วิกฤติยูเครน-รัสเซียกับเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร

วิกฤติยูเครน-รัสเซียกับเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร

การเข้าโจมตีประเทศยูเครนโดยรัสเซีย ได้ยกระดับความขัดแย้งระหว่างยูเครนกับรัสเซีย ไปสู่สถานการณ์สงครามที่มีแนวโน้มจะยืดเยื้อและส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อความปลอดภัยของประเทศในกลุ่มนาโตและต่อเศรษฐกิจโลก

ทำให้ปีนี้เศรษฐกิจโลกจะถูกกระทบจากสามวิกฤติพร้อมกัน คือ วิกฤติโรคระบาด วิกฤติเงินเฟ้อ และวิกฤติยูเครน-รัสเซีย นี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้

การเข้าโจมตีและส่งกำลังเข้ายึดพื้นที่ในประเทศยูเครนโดยรัสเซียตั้งแต่วันพฤหัสบดีที่ผ่านมาไม่ได้อยู่เหนือความคาดหมาย ถ้าพิจารณาจากสิ่งที่รัสเซียเคยปฏิบัติกับประเทศที่อยู่ในสหภาพโซเวียตมาก่อนเพื่อเข้าแทรกแซงทางการเมืองและหรือเพื่อผนวกดินแดง เช่นกรณีจอร์เจียปี 2008 และไครเมียปี 2014 

แต่สถานการณ์คราวนี้แตกต่างจากสองเหตุการณ์ก่อนทั้งในแง่ความมุ่งมั่นของรัสเซียที่จะเข้าดำเนินการในยูเครน และความเป็นหนึ่งเดียวกันของสหรัฐอเมริกาและกลุ่มประเทศนาโตที่จะช่วยเหลือยูเครนและตอบโต้การแผ่อิทธิพลของรัสเซียในยุโรปตะวันออก ทำให้สถานการณ์สู้รบในยูเครนจะยืดเยื้อและส่งผลต่อเศรษฐกิจโลกในวงกว้าง พิจารณาจาก

หนึ่ง การส่งกองกำลังเข้าโจมตีประเทศยูเครนคราวนี้เกิดขึ้นท่ามกลางการเสนอข่าวต่อเนื่องในสื่อทั่วโลกเกี่ยวกับการเคลื่อนกำลังของรัสเซียเข้าประชิดชายแดนยูเครน และคำเตือนจากสหรัฐและกลุ่มประเทศนาโตถึงผลที่จะเกิดขึ้นต่อรัสเซียถ้ามีการใช้กำลังทหารเข้าบุกยูเครน

แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็เหนือความคาดหมายคือรัสเซียส่งกำลังเข้าโจมตียูเครนพร้อมกันจากสามทิศ ทั้งทางบกทางเรือทางอากาศ และในหลายพื้นที่ของประเทศยูเครน 

แสดงถึงความมุ่งมั่นของรัสเซียที่จะเข้าดำเนินการในยูเครนให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว ไม่สนใจคำเตือนของสหรัฐและกลุ่มประเทศนาโต ขณะที่นาโตไม่สามารถส่งกำลังทหารเข้าช่วยยูเครนได้ ทำให้ยูเครนจะต้องสู้อย่างโดดเดี่ยวและอาจไม่สามารถทานกำลังทางทหารของรัสเซียได้ แม้จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศนาโต ทำให้บริบทการสู้รบจะเปลี่ยนเป็นแบบเฉพาะพื้นที่ในที่สุดและจะยืดเยื้อ

สอง สหรัฐกับกลุ่มประเทศนาโตรวมถึงประเทศพันธมิตรนอกนาโตจะร่วมมือกันใช้มาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ (sanction)เป็นเครื่องมือหลักในการตอบโต้รัสเซียเพื่อให้เศรษฐกิจรัสเซียอ่อนแอจนไม่สามารถสนับสนุนการทำสงครามได้ โดยมุ่งไปที่สถาบันการเงินรัสเซียและอภิมหาเศรษฐีรัสเซียเพื่อไม่ให้ทำธุรกรรมกับโลกภายนอกหรือเคลื่อนย้ายทรัพย์ที่มี 

