ประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศและผลกระทบต่อตลาดหุ้นในรอบ 20 ปี
ยังคงกดดันตลาดการเงินต่อเนื่องสำหรับสถานการณ์ความตึงเครียดระหว่างรัสเซียกับยูเครน และกลุ่มประเทศตะวันตกที่พยายามใช้นโยบายทางการฑูตต่างๆ ในการหยุดยั้งรัสเซียจากการบุกยูเครน ซึ่งตลาดหุ้นก็จะขึ้นลงตามข่าวที่ออกมา โดยหากข่าวการบุกมีความเป็นไปได้มากขึ้น
ตลาดหุ้นก็จะมีแรงเทขายออกมา และ Sentiment เชิงลบก็ส่งผลกระทบมายังดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยด้วยในขณะที่ทองคำและพันธบัตรรัฐบาลของกลุ่มประเทศหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ จะได้ประโยชน์จากความกังวลดังกล่าวในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) หรือตลาดก็จะกลับกันหากโอกาสในการบุกยูเครนลดลง
ในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกและตลาดการเงินเผชิญกับความเสี่ยงในลักษณะนี้ที่เรามักจะนิยามว่าเป็น “Event Risk” หรือ “Geopolitical Risk” กันมาหลายครั้งแล้ว เช่น เหตุการณ์ 9/11 เหตุการณ์การบุกอิรักของสหรัฐฯ ในปี 2003 (Iraq War) เหตุการณ์อาหรับสปริง (Arab Spring) กับคลื่นประท้วงของประชาชนในหลายประเทศในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือเพื่อต่อต้านรัฐบาลในปี 2011 เหตุการณ์การปฏิวัติยูเครนและการผนวกไครเมียโดยรัสเซียในปี 2014
รวมถึงเหตุการณ์การแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป หรือ ที่เราเรียกกันว่า “Brexit” ในปี 2016 ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ก็ส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นในฐานะสินทรัพย์เสี่ยงโดยตรง ก่อให้เกิดแรงเทขายที่เราเรียกกันว่า “Selloff” เพื่อลดความเสี่ยงลงจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้เหล่านี้ โดยตารางด้านล่างสะท้อนให้เหตุถึงแรงขายของดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ และดัชนี SET ของไทยในช่วงเวลานั้นๆ เพื่อสะท้อนผลกระทบของดัชนีตลาดหุ้นต่อเหตุการณ์ต่างๆ
จากข้อมูลในอดีตสะท้อนให้เห็นว่าเหตุการณ์ Event Risk ต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะส่งกระทบต่อภาพรวมของตลาดการเงินในระยะสั้น ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยเองแทบจะไม่ได้รับผลกระทบจากประเด็นต่างๆ เลย อาจมียกเว้นเหตุการณ์ 9/11 ที่ตลาดปรับฐานค่อนข้างมากหลังเกิดเหตุการณ์ แต่ก็เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวในเกณฑ์ต่ำด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา หรือหากเรายกเหตุการณ์ใกล้เคียงที่สุดกับปัจจุบันคือประเด็นในปี 2014 ที่เกิดวิกฤติทางการเมืองในยูเครน จากการที่ผู้นำในขณะนั้นมีนโยบายที่เอนเอียงไปทางฝ่ายรัสเซีย
ทำให้เกิดการประท้วงจากฝ่ายนิยมยุโรป จนสถานการณ์ในประเทศลุกลามบานปลายเป็นเกิดการใช้ความรุนแรง จนในที่สุดอำนาจรัฐก็ตกอยู่ในมือของฝ่ายต่อต้านรัสเซีย สร้างความแตกแยกในประเทศและความไม่แน่นอนให้กับพื้นที่ที่ผู้อยู่ศัยมีเชื้อสายชาวรัสเซียอาศัยเป็นหลัก เช่น สาธารณรัฐปกครองตนเองไครเมีย จนนำไปสู่การนำดินแดนนี้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของรัสเซีย และอาจเป็นส่วนหนึ่งของความขัดแย้งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ในช่วงเวลาดังกล่าวตลาดการเงินเองก็ปรับตัวลดลงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ซึ่งจากพิจารณาเหตุผล ก็นับว่าไม่ใช่เรื่องแปลก เนื่องจากเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ส่วนใหญ่จะส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นโยบายการเงินค่อนข้างน้อย โดยอาจส่งผลให้เกิดความกังวลกับนักลงทุนบ้างในระยะสั้นแต่สุดท้ายตลาดการเงินก็จะถูกขับเคลื่อนด้วยปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจเป็นหลัก อย่างไรก็ตามเหตุการณ์จะลุกลามก่อให้เกิดแรงขายมากขนาดไหนก็อาจจะต้องพิจารณาปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ควบคู่กันไปด้วย ช่องทางในการส่งผ่านเหตุการณ์เหล่านี้ไปยังกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ นโยบายการเงิน ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนต่างๆ ก็จะไม่เหมือนกันในแต่ละครั้ง ทำให้อาจจะต้องพิจารณาเป็นครั้งๆ ไป
ในกรณีปัจจุบัน สิ่งที่ต้องจับตาสำหรับต่อไป ได้แก่ (1) เรื่องของข้อขัดแย้งที่อาจบานปลายขึ้น และก่อให้เกิดแรงกดดันต่อราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ส่งผลให้การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้นไปอีกจากระดับปัจจุบัน (2) แรงกดดันต่อราคาอาหารเนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกธัญพืชและข้าวสาลีหลักของโลก (3) การแทรงแซงจากนานาประเทศและการทำ Sanction ที่อาจส่งผลต่อบริษัทจดทะเบียนที่มีแหล่งรายได้หรือความเกี่ยวข้องกับสองประเทศนี้โดยตรง
การลดสินทรัพย์เสี่ยงในภาวะที่ความไม่แน่นอนสูงนับเป็นเรื่องปรกติ โดยความไม่แน่นอนต่างๆ เหล่านั้นก็อาจะเกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นจากปัจจัยพื้นฐาน นโยบายการเงิน เศรษฐกิจ รวมถึงประเด็นที่ไม่คาดคิดต่างๆ เหล่านี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนจำเป็นจะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและจับตาดูอย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินผลกระทบต่อเนื่อง
สุดท้ายนี้ ประเด็นระหว่างรัสเซียและยูเครนจะจบลงในลักษณะใดก็อาจจะยังเร็วเกินไปที่จะสรุป เนื่องจากเป็นเรื่องทางการเมืองที่เกิดจากการตัดสินใจของกลุ่มคนเป็นหลัก แม้ข้อมูลในอดีตจะสะท้อนว่าประเด็น Geopolitical Risk ตลาดหุ้นมักจะตอบรับข่าวในระยะสั้น และไม่ได้เกิดแรงเทขายอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน สุดท้ายก็ฟื้นตัวกลับคืนมาในระยะเวลาไม่นานสะท้อนปัจจัยพื้นฐาน แต่สิ่งที่อาจจะกระตุ้นให้เราต้องติดตามและให้น้ำหนักกับประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิดในปัจจุบัน คือ เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในภาวะที่ความไม่แน่นอนด้านอื่นสูงอยู่แล้วเป็นทุนเดิม โดยเฉพาะเรื่องของแรงกดดันเงินเฟ้อและความไม่แน่นอนของนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะส่งผลกระทบในวงกว้าง และทำให้ตลาดการเงินผันผวน ซึ่งยังน่าจะเป็นธีมสำคัญสำหรับการลงทุนในปีนี้ครับ
หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด