ภาครัฐไทยในศตวรรษที่21 | ธราธร รัตนนฤมิตศร
โลกก้าวสู่ศตวรรษใหม่มากว่า 20 ปี เราเห็นได้ชัดว่าแม้เพียงช่วงต้นศตวรรษเท่านั้น แต่การเปลี่ยนแปลงในหลายมิติก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเป็นอย่างมาก แรงขับเคลื่อนที่สำคัญเกิดจากโลกกำลังอยู่ในห้วงเวลาของการเขย่าครั้งใหญ่ ที่เรียกว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4”
พร้อมกันนั้น โลกก็กำลังเผชิญกับความเสี่ยงในหลายมิติ ทั้งโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความขัดแย้งของภูมิรัฐศาสตร์โลก และความเหลื่อมล้ำทางสังคมที่เร่งตัวขึ้น
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นถือเป็นความท้าทายทั้งต่อภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชนทุกคน ที่จะต้องเตรียมความพร้อมต่ออนาคตในเชิงรุกและความสามารถในการปรับตัวและเรียนรู้ใหม่อยู่เสมอ
สถาบันอนาคตไทยศึกษา (TFF) และสำนักงาน ก.พ.ร.ได้ศึกษาวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทางธุรกิจในอนาคต โดยใช้วิธี Horizon Scanning วิเคราะห์ดูว่าภาครัฐไทยควรจะเตรียมพร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคตอย่างไรบ้าง
เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจอย่างน้อยก็ในอนาคตระยะเวลา 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งผลการศึกษาได้ชี้ออกมาว่า ภาครัฐควรเตรียมความพร้อมในเชิงรุกหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนและอำนวยความสะดวกให้กับภาคธุรกิจเพื่อรองรับอนาคต
เริ่มต้นจากภาครัฐจำเป็นต้องพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่บริการดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และยกระดับสู่บริการภาครัฐอัจฉริยะในอนาคต (Smart and Digital Government) แนวโน้มการปรับเปลี่ยนไปสู่ดิจิทัลของทุกภาคส่วนเป็นกระแสหลักที่ชัดเจนมาก
ภาครัฐไทยถือว่าได้พัฒนาไปพอสมควร ดังจะเห็นจากภาคธุรกิจและประชาชนสามารถใช้บริการออนไลน์กับภาครัฐได้อย่างสะดวกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศที่เป็นแนวทางปฏิบัติที่ดี ก็ยังพบว่าการเข้าสู่ภาครัฐดิจิทัลของไทยยังคงติดขัดอุปสรรคบางประการ เช่น การแยกส่วนของแพลตฟอร์มสำคัญๆ ระหว่างหน่วยงานที่มีเป็นจำนวนมาก หลายบริการมีระยะเวลาบริการจำกัดเฉพาะเวลาราชการ
จำนวนเอกสารหรือสำเนาเอกสารส่วนบุคคลหรือธุรกิจที่ต้องยื่นซ้ำซ้อนในหลายหน่วยงาน ข้อมูลภาครัฐที่ยังกระจัดกระจาย รวมถึงอุปสรรคจากด้านผู้ใช้บริการ ที่ยังไม่รู้จักบริการของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง หรือปัญหาจากรูปแบบและภาษาทางราชการ ที่ทำให้ประชาชนไม่เข้าใจ จึงไม่สามารถใช้บริการผ่านดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ทิศทางการพัฒนาศูนย์บริการธุรกิจหรือศูนย์บริการประชาชนแบบดิจิทัล ณ จุดเดียวของภาครัฐในปัจจุบัน โดยเฉพาะ Business Portal และ Citizen Portal ถือเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติที่ดีระดับสากล
ภาครัฐไทยควรเร่งดำเนินการให้เกิดผลในทางปฏิบัติได้จริง และครอบคลุมบริการที่สำคัญที่ภาคธุรกิจและประชาชนใช้บริการในชีวิตประจำวันสูง รวมถึงประชาสัมพันธ์และจูงใจให้ประชาชนและธุรกิจเข้าไปใช้งาน
