“จีน” ต้องการบอกอะไรกับ “โลก” ผ่านวัน “ตรุษจีน”
เป็นประจำทุกปีที่ “ผู้นำจีน” จะกล่าวสุนทรพจน์อวยพรเนื่องในวัน “ตรุษจีน” ซึ่งในปีนี้ “สี จิ้นผิง” ได้กล่าวคำอวยพรแก่ประชาชนชาวจีน ทั้งในแผ่นดินใหญ่ ฮ่องกง มาเก๊า ไต้หวัน และคนจีนโพ้นทะเลทั่วโลก แต่ถ้าสังเกตให้ดี “คำอวยพร” นี้ ไม่ได้ส่งสารแค่ชาวจีน แต่ส่งถึงคนทั่วโลก
“สี จิ้นผิง” ประธานาธิบดีจีน ออกมากล่าวสุนทรพจน์อวยพรเนื่องในวัน “ตรุษจีน 2565” หรือ วันขึ้นปีใหม่ตามปฏิทินจันทรคติของจีน
“สี จิ้นผิง” กล่าวถึงความสำเร็จของ “จีน” ในรอบ 100 ปี ซึ่งก็คือการครบรอบ 100 ปี พรรคคอมมิวนิสต์จีนที่เพิ่งเฉลิมฉลองไปในปี 2021 และการผ่านมติประวัติศาสตร์บันทึกความสำเร็จในประวัติศาสตร์ศตวรรษแรกของพรรคคอมมิวนิสต์จีน ซึ่งมีการผ่านมติดังกล่าวในการประชุมเต็มคณะครั้งที่ 6 ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนชุดที่ 19 เมื่อพฤศจิกายนปีที่ผ่านมา โดยความสำเร็จที่เขาระบุผ่านสุนทรพจน์ตรุษจีน ณ มหาศาลาประชาคม สามารถสรุปได้ดังนี้
1. ชัยชนะในการต่อสู้กับความยากจน
การขจัดความยากจนเป็นนโยบายสำคัญของจีน โดยเฉพาะในสมัยของประธานาธิบดี สี จิ้นผิง และจีนได้ประกาศความสำเร็จไปเมื่อต้นปี 2021 แม้จีนจะเจอผลกระทบหนักจากโควิด-19 ก็ตาม
ความสำเร็จนี้ จีนยกขึ้นมาเป็นผลงานชิ้นสำคัญที่สามารถอวดโฉมต่อโลกได้อย่างเต็มภาคภูมิ โดยช่วงก่อน ตรุษจีน สำนักงานคณะกรรมการบริหารการฟื้นฟูชนบทแห่งชาติของจีน ได้เผยแพร่ข้อมูลและนำเสนอผ่านสื่อต่างๆ ทั่วโลก ระบุว่า รายได้ค่าจ้างต่อหัวของประชาชนชาวจีนที่ก้าวข้ามความยากจน จากนโยบายขจัดความยากจน อยู่ที่ 8,527 หยวน (ราว 42,635 บาท) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 22.6%
ระบุเพิ่มเติมว่า มีจำนวนประชาชนจีน ซึ่งเป็นผู้ที่หลุดพ้นจากความยากจนเมื่อจบปี 2020 ได้เข้าทำงานในภาคอุตสาหกรรม ตลาดงานของจีนราว 31.45 ล้านคน มากกว่าเป้าหมายประจำปีที่กำหนดไว้ 1.26 ล้านคน
แต่จีนเองก็ทราบว่า ยังคงมีปัญหาความเหลื่อมล้ำอยู่เหมือนกัน แม้จะประกาศชัยชนะต่อความยากจนก็ตาม จีนจึงออกกฎหมายและนโยบายต่างๆ ตามมา เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาส่วนนี้ ภายใต้การจับตามองจากทั่วโลก
2. การพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แม้เจอผลกระทบจากโรคระบาดโควิด-19
“สี จิ้นผิง” เน้นถึงการพัฒนาเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จีนว่า เป็นเบื้องหลังสำคัญที่ทำให้ “จีน” สามารถรักษาตำแหน่งของผู้นำโลกไว้ได้ ทั้งในด้านพัฒนาเศรษฐกิจและการควบคุมโรคระบาด ซึ่งสำหรับด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์จีน อันรวมไปถึงการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ จีนมุ่งเน้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอีก 3 ปี ข้างหน้าก็จะถึงกำหนดเป้าที่จีนได้ตั้งเอาไว้ สำหรับนโยบาย Made in China 2025 “นโยบายเปลี่ยนภาพจีนจากการเป็นผู้รับจ้างผลิตมาเป็นผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรม” ใช้ทั้งในประเทศตนเองและต่างประเทศ การพูดย้ำถึงประเด็นนี้ของ สี จิ้นผิง นับเป็นการตอกย้ำภาพลักษณ์ของจีน ให้เป็นประเทศแห่งการพัฒนานวัตกรรม ที่ สี จิ้นผิง อยากให้ทั่วโลกได้เห็น
