อสังหาฯ และการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับ Climate Crisis
วิกฤติด้านสิ่งแวดล้อมทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ทุกภาคส่วนทั่วโลกหันมาประกาศจุดยืนรักษ์โลก ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ของไทยเราก็ได้มีการปรับตัว ปรกาศจุดยืน Net Zero โดยปรับนโยบายขององค์กร ปรับเปลี่ยนวิธีการดำเนินงานต่างๆ เพื่อช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต
วิกฤตการณ์สิ่งแวดล้อมที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน จนเมื่อปีที่ผ่านมา The Guardian สื่อของอังกฤษ ได้เปลี่ยนคำว่า Climate Change เป็น Climate Crisis ที่สะท้อนถึงหายนะด้านสิ่งแวดล้อมของโลกที่กำลังทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งแผ่นดินไหว สึนามิ พายุหิมะ ไฟป่า นอกจากนี้จากการประชุม COP26 เมื่อปลายปีที่ผ่านมาที่ตั้งเป้ามีส่วนร่วมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก็สะท้อนถึงถึงการตื่นตัวของนานาประเทศ
สำหรับในประเทศไทยที่คนเมืองได้รับผลกระทบกระทบเป็นวงกว้างและยังเผชิญอยู่คือเรื่องปัญหา PM2.5 รวมถึงหลายพื้นที่ก็มีเหตุการณ์น้ำท่วม ภัยแล้ง พายุหลงฤดูกาล ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ทำให้สังคมหันมาตระหนักถึงปัญหามากขึ้น ส่งผลให้เทรนด์เรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อมขยายตัวในวงกว้าง ทั้งในส่วนของผู้บริโภคทั่วไปรวมถึงในภาคธุรกิจที่หลายบริษัทก็ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นนี้ด้วยเช่นกัน แม้ว่าจะเป็นเรื่องท้าทาย เพราะเป็นประเด็นใหญ่ที่ต้องการความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐในการออกนโยบายควบคุมผลักดัน ภาคธุรกิจในการปรับเปลี่ยนกระบวนการดำเนินการ และภาคประชาชนทุกคนในการปรับเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิต
สำหรับภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทย บริษัทแรกที่ปีนี้เราได้เห็นข่าวการประกาศนโยบายองค์กรเพื่อตอบรับเรื่องนี้จริงจังก็คือ แสนสิริ ที่ประกาศจุดยืน Net Zero และตั้งเป้าเป็นองค์กรที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และมุ่งใช้พลังงานสะอาด 100% ในอนาคต ซึ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์นั้น นอกจากเรื่องการพัฒนาโครงการแล้ว การบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัยหลังการขาย ก็สามารถมีส่วนร่วมในการผลักดันเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
ยกตัวอย่าง พลัส พร็อพเพอร์ตี้ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญธุรกิจบริหารจัดการโครงการที่พักอาศัยที่ดูแลลูกบ้านมากกว่า 80,000 ครัวเรือน ก็ได้เตรียมพร้อมยกระดับมาตรฐานการการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น
- การเพิ่มพื้นที่สีเขียว อย่างโครงการ Backyard สวนผักผลไม้ปลอดสารพิษในโครงการคอนโดและหมู่บ้าน หรือการปลูกต้นไม้ การดูแลสวนในโครงการให้เขียวขจีมีร่มไม้อยู่เสมอ เพื่อช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเป็นร่มเงาช่วยลดความร้อนภายในโครงการ Waste Management การจัดการของเสียภายในโครงการ คัดแยก และรีไซเคิลขยะ ซึ่งในปัจจุบันเทรนด์การสั่งของออนไลน์เพิ่มสูงมากขึ้น ก็ส่งผลให้ขยะจากการส่งพัสดุต่างๆ เพิ่มขึ้นทวีคูณ รวมทั้งเพิ่มการจัดการขยะติดเชื้อที่มีเพิ่มขึ้น เช่น หน้ากากอนามัย และนอกจากการจัดการขยะจากส่วนกลาง พลัสฯ ยังมีการรณรงค์ไปยังลูกบ้าน เพื่อให้เกิดความร่วมมือในการคัดแยกขยะจากที่พัก โดยมีทั้งจัดเป็นกิจกรรม และการประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง มีการอำนวยความสะดวกในเรื่องจุดคัดแยกให้ชัดเจน ทั้งหมดก็เพื่อให้การบริหารจัดการขยะทำได้เต็มประสิทธิภาพ ลดจำนวนขยะที่ส่งไปที่แลนด์ฟิลด์
- การลดการใช้พลังงานที่ไม่จำเป็น อย่างการใช้หลอดประหยัดไฟในพื้นที่ส่วนกลาง เพื่อให้การใช้ไฟเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด การปิดไฟ ปิดน้ำ หลังใช้งานทุกครั้ง การตรวจสอบระบบไฟและระบบน้ำให้ใช้การได้ดีไม่มีปัญหาการรั่วซึมหรือเสื่อมสภาพ ลดการสิ้นเปลืองพลังงานโดยไม่จำเป็น
- การดูแลบำบัดน้ำเสียจากโครงการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เครื่องมือในการควบคุม ดักจับก๊าซ การมีตัวกรอง เครื่องทำการตกตะกอน ถังทำใส รวมถึงการบำบัดแบบชีวภาพและเคมีเพื่อจำกัดหรือลดระดับการปล่อยก๊าซเสียหรือของเสีย
โดยทั้งหมดที่นี้ ก็เป็นแนวทางปฏิบัติที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวันของเราทุกคน ดังนั้นนอกจากการบริหารจัดการของทีมนิติบุคคลในโครงการที่พักอาศัย หากทุกคนร่วมกัน ปรับ เปลี่ยน ลด ละ เลิกการบริโภคที่เกินความจำเป็น ก็สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วย ลดการใช้พลังงานมากเกินไป ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ ต่อให้วันนี้หลายคนอาจยังไม่พร้อมเปลี่ยนแปลง แต่ภัยพิบัติธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่องและส่งผลกระทบต่อทุกคน ก็จะเป็นตัวผลักดันให้ทุกคนต้องเปลี่ยนอยู่ดี ไม่ช้าก็เร็วครับ