยังไม่สามารถจำกัดวงได้ จนล่าสุดคราบน้ำมันที่รั่วนั้นได้เกยหาดแม่รำพึงแล้วเป็นระยะทางกว่า 3 กม. ผู้ว่าฯระยองจึงจำต้องออกคำสั่งให้พื้นที่หาดแม่รำพึงเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติ
ในมิติของวิถีชีวิตการทำมาหากินและเศรษฐกิจมหภาคนั้น หากมองและตัดสินด้วยใจที่เป็นธรรมแล้ว การชดเชยแก่ผู้เสียหายที่เกี่ยวข้องอย่าง ชาวประมง ร้านค้าโรงแรม ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงแล้ว ยังมีผู้ได้รับผลกระทบโดยอ้อมอีกหรือไม่ แล้วจะชดเชยอย่างไรให้เหมาะสม
ในทางเศรษฐศาสตร์ค่าเสียหายเหล่านี้ เรียกว่า ต้นทุนภายนอก (External Costs) คือต้นทุนที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของกิจการที่ไม่ได้รวมอยู่ในการประกอบกิจกรรม เช่น ค่าเยียวยารักษาประชาชนในพื้นที่ ค่าฟื้นฟูดูแลสิ่งแวดล้อม อันเกิดมาจากขยะ มลพิษ หรือในกรณีนี้คือน้ำมัน จากอุตสาหกรรมต่างๆ
ความเสียหายทั้งหมดทั้งมวลนี้แท้จริงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเมื่อ 9 ปีที่แล้ว ก็เคยเกิดกรณีน้ำมันรั่วในอ่าวไทยแล้ว หรือหากยึดสถิติที่เก็บโดยกรีนพีซแล้วจะพบว่าน้ำมันเคยรั่วในประเทศไทยแล้วกว่า 240 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2517 เป็นต้นมา
ถือเป็นเรื่องน่าเศร้าที่สุดที่เราไม่รู้จักเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและบทเรียนจากอดีตเลย