"ตรุษจีน 2565" มาทำความรู้จัก 5 วันสำคัญ รับเทศกาล "ปีใหม่จีน"
"ตรุษจีน 2565" หรือ "ปีใหม่จีน" ปีนี้ตรงกับวันที่ 1 กุมภาพันธ์ แต่ทุกคนรู้หรือไม่ว่า "เทศกาลตรุษจีน" ไม่ได้มีแค่วันเดียว มีรายละเอียดปลีกย่อยในทุกๆ วัน กินระยะเวลาประมาณหนึ่งเดือน ช่วงครึ่งเดือนหลังของเดือน12 และครึ่งเดือนแรกของวันตรุษจีน ตามปฏิทินจันทรคติจีน
"ตรุษจีน 2565" หรือ "ปีใหม่จีน" นี้ "อ้ายจง" ขอบอกเล่าเฉพาะ 5 วันสำคัญ ตั้งแต่ "วันตรุษจีนเล็ก" ไปจนถึง "วันตรุษจีน" ว่าแต่ละวัน คนจีนทำอะไรกันบ้าง เพราะถ้าเล่าให้ครบทุกวันที่รวมแล้วราวหนึ่งเดือนดั่งที่บอกไปข้างต้น บทความนี้คงไม่พอแน่ๆ ซึ่ง 5 วันสำคัญ ช่วง "เทศกาลตรุษจีน" มีดังนี้
1. วันตรุษจีนเล็ก (小年 เสี่ยวเหนียน)
ตรงกับวันที่ 23 หรือ 24 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของจีน โดยจีนตอนเหนือจะถือว่า ตรงกับวันที่ 23 ขณะที่จีนทางใต้จะยึดวันที่ 24 เป็นวันตรุษจีนเล็ก โดยปีนี้ 2022 ตรงกับวันที่ 25 และ 26 มกราคม ตามลำดับ
วันตรุษจีนเล็ก ตามความเชื่อของคนจีนตั้งแต่สมัยโบราณ เป็นวันที่ "เทพเจ้าแห่งเตา" ซึ่งทำหน้าที่พิทักษ์เตาไฟในครัวและดูแลทุกคนในครอบครัว จะกลับสวรรค์ไปรายงานเรื่องราวของแต่ละครัวเรือนให้เง็กเซียนฮ่องเต้ (เง็กเซียนฮ่องเต้ เป็นเทพเจ้าสูงสุดตามความเชื่อของคนจีนที่มีมาตั้งแต่โบราณ) โดยความเชื่อเรื่องเทพเจ้าแห่งเตา ยังสามารถสะท้อนถึงวิถีชีวิตคนจีนในสมัยก่อน ที่เกี่ยวข้องกับเตาไฟ ทำข้าวปลาอาหารกินที่บ้านพร้อมหน้าพร้อมตา ดังนั้น คนจีนจึงบูชา "เทพเจ้าแห่งเตา" มีนัยว่าขอให้เทพเจ้าแห่งเตารายงานแต่สิ่งดีดีให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทราบ
กิจกรรมหลักๆ ในวันตรุษจีนเล็กที่ชาวจีนนิยมทำมาตั้งแต่โบราณคือ ทำความสะอาดบ้านเรือน และทำอาหารอร่อยๆ กินกันพร้อมหน้าพร้อมตา แต่ในปัจจุบันชาวจีนสมัยใหม่จำนวนไม่น้อยเริ่มไม่ฉลองวันนี้ อาจจะมีเพียงนัดกินข้าวเย็น อาทิ หม้อไฟ ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมเพื่อคลายความหนาว เพราะช่วงตรุษจีนในหลายพื้นที่ยังคงมีอากาศหนาวเย็น โดยเฉพาะจีนตอนเหนือ
2. วันเง็กเซียนฮ่องเต้ ตัดสินชะตามนุษย์
หลังจากที่ "เทพเจ้าแห่งเตา" กลับสวรรค์ไปรายงานเรื่องราวของมนุษย์โลกให้เง็กเซียนฮ่องเต้ทราบ ในวันที่ 23 หรือ 24 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน แล้วแต่ว่าเป็นจีนทางเหนือหรือจีนทางใต้ พอถึงวันที่ 25 เดือน 12 ก็จะเป็นวันที่เง็กเซียนฮ่องเต้ตัดสินว่า ใครจะได้รับรางวัล และรับพรจากสวรรค์บ้าง
ครอบครัวจีนสมัยโบราณนิยมบูชาและขอพรจากเง็กเซียนด้วยอาหารที่ทำจาก “เต้าหู้” ซึ่งแต่ละพื้นที่จะทำอาหารหลักในการบูชาแตกต่างกันออกไป อาทิ คนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรือตงเป่ย นิยมทำ เหนียนโต้วเปา (粘豆包) ซาลาเปาไส้ถั่วแดง โดยถือเป็นอาหารหลักในวันตรุษจีนของคนในพื้นที่นั้นอีกด้วย
3. วันกินเนื้อแห่งปี (年肉)
ตรงกับวันที่ 26 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน วันกินเนื้อแห่งปี สะท้อนภาพวิถีชีวิตของคนจีนโบราณได้อย่างดี โดยสมัยก่อน "จีน" เป็นสังคมการเกษตร ทำไร่ทำนา อาหารที่แต่ละบ้านทำกินกัน ไม่ค่อยมีเนื้อสัตว์มากนัก ยกเว้นในช่วง "เทศกาลตรุษจีน" คนจีนโบราณเลยถือโอกาสให้ช่วงโค้งสุดท้ายก่อนเข้าสู่ปีใหม่ เป็นโอกาสอันดีในการกินอาหารดีดี อุดมด้วยเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเนื้อหมู หรือเนื้อวัว โดยครอบครัวไหนที่เลี้ยงสัตว์เป็นของตัวเอง เช่น เลี้ยงหมู ก็จะนำมาทำอาหารกินกัน หากครอบครัวไหนไม่ได้เลี้ยง ก็ไปซื้อเนื้อหมูที่ตลาด เพื่อมาทำกับข้าวกินเนื้อฉลองข้ามปี
4. วันสิ้นปี
วันสิ้นปี ตรงกับวันที่ 31 เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน หรือก่อนวันตรุษจีน 1 วัน
วันสิ้นปี (除夕ฉูซี) ที่คนไทยเรียกว่า วันไหว้ เป็นวันที่ยังคงมีความสำคัญอย่างมากในสังคมจีนปัจจุบัน แต่กิจกรรมหลายอย่างไม่เหมือนคนไทยเชื้อสายจีนทำเสียทีเดียว อาทิเช่น
- คนจีนจะตกแต่งบ้านด้วย 春联 (ชุนเหลียน) กระดาษสีแดงที่เขียนเป็นโคลงกลอน หรือคำอวยพรวันตรุษจีน โดยจะมีเป็นคู่ ติดทางด้านซ้ายและขวาของประตู โดยตรงกลางของประตูจะติดตัวอักษร 福 (ฝู) ที่แปลว่าความโชคดีมีสุขแต่ถ้าเราสังเกตให้ดี คนจีนมักจะติดตัวอักษร 福 แบบกลับหัว โดยสาเหตุที่ติดอักษรมงคล 福 แบบกลับหัว เพราะว่า เป็นการเล่นคำ 倒 (อ่านว่า ต้าว) ที่มีความหมายว่ากลับหัว กลับด้าน กับ 到 ที่อ่านว่าต้าวเหมือนกัน แต่แปลว่า มาถึง ทำให้การแปะอักษร 福 แบบนี้ จึงมีความหมายว่า 福到了! ความโชคดีมีสุขมาเยือนเราแล้วนั่นเอง นอกจากนี้ คนจีนยังนิยมติด 窗花 (ฉวงฮวา) กระดาษแผ่นเดียวที่นำมาตัดเป็นรูปต่างๆ เช่น รูปไก่, รูปตัวอักษร 福 โดยจะติดไว้ที่หน้าต่าง แขวนโคมไฟ (挂灯笼) เป็นโคมสีแดง แขวนไว้ที่หน้าบ้าน โดยมักจะมีอักษรมงคลบนตัวโคม หลายบ้านจะเริ่มตกแต่งตั้งแต่วัน 小除夕 (วันก่อนวันสิ้นปี ตรงกับ 29 เดือน12 ตามปฏิทินจันทรคติจีน)
- ไหว้บรรพบุรุษ / ไหว้เจ้า มีทั้งไหว้ที่บ้านและที่ศาลเจ้า หรือบางครอบครัวอาจจะไหว้ก่อนหน้าวันสิ้นปีแล้ว ซึ่งในจีนไม่ได้ไหว้บรรพบุรุษเฉพาะวันชิงหมิง หรือเชงเม้ง เท่านั้น
- จุดประทัด ตามความเชื่อของคนจีนที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยโบราณ จะจุดประทัดเพื่อขับไล่สิ่งไม่ดีออกไป แต่ในช่วงที่หลายเมืองทางเหนือของจีนเจอปัญหาหมอกควัน ดังนั้น รัฐบาลท้องถิ่นของแต่ละเมือง (เช่น กรุงปักกิ่ง) จะมีการคุมเข้มเรื่องการจุดประทัดเพื่อไม่ให้เกิดหมอกควันมากขึ้น
