ควรประกาศเอกราชจากความเป็น "ทาสเทคโนโลยี" | ไสว บุญมา
ในช่วงนี้ เทคโนโลยีร่วมสมัยเอื้อให้ชาวโลกได้ชมการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวในจีนพร้อมกัน ในขณะที่ชมอยู่นั้นอาจมีผู้ชมส่วนน้อย ที่นึกถึงความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีที่ทำให้ภาพการแข่งขันมาปรากฏบนจอตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็น จอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ หรือจอโทรศัพท์
นอกจากที่จะนึกถึงความมหัศจรรย์ของเทคโนโลยีในขณะเดียวกัน อาจคาดเดาได้ว่าไม่น่าจะมีผู้ชมนึกว่าเทคโนโลยีอาจมีโทษต่อตนอย่างไร และอาจทำให้ตนตกเป็นทาสของมันได้โดยไม่รู้ตัว
ในระหว่างที่ชาวโลกให้ความสนใจแก่การชมการแข่งขันดังกล่าวอยู่นี้ สำนักข่าวบีบีซีเผยแพร่รายงานที่อาจไม่ดึงดูดความสนใจเท่าไรนัก เป็นเรื่องราวของชาวอังกฤษซึ่งเลิกใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ ๆ ที่เรามักเรียกกันโดยทั่วไปว่า “โทรศัพท์อัจฉริยะ” เนื่องจากมันมีศักยภาพสูงยิ่ง แต่ศักยภาพอันสูงยิ่งนี้เองจูงใจให้เจ้าของใช้มันอย่างต่อเนื่อง จนถึงขั้นเสพติดและตกเป็นทาสของมันโดยไม่รู้ตัว
รายงานของบีบีซีเริ่มต้นด้วยการอ้างถึงสตรีอายุ 36 ปีคนหนึ่ง ซึ่งทำงานในตำแหน่งผู้อำนายการด้านสร้างสรรค์ของบริษัทรับทำโฆษณา เธอตัดสินใจเริ่มต้นปีใหม่ที่ผ่านมาด้วยการเลิกใช้โทรศัพท์อัจฉริยะและกลับไปใช้โทรศัพท์มือถือรุ่นเก่าที่ทำได้เพียงโทรฯ ออก รับโทรฯ เข้า และส่ง/รับข้อความเท่านั้น
สตรีผู้นั้นเล่าให้ผู้เขียนรายงานฟังว่า เหตุการณ์ที่ทำให้เกิดจุดพลิกผันในด้านความคิดและพฤติกรรมของเธอเป็นภาพในสวนสาธารณะ กล่าวคือ วันหนึ่งเธอพาลูกเล็ก ๆ 2 คนไปเล่นที่นั่น พร้อมกันนั้นก็มีผู้ใหญ่อีกราว 20 คนพาเด็กเล็กออกไปเล่นเช่นกัน
ในขณะที่เด็กๆ เล่นอยู่ เธอสังเกตว่าผู้ใหญ่มิได้ให้ความใส่ใจว่าเด็กกำลังทำอะไรแม้แต่คนเดียว ทุกคนจดจ้องอยู่ที่หน้าจอโทรศัพท์ของตนด้วยความสนใจยิ่ง เธอฉุกคิดขึ้นมาว่าในชีวิตมีสิ่งสำคัญมากกว่าการติดตามข่าวสารที่โทรศัพท์รับได้ซึ่งดูจะทำให้คนบนเกาะอังกฤษเสพติดกันอย่างกว้างขวาง
จริงดังที่เธอคิด ข้อมูลบ่งว่าคนอังกฤษ 90% มีโทรศัพท์อัจฉริยะและใช้เวลาเฉลี่ยคนละเกือบ 5 ชั่วโมงต่อวันจดจ้องอยู่ที่หน้าจอของมัน สตรีผู้นั้นบอกว่า เวลาที่เธอได้คืนมาจากการเลิกใช้โทรศัพท์อัจฉริยะเธอใช้อ่านหนังสือและนอนเพิ่มขึ้น
รายงานนั้นพูดถึงชายคนหนึ่งซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและทำงานด้านวิจัยการศึกษา เขาบอกว่าเขาเลิกใช้โทรศัพท์อัจฉริยะมา 2 ปีแล้ว เขาอ้างว่าการเสพติดโทรศัพท์มีผลกระทบต่อการพัฒนาปัญญา ต่อผลิตภาพ และต่อสิ่งแวดล้อมเพราะคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเพื่อผลิตโทรศัพท์รุ่นใหม่ที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นกัน เขาบอกว่าหลังเลิกใช้มัน เขามีความสุขมากขึ้น
นอกจากนั้น รายงานพูดถึงสตรีอายุ 53 ปีซึ่งเป็นครูผู้กลับมาใช้โทรศัพท์อัจฉริยะอีกครั้งหลังเลิกใช้มา 6 ปี หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เธอเลิกใช้ได้แก่การทำตัวอย่างให้ลูกเห็นและหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้เธอกลับมาใช้ได้แก่ลูกสาวคนหนึ่งไปอาศัยอยู่ในฝรั่งเศส โทรศัพท์รุ่นใหม่ทำให้เธอกับลูกติดต่อกันได้ง่ายขึ้น เธอคิดว่าหลังลูกกลับมาจากฝรั่งเศส เธอคงจะเลิกใช้มันอีกครั้ง
หลังอ้างถึงตัวอย่างดังกล่าวแล้ว รายงานพูดถึงด้านดีและด้านเสียของโทรศัพท์มือถือแบบกว้าง ๆ ซึ่งสรุปได้ว่าไม่ต่างกับเรื่องของเทคโนโลยีโดยทั่วไป ในแง่ที่มันมีประโยชน์และในบางกรณีมีประโยชน์สูงมาก แต่ในขณะเดียวกันมันแฝงโทษมาด้วยและในบางกรณีมีโทษสูงมากหากผู้ใช้ด้อยปัญญา หรือมีเจตนาร้าย
คอลัมน์นี้มักอ้างถึงประเด็นหลักของรายงานดังกล่าวในบริบทของ “คำสาปของเทคโนโลยี” คำสาปนี้มีอานุภาพสูงมากถึงขั้นทำลายล้างโลกได้ภายในพริบตา ถ้ามหาอำนาจน้อยใหญ่ไม่ประกาศเอกราชจากความเป็นทาสของมันโดยการทำลายอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองของตน
หากยังเป็นทาสของมันต่อไป น้ำผึ้งหยดเดียวเช่นความขัดแย้งร้ายแรงในยูเครนอาจจุดชนวนเหตุการณ์ที่ปล่อยคำสาปของมันออกมาทำลายมนุษยชาติจนสูญพันธุ์ได้ เหตุการณ์นั้นได้แก่สงครามโลกครั้งที่ 3.