"จีน" อยู่จุดไหน? ในความขัดแย้ง "รัสเซีย-ยูเครน"
ทำไมเรื่องราว "รัสเซีย-ยูเครน" จึงเกี่ยวข้องกับ "จีน" ? เชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงจะมีข้อสงสัยอยู่บ้างในเรื่องนี้ อ้ายจงจึงขอมาสรุปความเกี่ยวข้องของจีน และจุดยืนของพวกเขาแบบตรงประเด็นให้ได้เข้าใจกัน
ความตึงเครียดระหว่าง “รัสเซีย-ยูเครน” เป็นประเด็นระหว่างประเทศที่คนไทยและทั่วโลกต่างให้ความสนใจ ซึ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ที่ผ่านมา เมื่อประธานาธิบดีปูตินของรัสเซีย สั่งปฏิบัติการทางการทหารโจมตียูเครนอย่างเป็นทางการ ด้วยเหตุผลที่ทางรัสเซียชี้แจงออกมาคือ สหรัฐอเมริกาและนาโต้ (NATO) ละเมิดคำมั่นสัญญาเรื่องยูเครน และไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงกรุงมินสก์ ความตกลงระหว่างรัสเซียและยูเครน ฉบับใหม่ ซึ่งลงนามในปี 2015 รวมไปถึงการละเมิดมติ 2202 ของคณะความมั่นคงสหประชาชาติ ทางรัสเซียจึงจำเป็นต้องปกป้องสิทธิของตน เหตุผลนี้เป็นสิ่งที่รัฐมนตรีลาฟรอฟ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย กล่าวผ่านการสนทนาทางโทรศัพท์กับ หวัง อี้ มนตรีแห่งรัฐและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีน
ทำไมเรื่องราว “รัสเซีย-ยูเครน” จึงเกี่ยวข้องกับจีน?
อ้ายจงเชื่อว่าผู้อ่านหลายคนคงจะมีข้อสงสัยเช่นนี้ เพราะถ้าดูจากข่าวต่างประเทศจะมีชื่อ “จีน” อยู่ในข่าวประเด็นนี้ด้วย ซึ่งเราได้เห็นคำค้นหาและแฮชแท็กที่เกี่ยวข้องกับประเด็นรัสเซีย-ยูเครน และจีน ติดเทรนด์บน Weibo โซเชียลยอดนิยมในจีนตั้งแต่ 24 กุมภาพันธ์ วันที่รัสเซียโจมตี
ยกตัวอย่างคำค้นที่ติดเทรนด์ใน Weibo เกี่ยวกับประเด็นนี้ เช่น คำว่า “关注俄乌局势最新进展 ติดตามสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครนล่าสุด” จนมาถึง ณ ขณะนี้ คำค้นหาเปลี่ยนไปในแนวเกี่ยวกับ คนจีนและนักศึกษาจีนในยูเครน อย่างการที่สถานทูตจีนประจำยูเครนประกาศเบอร์ฉุกเฉินและข้อปฏิบัติตนถึงพลเมืองจีนในยูเครนภายใต้สถานการณ์รุนแรงในยูเครน
สรุปความเกี่ยวข้องของ “จีน” และจุดยืนของพวกเขาในประเด็น “รัสเซีย-ยูเครน”
1. จีนโดนจับตามองว่า ให้การสนับสนุนรัสเซียในการใช้ไม้แข็งต่อยูเครน
โดยเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ วันเดียวกับที่ “รัสเซีย” โจมตี “ยูเครน” ฮว่า ชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน ตอบคำถามสื่อมวลชนในการแถลงข่าว เมื่อโดนถามถึงประเด็นดังกล่าวและจากการที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐอเมริกา ระบุ “จีนมีแนวโน้มในการอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจของรัสเซีย ดังนั้น จึงขอเรียกร้องให้จีนเคารพหลักอธิปไตยของประเทศต่างๆ”
ถ้ามองตามเนื้อผ้า “จีน” กับ “รัสเซีย” มีความใกล้ชิดกันมากขึ้นจริงๆ โดยเฉพาะในช่วงสองสามปีมานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเกิดโควิด-19 เนื่องจากมีพรมแดนติดกัน โดยในปีนี้ 2022 ก็มีหลายโปรเจคที่จีนมีความร่วมมือกับรัสเซียอย่างใกล้ชิด อาทิ ปีแห่งการส่งเสริมกีฬาและนันทนาการ เพื่อสร้างเสริมสุขภาพของประชาชนจีน-รัสเซีย
