ความพยายามของ "จีน" ปลุกความมั่นใจ กระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้ "อยากมีลูก"
ปัจจุบันมีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ชาวจีนรุ่นใหม่ "ไม่อยากมีลูก" ฉะนั้น จีนจึงต้องเตรียมรับมือและแก้ปัญหา "อัตราการเกิดต่ำ" อ้ายจงจึงอยากมาพูดถึงความพยายามของแดนมังกร ในการปลุกความมั่นใจ กระตุ้นคนรุ่นใหม่ให้ "อยากมีลูก"
"จีน" เป็นหนึ่งในประเทศที่เข้าสู่ "สังคมผู้สูงอายุ" โดยมีสัดส่วนผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป เกือบจะแตะ 20% ของประชากรทั้งประเทศ และมิหนำซ้ำยังเจอปัญหาอัตราการเกิดที่ลดลง ถ้าดูข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน จะพบว่า อัตราการเติบโตของประชากรโดยธรรมชาติ ซึ่งไม่นับรวมเรื่องการย้ายถิ่น ของปี 2564 ที่ผ่านมา จีนมีอัตราการเกิดดิ่งลงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2503 หรือราว 61 ปี ก่อนหน้า โดยจำนวนประชากรเกิดใหม่ในปี 2564 มีเพียง 10.62 ล้านคน ลดลงจากปี 2563 ที่มีจำนวนประชากรเกิดใหม่ 12 ล้านคน
ความพยายามของจีนในการรับมือและแก้ปัญหา "อัตราการเกิดต่ำ" รวมถึงการทำให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนไปได้ท่ามกลาง "สังคมผู้สูงอายุ" สามารถสรุปได้ดังนี้
1. นโยบายลูกคนที่สอง ลูกคนที่สาม
ในปี 2559 จีนใช้นโยบายลูกคนที่สอง กล่าวคือ อนุญาตให้มีลูกสองคน หลังจากจำกัดจำนวนประชากรด้วยนโยบายลูกคนที่หนึ่งมาหลายทศวรรษ เพื่อกระตุ้น "อัตราการเกิดใหม่" ในจีนให้เพิ่มขึ้น และแก้ปัญหาเศรษฐกิจระยะยาว เนื่องด้วยจีนเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในปีเดียวกันกับนโยบายลูกคนที่สองปรับใช้เป็นปีแรก เราได้เห็นตัวเลขอัตราการเกิดใหม่ที่พุ่งสูงสุดถึง 17.8 ล้านคน แต่หลังจากนั้นก็ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้ปี 2564 จีนเปลี่ยนนโยบายใหม่ จากลูกสองคน เป็น อนุญาตให้มีลูกได้ 3 คน หลังเจอวิกฤติ อัตราการเกิดต่ำสุดในรอบ 5 ทศวรรษ
บทความที่เกี่ยวข้อง
2. ลดภาระค่าใช้จ่ายของพ่อแม่ และคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่มีลูก ให้อยากมีลูกมากขึ้น
แม้จีนจะลดข้อจำกัดการมีลูกได้แค่หนึ่งคน มาเป็นสนับสนุนให้มีลูกคนที่สอง และล่าสุด เพิ่มเป็นคนที่สาม เพื่อเพิ่มอัตราการเกิด แต่ทว่าถ้าดูจากสถิติที่กล่าวมาข้างต้น เห็นได้ชัดว่า คนจีนยังคงไม่อยากมีลูก หรือยังคงต้องการมีแค่คนเดียว ไม่มีเพิ่ม โดยจากการสอบถามเพื่อนๆ ชาวจีนของอ้ายจง จากประสบการณ์ส่วนตัวสมัยใช้ชีวิตในประเทศจีน ประกอบกับข้อมูลบนโลกออนไลน์จีน เช่น ความคิดเห็นที่คนจีนโพสต์ในข่าวบนโซเชียลจีน ที่เกี่ยวข้องกับจีนออกนโยบายลูกคนที่สาม ทำให้พอจะบอกได้ว่า หนึ่งในสาเหตุหลัก ที่ทำให้คนจีนไม่อยากมีลูก หรือมีแค่คนเดียวก็พอคือ มองว่าภาระค่าใช้จ่ายในการมีลูกค่อนข้างสูง โดยเฉพาะค่าเล่าเรียน เพราะการศึกษาในประเทศจีน ยังเป็นเรื่องที่มีแรงกดดันสูงมาก เมื่อมีลูก ทุกคนก็ต้องอยากให้ลูกมีผลการเรียนที่ดี เพื่อสามารถเข้ามหาวิทยาลัยได้ และมีอาชีพการงานที่ดีในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ เราจึงเห็นจีนจัดระเบียบสถาบันกวดวิชา เมื่อปี 2564 ที่ผ่านมา โดยจีนได้ยกเหตุผล “ต้องการลดภาระของพ่อแม่ในเรื่องค่าเล่าเรียนของลูกหลานในความดูแล” ซึ่งสืบเนื่องจากการจัดระเบียบกวดวิชา ในเวลาไม่ห่างกันมากนัก จีนได้ออกมาตรการ “หมุนเวียนครูที่มีคุณภาพสูงไปยังโรงเรียนต่างๆ เช่นโรงเรียนตามรอบนอกตามต่างจังหวัด” ภายใต้จุดประสงค์ ลดความเหลื่อมล้ำทางคุณภาพการศึกษา พ่อแม่ผู้ปกครองจะได้ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายไปกับการกวดวิชา การหาที่เรียนเสริมให้กับลูกหลาน
เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา ทางกระทรวงศึกษาธิการจีน ยังได้ออกไกด์ไลน์สำหรับโรงเรียนและสถานศึกษาระดับอนุบาลทั่วประเทศจีน ในประเด็น “แบนการสอบสำหรับเด็กระดับอนุบาล” และสนับสนุนให้โรงเรียนจัดกิจกรรมเสริมทักษะสำหรับเด็ก เช่น กิจกรรมนันทนาการ การเล่นเกม เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้ของเด็ก แทนที่จะอัดแน่นด้วยวิชาการ
3. จีนเตรียมปรับสวัสดิการ และสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมสำหรับการมีลูก
อีกหนึ่งเหตุผลที่ทำให้คนจีนไม่อยากมีลูก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ เพราะไม่อยากแบกรับความกดดันที่มองว่า มีมากอยู่แล้ว ให้มีมากไปอีก เราจึงได้เห็นเทรนด์คนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า “ถ่างผิง” หรือการนอนราบ สื่อถึงการอยู่เฉยๆ ไม่อยากมีแรงกดดันใดๆ ทางรัฐบาลจีนได้เห็นถึงข้อนี้ จึงได้มีการวางแผนเพิ่มชั่วโมงในโรงเรียนสำหรับโรงเรียนประถมและมัธยมต้น เพื่อให้นักเรียนอยู่ในความดูแลของครูอาจารย์นานขึ้น ลดภาระของพ่อแม่เด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มพ่อแม่ที่เป็นผู้ใช้แรงงาน
สถานรับเลี้ยง-ดูแลเด็ก กว่า 5 แสนแห่ง ในรูปแบบ “Low cost ราคาประหยัด” ก็จะถูกจัดตั้งขึ้นใน 150 เมือง ซึ่งจะครอบคลุมการรองรับวัยอนุบาลกว่า 90% ภายในปี 2568 ซึ่งจีนได้ตั้งเป้าว่า โรงเรียนเนอร์สเซอรี่สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ขวบ จะเพิ่มอัตราส่วนเป็น 4.5 แห่งต่อเด็ก 1,000 คน จากเดิมอยู่ที่ 1.8 แห่งต่อ 1,000 คน
นอกจากนี้ จีนยังเตรียมออกมาตรการลดค่าใช้จ่ายสำหรับด้านภาษี การประกัน การจ้างงาน ค่าใช้จ่ายการคลอดบุตร การศึกษา การเลี้ยงเด็ก เพิ่มเติมอีก ซึ่งรวมไปถึงการลดค่าปรับสำหรับการละเมิดนโยบายคุมกำเนิด ที่บางเคส ถูกปรับสูงถึง 8 เท่าของรายได้ต่อปีของบุคคลนั้น ซึ่งถือว่าสูงมาก
การขยับของจีนดังที่กล่าวมา เป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ได้เห็นจากครั้งออกนโยบายลูกคนที่สอง ซึ่งสะท้อนโดยเสียงของประชาชนจีน โดยมองว่า ขาดความชัดเจนเรื่องสวัสดิการที่รองรับการมีลูกเพิ่มขึ้น จีนจึงปรับในการออกนโยบายลูกคนที่สามนั่นเอง
4. ไม่ใช่แค่นโยบายจากส่วนกลาง แต่ส่วนท้องถิ่น ยังออกนโยบาย-มาตรการ อย่างเป็นรูปธรรรม
ในหลายรัฐบาลท้องถิ่นระดับเมืองและระดับมณฑลของจีน ยังได้ออกสวัสดิการเป็นเงินอุดหนุนเลี้ยงดูบุตรสำหรับครอบครัวที่มีลูกคนที่สองและคนที่สาม และยังมีการเพิ่มจำนวนวันลาคลอดบุตร อย่างเช่น มณฑลเจ้อเจียง หากคลอดบุตรคนแรก ลาได้ 60 วัน แต่ถ้าคลอดบุตรคนที่สองหรือสาม หยุดได้เพิ่มเติมถึง 90 วัน
5. การร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่สามารถทำได้จริง
ทางการจีนได้มีนโยบายทำงานร่วมกับภาคเอกชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการจ้างงาน เพื่อให้นายจ้างจัดสภาพแวดล้อมสำหรับการมีลูก ไม่ว่าจะเป็นการขยายวันลาคลอด การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกในการดูแลบุตรในสถานที่ทำงาน อันรวมถึงสถานที่สาธารณะด้วย เป็นต้น
กล่าวโดยสรุป สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก วิพากษ์อย่างตรงไปตรงมา จีนเป็นหนึ่งในตัวอย่างของการมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้น และรีบแก้ อย่างชัดเจน ดังที่ได้เห็นในช่องโหว่ของนโยบายลูกคนที่สองที่ขาดความชัดเจนเรื่องสวัสดิการต่างๆ ชาวจีนจึงเซย์ No ไม่อยากมีลูก และมาปรับให้ชัดเจนขึ้นในนโยบายลูกคนที่สาม ความพยายามครั้งใหม่ของแดนมังกร อย่างไรก็ตามต้องดูกันต่อไปว่า จะได้ผลมากน้อยแค่ไหน จะสามารถเปลี่ยนใจชาวจีน "อยากมีลูก" เพิ่มขึ้นอย่างที่ต้องการได้หรือไม่ เพราะถ้าดูจากโพลสำรวจออนไลน์ที่จัดทำโดยสำนักข่าวซินหัว (Xinhua) สำนักข่าวรายใหญ่ของจีน เมื่อกลางปี 2564 บอกเลยว่าน่าห่วง 90% ของผู้ตอบสำรวจ ระบุชัด “ไม่คิดมีลูกตามนโยบายลูกคนที่สาม” มีเพียง 1,443 คน จากคนตอบทั้งหมด 31,000 คน ที่ตอบว่า “พร้อมมีลูกคนที่สาม”
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่