เมื่อภาครัฐสามารถให้บริการดิจิทัลได้เต็มรูปแบบ และบูรณาการกันบนแพลตฟอร์มหลักๆ แล้ว ภาครัฐควรยกระดับการบริการไปสู่บริการดิจิทัลอัจฉริยะ (Smart Service) ให้บริการสอดคล้องกับลักษณะเฉพาะของประชาชน (Personalized Service) โดยไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนกับภาครัฐใหม่ทุกครั้งเมื่อต้องใช้บริการต่างๆ ดังเช่นที่เป็นมา
ทิศทางการพัฒนาควรมุ่งไปสู่การจัดทำบริการตามจังหวะขั้นตอนของชีวิต (life cycle) เช่น เมื่อประชาชนแจ้งเกิดสำหรับเด็ก บริการภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรชีวิตของเด็กจะเริ่มต้นทำงานเชิงรุก โดยแจ้งเตือนไปที่ผู้ปกครองให้รับรู้สิทธิหรือสวัสดิการทั้งด้านสุขภาพ การศึกษา และสวัสดิการสังคม ตามวัฏจักรชีวิตของเด็กหนึ่งคนไปจนตลอดชีวิต รวมถึงการจ่ายภาษีและประกันทางสังคม และเมื่อเกษียณอายุก็ได้รับอุดหนุนผู้สูงวัยโดยอัตโนมัติ เป็นต้น
บริการเชิงรุกสำหรับภาคธุรกิจสามารถดำเนินการตามวัฏจักรชีวิตของธุรกิจ (Business life cycle) ได้เช่นกัน ภาครัฐสามารถดำเนินการเชิงรุก โดยใช้ระบบติดตามและแจ้งเตือน เพื่ออำนวยความสะดวกแต่ละธุรกิจตั้งแต่เริ่มต้นจดทะเบียนธุรกิจ การขออนุญาตก่อสร้าง การขออนุญาตมาตรฐานรับรอง การจ่ายภาษี ไปจนถึงการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ หรือการเลิกกิจการ อย่างครบวงจร
เนื่องจากประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำด้านดิจิทัล ภาครัฐจึงควรจัดให้มีการอำนวยความสะดวกสำหรับประชาชนหรือธุรกิจ โดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กและผู้ประกอบการรายย่อย ให้สามารถขอใช้งานคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตตามสถานที่ราชการหรือพื้นที่สาธารณะของประเทศอย่างทั่วถึง
เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการดิจิทัลของรัฐ ลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล รวมทั้งควรเพิ่มทักษะและองค์ความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่รัฐให้สามารถให้คำแนะนำทั่วไปในการใช้งานบริการภาครัฐดิจิทัลได้ รวมถึงการส่งต่อให้กับเจ้าหน้าที่ที่ดูแลโดยตรงสำหรับบริการเฉพาะทาง
นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรพิจารณาทบทวนและปรับปรุงกฎเกณฑ์และระเบียบให้ง่ายขึ้นและสอดคล้องต่อแนวโน้มอนาคตอย่างต่อเนื่อง โดยลดขั้นตอนการปฏิบัติที่ไม่จำเป็นลง นำระบบอัตโนมัติ และการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานมาใช้ทดแทน อีกทั้งกฎเกณฑ์บางประการอาจยังไม่พร้อมรองรับแนวโน้มของโลกอนาคต
ตัวอย่างเช่น ประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายรองรับการทำ “สัญญาอัจฉริยะ” (smart contract) เป็นการเฉพาะ ซึ่งเป็นแนวโน้มที่สำคัญของการทำธุรกรรมสัญญาในอนาคต แม้ว่าปัจจุบันจะสามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่กับสัญญาต่างๆ ประยุกต์ใช้ได้ในบางแง่มุม
แต่ในอนาคต ก็ควรมีการพัฒนากฎหมายสัญญาอัจฉริยะเป็นการเฉพาะ เพื่อรองรับการทำธุรกรรมในด้านนี้ที่จะมีมากขึ้นในอนาคต เป็นต้น ภาครัฐในศตวรรษที่ 21 ยังมีเรื่องสำคัญที่ต้องทำอีกหลายประการ ซึ่งจะกล่าวในบทความครั้งต่อไป.