การจัดการแข่งขัน มหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ที่กรุงปักกิ่ง เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน กำลังจะเปิดฉากขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ก็เป็นการส่งสารถึงโลกในช่วงเทศกาลตรุษจีนปีนี้ได้เป็นอย่างดี ทั้งในฐานะสร้างประวัติศาสตร์เป็นเมืองโอลิมปิกคู่ เจ้าภาพจัดโอลิมปิกทั้งฤดูร้อนและฤดูหนาวเป็นครั้งแรกของโลก และการทำให้โลกได้เห็นว่า จีนสามารถจัดงานใหญ่ได้ ท่ามกลางปัญหาโควิดและการเมืองระหว่างประเทศ
3. จีนคือผู้นำด้านเทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรมอย่างแท้จริง
ไม่เพียงแต่ในคำสุนทรพจน์ของ สี จิ้นผิง แต่ในช่วงก่อน ตรุษจีน เจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนหลายคน รวมถึงสื่อจีนได้พากันโหมกระหน่ำตีแผ่ความเป็นผู้นำในด้านนี้ของแดนมังกร โดยเฉพาะในงานกาลาฉลองตรุษจีน และการจัดการถ่ายทอดสดกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวปักกิ่ง 2022 ของสถานีวิทยุและโทรทัศน์กลางแห่งประเทศจีน หรือ China Media Group สื่อหลักและสื่อรายใหญ่ที่สุดของจีน ที่มีการโปรโมตอย่างหนักในประเด็นผสานเทคโนโลยีสมัยใหม่ ทั้ง เทคโนโลยีเสมือนจริงหลากหลายมิติ (XR) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) ในการแสดงของงานกาลาตรุษจีน และการถ่ายทอดสดโอลิมปิกฤดูหนาวผ่านระบบความละเอียดสูง 4K และ 8K
โดยในช่วงเวลาก่อนที่โอลิมปิกฤดูหนาวจะเริ่มขึ้น ทาง CMG ได้มีการนำเสนอข่าว Hisense ผู้ผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าและทีวีรายใหญ่ของจีน ประสบความสำเร็จพัฒนาชิปประมวลผลภาพสำหรับทีวี 8K ซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์สำคัญของ CMG ในการถ่ายทอดสดโอลิมปิกฤดูหนาวในระบบ 8K อีกด้วย
งานกาลา และการถ่ายทอดสดโอลิมปิกโดย CMG สื่อหลักของจีน ถือเป็นสื่อกลางในการนำเสนอสารจากจีนไปทั่วโลก ซึ่งในการถ่ายทอดสดงานกาลาตรุษจีน 2022 เป็นการถ่ายทอดผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่ ยังเป็นครั้งแรกที่มีการถ่ายทอดแบบ “แนวตั้ง” หรือ Vertical screen เพื่อให้เหมาะสมกับมือถือและอุปกรณ์เคลื่อนที่โดยเฉพาะอีกด้วย ทำให้มียอดผู้เข้าชมกว่า 200 ล้านคน ส่วนใหญ่กว่า 50% เป็นผู้ที่มีอายุไม่เกิน 30 ก็พอจะตั้งข้อสังเกตถึงความเอาจริงในการปรับตัวเข้ากับสิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะตามความต้องการของตลาดและผู้บริโภค ซึ่งมองข้ามไม่ได้เลยของแดนมังกรจีน
4. การพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อม
ก่อนหน้า “ตรุษจีน” เพียงไม่กี่วัน กระทรวงระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมจีน ได้ประกาศความสำเร็จของรัฐบาลจีนที่บรรลุเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม 8 ด้าน ในปี 2021 โดยหลักๆ อยู่ที่จุดอ่อนของจีน ที่ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนักทั้งจากคนจีนด้วยกันและจากนานาชาติ ซึ่งส่งผลกระทบความเป็นอยู่ของประชาชนและตัวเลขเศรษฐกิจ ได้แก่
- สภาพอากาศ โดยถ้าย้อนกลับไปเมื่อช่วง 10 ปีก่อนหน้านี้ มักจะมีภาพควันพิษปกคลุมเมืองหลวงและหลายเมืองตอนเหนือของจีนออกมาตามหน้าสื่อต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดข้อกังขาว่า จีนพัฒนาประเทศแบบก้าวกระโดด แต่จะไม่พัฒนาด้านอากาศเลยหรือ เพราะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนด้วย ในสมัย สี จิ้นผิง จีนจึงบรรจุประเด็นแก้ปัญหาสภาพอากาศอยู่ในแผนพัฒนาประเทศ และจีนก็ได้เผยตัวเลขความเข้มข้นของPM2.5 อยู่ที่ 30 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลง 9.1% เมื่อเทียบกับปี 2020 เป็นความสำเร็จในการแก้ไขสภาพอากาศของพวกเขา
- การเพิ่มพื้นที่ป่า การรักษาป่าต้นน้ำ ดูแลสภาพน้ำ ดิน และอากาศ รวมถึงการพัฒนาแหล่งพลังงานสะอาด ทดแทนพลังงานเดิม ที่ทำให้จีนปล่อยคาร์บอนมากที่สุดในโลก ก็เป็นสิ่งที่จีนพยายามเป็นอย่างยิ่ง ในแผนพัฒนาประเทศระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ซึ่งจะใช้ระหว่างปี 2021-2025 จีนจึงกำหนดเป้าหมาย ปล่อยคาร์บอนถึงเพดานสูงสุดภายในปี 2030 จากนั้นลดคาร์บอน เข้าสู่คาร์บอนสมดุล ปี 2060
การเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาสภาพแวดล้อม รักษาธรรมชาติ เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่ผู้นำจีน ยกขึ้นมาเทียบกับอเมริกาอยู่บ่อยครั้ง ว่าพวกเขาเอาจริงนะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสิ่งที่จีนทำ ส่งผลดีต่อการแก้ไข ภาวะโลกร้อน
ทั้งนี้ สุนทรพจน์อวยพรปีใหม่ 2022 ของ สี จิ้นผิง นอกเหนือไปจากการสรุปความสำเร็จของจีน ซึ่งอ้ายจงได้นำมาวิเคราะห์และขยายความให้ผู้อ่านได้เห็นภาพเพิ่มเติม ถึงทิศทางที่จีนกำลังโฟกัสและสื่อสารกับโลก ยังมีอีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กัน นั่นคือ สิ่งที่ สี จิ้นผิง ต้องการบอกคนจีนด้วยกันเอง โดยโฟกัสไปที่กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนจีนทั้งในปัจจุบันและอนาคตข้างหน้า โดยเน้นย้ำถึงความสามัคคี และการทำงานอย่างหนัก เพื่อให้ไปถึงเป้าสำเร็จ ท่ามกลางกระแสในกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนไม่น้อย ที่เริ่มต่อต้านการทำงานหนัก และเริ่มปล่อยเกียร์ว่างไปกับแรงกดดันมหาศาลในการแข่งขันทางสังคมทั้งการเรียนการงานในสังคมจีน
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่