- กินข้าวร่วมกันในคืนสิ้นปี (吃年夜饭) เทศกาลตรุษจีนหรือปีใหม่ของจีน จะเป็นช่วงที่ทุกคนในครอบครัว ไม่ว่าจะครอบครัวเล็กหรือครอบครัวใหญ่ จะกลับมารวมตัวกัน โดยอาหารจานหลักของวันนี้จะเป็น "เกี๊ยว" ที่มีความหมายแฝงว่า การรวมตัวกันสัมพันธ์กันแน่นแฟ้น
- แจกหงเปา (红包) ให้กับเด็ก ลูกหลานในบ้าน โดยมักจะให้หลังจากกินข้าวคืนสิ้นปีเรียบร้อยแล้ว
- นั่งดูรายการพิเศษ งานฉลองตรุษจีน 春节联欢晚会 ของช่อง CCTV ที่มีเป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 1983 ถือเป็นงานกาล่าตรุษจีนประจำชาติจีนก็ว่าได้
- 守岁 (โส่วซุ่ย) เฝ้ารอข้ามปี หรือ Countdown โดยคนในครอบครัวจะทำกิจกรรมร่วมกันเพื่อส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ จะไม่ยอมหลับข้ามปี หลายบ้านจะจุดพลุจุดประทัดฉลองปีใหม่จีนกันทั้งคืน จนถึงเช้าก็มี
- ในคืนวันสิ้นปี ที่จีนบางบ้านก็จะมีไหว้ เทพเจ้าไฉ่ซิงเอี๊ย (财神)เทพเจ้าแห่งโชคลาภ เหมือนที่ไทย
5. เข้าสู่วันตรุษจีน(春节 ชุนเจี๋ย)
เข้าสู่ วันตรุษจีน (春节 ชุนเจี๋ย) หรือ 初一 (ชูอี) ในภาษาแต้จิ๋วที่เราคุ้นเคย ซึ่งคนไทยเชื้อสายจีนเรียก ชิวอิก หรือ วันเที่ยว ตรงกับวันที่ 1 เดือน 1 วันแรกเดือนแรกของปฏิทินจันทรคติจีน
ตามประเพณีจีนที่ยังคงยึดถือในสมัยนี้คือ เป็นวันพักผ่อน โดยทางจีนให้เป็นวันหยุด Golden Week 7 วัน ซึ่งเป็น Golden Week แรกของปี หลังจากนั้นจะมี Golden Week อีกครั้งในวันชาติจีน 1 ตุลาคม ของทุกปี
วันตรุษจีน ถือเป็นวันเดินทางเยี่ยมญาติ เพื่อ 拜年 (ไป้เหนียน) อวยพรปีใหม่แก่กัน รวมถึงมีกิจกรรมอื่นๆ ที่คล้ายคลึงกับไทย เช่น การจุดประทัด (จุดกันหนักมากตั้งแต่วันสิ้นปี) โดยการจุดประทัดในวันตรุษจีนของคนจีน มีความหมายว่า ขอความสุขสงบโชคดีตลอดไป และให้ชีวิตมีความสุขคึกคักเหมือนเสียงประทัด อันนี้อ้ายจงว่าดูขัดแย้งเหมือนกัน ระหว่างสุขสงบ กับเสียงประทัด และขนมอีกอย่างที่ขาดไม่ได้ในวันตรุษจีนทั้งที่จีนแผ่นดินใหญ่ และในกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนที่ไทยคือ การกินขนมเหนียนเกา (年糕) หรือขนมเข่ง โดยมีนัยแฝงว่า "เจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทุกๆ ปี" ตามการพ้องเสียงของชื่อ เหนียนเกา กับคำว่า 年高 (มาจาก 年年高高 ดีขึ้นทุกปี)
新正如意 新年发财
ซินเจิงหรูอี้ ซินเหนียนฟาไฉ
สุขสมหวังร่ำรวยเงินทอง
ในวัน "ตรุษจีน 2565" ที่กำลังจะถึงนี้ทุกคน
สำหรับคำกล่าวอวยพรข้างบน เป็นภาษาจีนกลางของประโยค "ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ฮวดไช้" ที่เราคุ้นหูกันดีในไทยครับ
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่