จะนำนวัตกรรมไปใช้ได้จริงได้อย่างไร? | พิกุล ศรีมหันต์

จะนำนวัตกรรมไปใช้ได้จริงได้อย่างไร? | พิกุล ศรีมหันต์

“นวัตกรรมเป็นคำตอบในการพัฒนาธุรกิจ” เรื่องนี้ทุกคนน่าจะรู้ดี แต่คำถามที่ผู้ประกอบการน่าจะสงสัยและอาจจะใช้เวลาหาคำตอบกันเป็นปีก็คือ “แล้วในทางปฏิบัติเราจะนำนวัตกรรมไปใช้ได้อย่างไร”

เรามาดูตัวอย่างของผู้ประกอบการที่ตั้งต้นมาจากนวัตกรรม และเต็มไปด้วยบทเรียนที่น่านำมาเรียนรู้ ก่อนที่จะมาเป็นบริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ผู้สร้างสรรค์และพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเครื่องทำน้ำร้อน และเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงาน 
    คุณอัจฉรา ปู่มี และคุณอภิชาติ ปู่มี เริ่มต้นจากการสานต่อธุรกิจครอบครัวซึ่งทำธุรกิจติดตั้งเครื่องปรับอากาศ ทั้งคู่เข้าไปศึกษาธุรกิจของครอบครัว และต้องการให้ธุรกิจของครอบครัวพัฒนาขึ้น

ในตอนแรก สิ่งที่ทั้งคู่ทดลองทำคือการผลิตเครื่องปรับอากาศแบรนด์ไทยพร้อมฟังก์ชั่นเพิ่มเติมในการช่วยลดพลังงานออกมา แต่ปัญหาคือการเป็นแบรนด์ไทยหน้าใหม่ในตลาดเครื่องปรับอากาศที่แบรนด์ต่างประเทศแข็งแกร่ง การจะทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจและเชื่อมั่นก็เป็นเรื่องที่ท้าทายเอามากๆ 
 
    ขณะเดียวกัน การลุกขึ้นมาเป็นผู้ผลิตเครื่องปรับอากาศแบรนด์ใหม่ เท่ากับว่าเป็นคู่แข่งกับคู่ค้าแบรนด์ต่างประเทศที่เป็นพันธมิตรทางธุรกิจมายาวนานไปด้วย

จะนำนวัตกรรมไปใช้ได้จริงได้อย่างไร? | พิกุล ศรีมหันต์

    การจะเข็นแบรนด์ใหม่ออกมาในสถานการณ์แบบนั้นจึงเป็นเรื่องที่ยากมาก ในตอนนั้นทั้งคุณอัจฉราและคุณอภิชาติจึงลองมองหาเส้นทางใหม่ นั่นคือ การนำนวัตกรรมมาต่อยอดธุรกิจ ด้วยโจทย์ว่าจะต้องเพิ่มคุณค่าให้กับธุรกิจครอบครัวและพันธมิตร

    คุณอัจฉราและคุณอภิชาติออกมาตั้งบริษัทใหม่เพื่อโฟกัสที่นวัตกรรมจริงๆ ในชื่อบริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด จุดตั้งต้นมาจากการอยู่ในธุรกิจการติดตั้งเครื่องปรับอากาศ และตั้งคำถามว่าเครื่องปรับอากาศจะเป็นอะไรได้อีกบ้างนอกจากเครื่องปรับอากาศ

    สิ่งที่พบก็คือ ปกติแล้วเวลาเครื่องปรับอากาศทำงานจะเกิดความร้อนขึ้น ซึ่งความร้อนนี้สามารถนำไปแปลงเป็นพลังงานที่เป็นประโยชน์ได้ เช่น การทำให้เกิดน้ำร้อน จึงเกิดเป็นนวัตกรรมเครื่องทำน้ำร้อน และเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงาน โดยจุดเด่นคือการนำพลังงานที่สูญเปล่ามาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

ตอบโจทย์ทั้งการส่งเสริมธุรกิจติดตั้งเครื่องปรับอากาศของครอบครัวและพันธมิตรที่มีอยู่ เพราะไม่ได้เป็นการไปสร้างคู่แข่ง แต่เป็นการไปสร้างคุณค่า และตอบโจทย์เทรนด์ของผู้บริโภคที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่ให้โลกดีขึ้น แต่กลับมาช่วยลดต้นทุนให้ผู้บริโภคได้อีกต่อ

    โจทย์ต่อมาคือ แล้วใครล่ะจะเป็นลูกค้า
    วิธีตอบโจทย์นี้คือ ใครคือคนที่จะเห็นความสำคัญของสิ่งที่เรามี ใครคือคนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด แพคจึงจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียม เป็นหลัก

    ทำไมต้องเป็นกลุ่มนี้? เพราะเป็นกลุ่มที่ต้องมีเครื่องปรับอากาศมหาศาล และแน่นอนว่าต้องการน้ำร้อน การมีเครื่องปรับอากาศจำนวนมากแบบนั้น จึงเป็นแหล่งผลิตความร้อนได้ดีในการผลิตน้ำร้อน และเห็นผลได้ชัดว่าช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าไปได้จริง

    มีนวัตกรรมที่ดี มีประโยชน์แล้ว ต้องหาคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดให้เจอ คนนั้นคือลูกค้าของเรา ทีนี้ถ้าช่วงโควิด-19 กลุ่มลูกค้าหลักของเราได้รับผลกระทบ จะทำอย่างไร?
    
    กลับไปที่คำถามที่เราเคยตั้งไว้คือ “ใครคือคนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด" เมื่อกลุ่มลูกค้าหลักของแพคเป็นกลุ่มโรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียม ซึ่งได้รับผลกระทบหมด ก็ต้องไปหาว่าใครอีกบ้างที่จะได้รับประโยชน์จากธุรกิจของเราอีก

    แพคขยับจากการโฟกัสธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียม มาเป็นอุตสาหกรรมใดๆ ก็ตามที่มีโรงงาน เพราะเมื่อมีโรงงานก็มีความร้อนเกิดขึ้น และต้องการน้ำร้อน ที่สำคัญคือเป็นกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับการลดค่าใช้จ่าย นอกจากลูกค้า B2B แล้ว โควิด-19 ยังทำให้แพคขยายมาเพิ่มฐานลูกค้า B2C ที่เป็นกลุ่มเจ้าของบ้านที่มี Luxury Lifestyle เพราะกลุ่มนี้คือกลุ่มที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนวัตกรรมประหยัดพลังงาน

    นอกจากได้กลุ่มลูกค้าใหม่แล้ว แพคยังเพิ่มผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดและฆ่าเชื่อโรคในเครื่องปรับอากาศ เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ไปในตัว อีกปัจจัยที่ทำให้ธุรกิจที่โฟกัสเรื่อง นวัตกรรมอย่างแพคไปได้สวยคือเรื่องของ “คน”

อัจฉรา ปู่มีและอภิชาติ ปู่มี
    ตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ตั้งบริษัท คุณอัจฉราและคุณอภิชาติตั้งใจว่าจะถ้าธุรกิจจะมุ่งไปในเรื่องการพัฒนานวัตกรรม แปลว่าคนที่จะมาทำงานก็ต้องเป็นคนที่เหมาะกับนวัตกรรมจริง ๆ เพราะฉะนั้น การคัดคนเข้ามาทำงานต้องเลือกมาให้ดีตั้งแต่ต้น และระหว่างทางก็ต้องคอยพัฒนาคนให้มีทักษะใหม่ๆ อยู่เสมอ
     
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ “วิธีคิด”
    เมื่อจะเป็นองค์กรนวัตกรรม นวัตกรรมจะเกิดได้จากการทดลองทำอะไรใหม่ๆ และมองว่าความล้มเหลวเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้และนำไปสู่นวัตกรรม
     
คุณอัจฉราเล่าว่า กว่าที่แพคจะพัฒนานวัตกรรมได้นั้นก็ผ่านความล้มเหลวมามาก ผ่านการทดลองนับไม่ถ้วน แต่ทุกครั้งที่ล้มเหลวก็มองเห็นโอกาสที่จะนำความล้มเหลวนั้นมาพัฒนาต่อได้เสมอ ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของแพคก็เกิดจากตรงนั้น

    จะนำนวัตกรรมไปใช้กับธุรกิจได้ในทางปฏิบัติจึงต้องมีทั้งโฟกัสมาตั้งแต่ต้น ตอบโจทย์ว่านวัตกรรมจะมีประโยชน์และเพิ่มคุณค่าได้อย่างไร มองเห็นว่าใครคือคนที่จะได้รับประโยชน์สูงสุด ให้ความสำคัญกับคน และมีวิธีคิดที่พร้อมจะนำความล้มเหลวมาพัฒนาต่ออยู่เสมอ.