QCC เพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง | วิฑูรย์ สิมะโชคดี

QCC เพื่อการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง | วิฑูรย์  สิมะโชคดี

เรามักจะคุ้นเคยกับคำกล่าว (เชิงประชด) ที่ว่า “QCC เกิดที่อเมริกา โตที่ญี่ปุ่น แต่มาตายที่เมืองไทย” และนักบริหารจำนวนมากก็เชื่อกันด้วยว่ากิจกรรม QCC ได้ล้มหายตายจากสังคมไทยไปนานแล้ว

แต่วันนี้  เห็นทีจะต้องถอนคำพูดดังกล่าวกันแล้ว เพราะการเป็นประธานในพิธีมอบรางวัล “Thailand Quality Prize 2021” เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ก.พ. 2565  ทำให้ผมได้เห็นผู้คนร่วมงานกว่า 500 คน ซึ่งมีทั้งผู้บริหาร หัวหน้างาน และผู้ปฏิบัติงาน  โดย “สมาคมส่งเสริมเทคโนโลยีไทย-ญี่ปุ่น” (สสท.) ได้จัดงานมอบ “รางวัลคุณภาพ” นี้อย่างต่อเนื่องมาถึง 38 ปีแล้ว

งานนี้เน้นเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของ “กิจกรรมกลุ่มย่อย” เพื่อการปรับปรุงงาน โดยใช้เครื่องมือที่เรียกกันว่า “QCC” เป็นหลัก

กิจกรรม QCC (Quality Control Circle : QCC) จะเป็นการควบคุมคุณภาพงาน (รวมทั้งสินค้าและบริการ) ด้วย “กิจกรรมกลุ่มย่อย” ด้วยการปรับปรุงงานที่ทำอยู่  การจัดการวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ผลผลิต และการบริหารงาน เป็นต้น ให้ได้คุณภาพตามความต้องการของลูกค้า ผู้เกี่ยวข้องหรือข้อกำหนดตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ 

โดยมีเป้าหมายในการป้องกันและลดปัญหาการสูญเสียทั้งวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิต เวลาการทำงาน และผลผลิต  จึงสามารถลดต้นทุนการผลิต  ส่งมอบสินค้าตรงเวลา และสินค้าหรือบริการมีคุณภาพตามมาตรฐาน

QC Circle หรือ QCC หรือ กลุ่ม QC คือ (1) กลุ่มเล็กๆ ประกอบด้วยพนักงานที่อยู่หน้างาน  (2) ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพงาน สินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง  (3) ดำเนินการได้ด้วยตนเองตามสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม  (4) ใช้ QC Concept และ QC เทคนิคในการแก้ไขปัญหา  และ (5) ดึงความคิดสร้างสรรค์ของพนักงานออกมาใช้

QCC  จึงเป็นการส่งเสริมการพัฒนาตนเอง (เพื่อยกระดับความสามารถและศักยภาพของตนเอง) และพัฒนาซึ่งกันและกันในกลุ่ม (ทีมงาน)  เพื่อให้มีมุมมองที่กว้างขึ้น และสามารถทำงานเป็นทีม
 

หลักการสำคัญของ QCC  จึงต้องการให้พนักงานในระดับหัวหน้างานและพนักงานผู้ปฏิบัติงานทั่วไปมีความสำนึก 4 ประการ คือ  (1) การมีส่วนร่วมในการบริหารงาน  (2) การทำงานร่วมกันเป็นทีมอย่างมีระบบ  (3) การรู้จักแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยตนเอง  และ (4) การรู้จักปรับปรุงด้วยตนเอง

การทำ “กิจกรรมกลุ่มย่อย QCC”  จะประกอบด้วย 4 ขั้นตอนด้วยกัน คือ  (1) การวางแผน (Plan : P)  (2) การปฏิบัติ (Do : D)  (3)การตรวจสอบ (Check : C)  และ (4) การแก้ไขปรับปรุง (Action : A) หรือ เรียกกันว่า “วงจร PDCA” (PDCA Cycle) เป็นวงล้อแห่งการปรับปรุงที่หมุนกลิ้งไปไม่รู้จบ

รางวัล “Thailand Quality Prize 2021” ของ สสท. รวมทั้งสิ้นเกือบ 100 รางวัล ที่มอบให้กับผู้ปฏิบัติงาน หัวหน้างาน และผู้บริหารทุกระดับ ได้แก่ รางวัล (1) Popular Vote  (2) QCC Facilitator Award  (3) QCC Promoter Award  (4) QCC Promoter Award for Top Management  (5) New Born QCC Prize  (6) Junior Manufacturing QCC Prize  (7) Task Achieving QCC Prize  (8) Office QCC Prize  (9) Support QCC Prize  และ (10) Manufacturing QCC Prize

ปัจจุบัน ธุรกิจอุตสาหกรรมทุกประเภทต่างก็อยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันอย่างรุนแรงทั้งภายใน และระหว่างประเทศ  ดังนั้นการที่กิจการจะยังคงยืนหยัดอยู่ได้ และสามารถก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืนนั้น  จะต้องมีการวางรากฐานและยุทธศาสตร์ที่ชัดเจนเพื่อต่อสู้แข่งขันในเชิงธุรกิจ

ทุกวันนี้ ธุรกิจอุตสาหกรรมที่สามารถปรับตัวและรับมือกับความท้าทายต่างๆ จนบรรลุความเป็นเลิศได้นั้น  จึงเป็นกิจการที่ให้ความสำคัญกับเรื่องของ “คุณภาพ” เป็นเงื่อนไขสำคัญในการประกอบกิจการ

ขณะนี้  เรากำลังอยู่ในช่วงของการปฏิวัติอุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง (อุตสาหกรรม 4.0 และ ประเทศไทย 4.0)  โดยมีเทคโนโลยีเป็นแรงผลักดันที่อยู่เบื้องหลังการปฏิวัติทางอุตสาหกรรมทุกครั้ง

ถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะเป็นเงื่อนไขสำคัญของการปฏิวัติอุตสาหกรรมทุกครั้ง  แต่สิ่งที่เป็นแรงผลักดันให้เกิดการปฏิวัติอุตสาหกรรมอย่างแท้จริง ก็คือ “คน” หรือ “พนักงาน” ขององค์กร  

เพราะ “คน” เท่านั้นที่สามารถใช้มันสมองของตนเองในการคิดและปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการปรับปรุงเพื่อการลดต้นทุนหรือเพิ่มคุณภาพในเรื่องต่างๆ

ดังนั้น “การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง”  จึงเป็นเรื่องของ “คน”  ซึ่ง “ผู้นำ” มีหน้าที่จะต้องปลูกฝังให้เกิดขึ้นทั่วทั้งองค์กรที่มุ่งสู่ความเป็นเลิศ ครับผม!