2. จีนและรัสเซีย ต่างมีประเด็นข้อขัดแย้งกับสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรตะวันตก
ข้อนี้ถือเป็นพื้นฐานเลยก็ว่าได้ ที่ทำให้ทุกฝ่ายมองว่า “จีน” เกี่ยวข้องกับประเด็น “รัสเซีย-ยูเครน” โดยเป็นที่ทราบกันดีถึงท่าทีของทั้งสองประเทศว่า จับมือกันคานอำนาจอเมริกาและชาติพันธมิตรตะวันตก โดย สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน เคยกล่าวยกย่องประธานาธิบดีปูตินว่า “เพื่อนที่ดีที่สุด” โดยถ้ามองจากคำกล่าวของโฆษกกระทรวงต่างประเทศของอเมริกา ที่ผู้เขียนได้เล่าไปข้างต้น ก็คงพอเห็นภาพได้ว่า อเมริกาพุ่งเป้ามาที่จีนจริงๆ
บทความที่เกี่ยวข้อง
3. จีนแสดงจุดยืน “ไม่แทรกแซงกิจการภายในของดินแดนอื่น” และปัญหาขัดแย้งควรจบที่การทูต-การเจรจา
ทั้งการตอบคำถามสื่อของ ฮว่า ชุนอิ๋ง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีน และ หวัง อี้ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศจีน ต่างย้ำชัดตรงกันว่า จีน เคารพในอธิปไตยของทุกประเทศทุกดินแดนทั่วโลก และมองว่าการแก้ไขปัญหาข้อขัดแย้งไม่ควรเกิดจากการเข้าไปทำลายความมั่นคงของอีกชาติหนึ่ง แต่ควรเกิดขึ้นจากการเจรจา ซึ่งการทำลายความมั่นคงหมายรวมถึงการคว่ำบาตร เราจึงได้เห็นจีนคัดค้านการคว่ำบาตรมาโดยตลอด แต่ก็มีบางครั้งที่จีนเองก็โต้ตอบการคว่ำบาตรด้วยวิธีการเดียวกัน เช่น เมื่อโดนอเมริกาคว่ำบาตร จีนก็คว่ำบาตรบริษัทและองค์กรอเมริกันด้วยเช่นกัน โดยในกรณีนี้จีนระบุว่าเป็นการโต้ตอบ แต่จีนจะไม่ทำใครก่อน
สำหรับกรณี ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวัน ที่เริ่มมีคนหยิบยกมาพูดแล้วเหมือนกันว่า ขัดกับจุดยืนของจีนในการบอกว่าตนเองเคารพอธิปไตยของทุกชาติ ตรงนี้สามารถอธิบายได้อย่างรวบรัดว่า “จีนเองก็ย้ำชัดจุดยืนมาโดยตลอดว่า ฮ่องกง มาเก๊า และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไต้หวัน เป็นดินแดนของจีน โดยหยิบยกมติของสหประชาชาติที่ยอมรับความเป็นจีนเดียวในสหประชาติคือ สาธารณรัฐประชาชนจีน” จากตรงนี้จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ หากเราเห็นทุกครั้งที่เจ้าหน้าที่ทางการต่างประเทศและทางการทูตของจีน จะเอ่ยถึงการเคารพและปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามกฎบัตรคณะมนตรีความมั่นคง และมติสหประชาชาติ
อ้ายจงมองว่า คงต้องจับตาดูกันอย่างใกล้ชิด สำหรับกรณี “รัสเซีย-ยูเครน” และการขยับตัวของชาติมหาอำนาจอื่นๆ โดยเฉพาะจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเราไม่อาจระบุอนาคตได้แน่ชัดว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง อย่างไรก็ตามมีสิ่งหนึ่งที่ชัดเจน
สงครามล้วนแต่เกิดการสูญเสียกับทุกฝ่าย
ผู้เขียน: ภากร กัทชลี (อ้ายจง) อาจารย์ประจำภาควิชาการตลาด คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่