เทรนด์พลังงานสะอาดในญี่ปุ่นและการแก้ปัญหาต้นทุนสูง

เทรนด์พลังงานสะอาดในญี่ปุ่นและการแก้ปัญหาต้นทุนสูง

การมุ่งหน้าสู่การลดคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ โดยเน้นการเพิ่มสัดส่วนของพลังงานสะอาด ได้รับความสนใจอย่างมากทั่วโลกรวมทั้งในประเทศญี่ปุ่น

รัฐบาลญี่ปุ่นออกนโยบายที่มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดอย่างเต็มที่ ควบคู่ไปกับการลดต้นทุน และการเพิ่มการใช้ระบบกักเก็บพลังงาน โดยจะเน้นพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าบนทะเลจากพลังงานลม และการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่

ในส่วนของการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าบนทะเลจากพลังงานลม ทางรัฐบาลญี่ปุ่นออกกฎหมายรองรับสิทธิการใช้พื้นที่ทะเล 30 ปีเพื่อผลิตไฟฟ้า โดยจัดสรรผ่านการประมูลและกำลังเตรียมออกกฎหมายอื่นๆ มารองรับการพัฒนาในส่วนนี้ 

ล่าสุด ได้เปิดประมูลไปแล้ว 3 เขตพื้นที่ และกลุ่มผู้เข้าร่วมประมูลของเครือมิตซูบิชิ คอร์ปอเรชั่น ชนะการประมูลทั้งสามพื้นที่ โดยให้ราคาที่ดีกว่าที่คาดหมาย ในขณะเดียวกัน ประเทศญี่ปุ่นก็กำลังพยายามลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ผ่านการแก้ไขกฎหมายพลังงานทดแทนครั้งสำคัญที่จะมีผลบังคับใช้ 1 เม.ย.2565 

การแก้ไขกฎหมายครั้งนี้จะเน้นเพิ่มความมีประสิทธิภาพทางเศรษฐกิจ (Economic Efficiency) โดยจะมีการปรับระบบการคิดราคาซื้อไฟจากพลังงานทดแทนให้เป็นไปตามอุปสงค์และอุปทานในตลาดมากขึ้น 

โดยจะจ่ายส่วนเพิ่มภายใต้ระบบใหม่ที่เรียกว่า FIP (Feed-in Premium) ซึ่งจะมาแทนที่ระบบการกำหนดราคาซื้อไฟแบบตายตัว ภายใต้สัญญาขายไฟระยะยาว 20 ปีที่เป็นระบบเดิมที่เรียกว่า FIT (Feed-in Tariff)

ระบบ FIP ใหม่นี้ ราคาขายไฟจะปรับขึ้นลงตามสภาพอุปสงค์และอุปทานในขณะนั้น เช่น ราคาค่าไฟในวันที่อากาศหนาวจัดหรือร้อนจัดที่มีการใช้ไฟเยอะ อาจจะขายได้แพงกว่าราคาช่วงอากาศเย็นสบายที่มีความต้องการใช้ไฟน้อย แต่ส่วนเพิ่มราคาขายไฟฟ้า หรือที่เรียกว่า premium จะเป็นมูลค่าคงตัว แต่จะปรับมูลค่า premium ทุกๆ เดือน ตามสูตรการคำนวณที่กำหนดในกฎหมาย

เหตุผลหนึ่งในการปรับเปลี่ยนการซื้อไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด มาจากการที่ภาพรวมค่าไฟฟ้าในญี่ปุ่นปรับตัวสูงขึ้น โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการใช้แหล่งพลังงานอื่น เช่น การผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทนอื่นแทนพลังงานนิวเคลียร์ ขณะที่การผลิตไฟฟ้าโดยพลังงานเชื้อเพลิงและพลังงานทดแทนนั้น ต้นทุนสูงกว่าพลังงานนิวเคลียร์ โดยเฉพาะช่วงที่ราคาเชื้อเพลิงในตลาดโลกดีดตัวสูงขึ้น

ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อต้นทุนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจและค่าครองชีพของประชาชน รัฐบาลญี่ปุ่นตระหนักถึงความจำเป็นในการที่ต้องลดต้นทุนไฟฟ้า พร้อมกับเพิ่มการพึ่งพาพลังงานทดแทนและลดคาร์บอนไดออกไซด์ไปพร้อมๆ กัน จึงคิดระบบใหม่เพื่อสร้างความสมดุลระหว่างทั้งสองวัตถุประสงค์

นอกจากนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นกำลังพิจารณาการให้สิทธิแก่ผู้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด ให้สามารถเชื่อมต่อระบบกักเก็บไฟฟ้ากับระบบส่งไฟได้ เพื่อเพิ่มความเสถียรของปริมาณไฟฟ้าที่จะสามารถส่งเข้าระบบ เนื่องจากปัญหาหลักของการผลิตพลังงานสะอาดจากลมและแสงอาทิตย์ คือการที่ไม่สามารถปรับกำลังการผลิตให้เป็นไปตามความต้องการใช้ไฟฟ้าได้ 

เช่นบนเกาะคิวชู ที่มีโรงไฟฟ้าพลังแสงอาทิตย์หลายแห่ง ก็มีปัญหาเกี่ยวกับการที่ต้องหยุดการผลิตไฟในช่วงที่ความต้องการการใช้พลังงานน้อยเกินไป การใช้ระบบกักเก็บไฟฟ้าจะช่วยสามารถแก้ปัญหานี้ได้แบบที่เห็นตัวอย่างในประเทศแถบยุโรป ประเทศญี่ปุ่นจึงมีความสนใจที่จะออกกฎหมายให้สิทธิในการติดตั้งแบตเตอรี่ โดยมีแผนที่จะให้เงินช่วยเหลือในส่วนนี้ให้อีกด้วย

นอกจากนี้ ประเทศญี่ปุ่นยังมีแผนที่ที่จะเพิ่มค่าผ่านสายส่งไฟฟ้า (generator-side wheeling charge) ที่ปัจจุบันผู้ขายไฟเป็นคนรับผิดชอบ ให้เป็นความรับผิดชอบของผู้ผลิตแทน และยังมีแผนที่จะเพิ่มหน้าที่ในการสำรองค่าใช้จ่ายสำหรับการรื้อถอน (decommissioning cost) สำหรับผู้ประกอบการด้วย โดยหลักการจะให้มีการหักจากค่าซื้อไฟในช่วง 10 ปีสุดท้ายของสัญญา

นโยบายและปัญหาของประเทศญี่ปุ่นที่นำเสนอข้างต้น น่าจะเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจสำหรับประเทศไทย ในการวางกรอบและพัฒนาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องการควบคุมต้นทุนการผลิตไฟฟ้า.