ที่ต้องตระหนักคือมาตรการคว่ำบาตรแบบนี้เคยมีมาก่อนและไม่สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจทางการทหารของรัสเซียได้ ดังนั้นรอบนี้ถ้าจะให้เกิดผล มาตรการคว่ำบาตรที่กลุ่มนาโตใช้จะต้องขยายวงและหนักมือขึ้นเพื่อโดดเดี่ยวรัสเซียจากระบบเศรษฐกิจการเงินโลก ทั้งการค้าการลงทุนและการติดต่อเดินทาง ทั้งภาครัฐและเอกชน 

แต่จากที่ปัจจุบันระดับการพึ่งพาระหว่างรัสเซียกับประเทศต่างๆ มีสูง คือรัสเซียเป็นเศรษฐกิจอันดับหกของโลกวัดจากอำนาจซื้อของรายได้ (PPP) เป็นผู้ผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติอันดับหนึ่งของโลก เป็นผู้ส่งออกน้ำมันดิบอันดับสาม รวมถึงส่งออกอาหาร ปุ๋ย และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ มาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงจะส่งผลรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลกเช่นกัน ทำให้คราวนี้มาตรการคว่ำบาตรอาจส่งผลกระทบทั่วโลกไม่เหมือนครั้งก่อนๆ และกลุ่มประเทศนาโตก็ดูเหมือนพร้อมที่จะแบกรับผลกระทบนี้

วิกฤติยูเครน-รัสเซียกับเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร

สาม สถานการณ์สู้รบในยูเครนทำให้ภูมิภาคยุโรปที่เคยปลอดสงครามมากว่า 25 ปีจะกลับเข้าสู่สถานการณ์สงครามอีก ซึ่งหมายถึงความไม่ปลอดภัย และการสะสมกำลังทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อรับมือสถานการณ์ ซึ่งจะกระทบการจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจในภาวะที่โลกมีปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข เช่นภาวะโลกร้อน และระบบสาธารณสุขที่การระบาดของโควิดยังไม่จบ จำนวนคนติดเชื้อทั่วโลกยังมีมากกว่า 1.5 ล้านคนต่อวัน ดังนั้น สถานการณ์สู้รบถ้ายืดเยื้อและขยายวง ก็จะเป็นแรงซ้ำเติมต่อการใช้ทรัพยากรในเศรษฐกิจโลกที่จะกระทบความเป็นอยู่ของคนจำนวนมากโดยเฉพาะในยุโรปและรัสเซีย ซึ่งคนเหล่านี้ส่วนใหญ่เดาได้ว่าไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เกิดขึ้น

ในแง่ผลต่อเศรษฐกิจ วิกฤติยูเครน-รัสเซียในรูปแบบที่กำลังเกิดขึ้น จะทำให้เศรษฐกิจโลกต้องเจอกับผลกระทบจากสามวิกฤติพร้อมกัน เป็นปรากฏการณ์ที่เศรษฐกิจโลกไม่เคยเจอมาก่อน นั้นคือ วิกฤติโรคระบาดที่ยังไม่จบ วิกฤติเงินเฟ้อที่กำลังเป็นขาขึ้น กระทบความเป็นอยู่ของคนทั่วโลกและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และวิกฤติยูเครน-รัสเซียที่สถานการณ์สู้รบและมาตรการคว่ำบาตรจะดิสรัปห่วงโซ่การผลิตทำให้เศรษฐกิจโลกจะกลับคืนสู่สถานการณ์ปกติยากขึ้น

ที่สำคัญสามวิกฤตินี้ทับซ้อนกัน แยกกันไม่ได้ เพราะอยู่ในระบบเศรษฐกิจโลกเดียวกัน ทำให้ผลกระทบที่เกิดจากวิกฤติหนึ่งจะถูกขยายผล (amplify) ให้ยิ่งรุนแรงขึ้นด้วยพลวัตของวิกฤติอื่นที่มีอยู่

ในระยะสั้น ผลกระทบสำคัญของวิกฤติยูเครน-รัสเซีย คือ เงินเฟ้อที่จะเพิ่มสูงขึ้นในเศรษฐกิจโลก และความผันผวนในตลาดการเงินโลกที่จะมีมากขึ้นตามความไม่แน่นอนที่ได้เพิ่มขึ้นจากผลของสงคราม กระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุน ผลคือเศรษฐกิจโลกจะมีข้อจำกัดมากที่จะฟื้นตัวจากวิกฤติโควิดรวมถึงในการแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะล่าช้าออกไป

ที่ต้องตระหนักคือ สถานการณ์สู้รบ มาตรการคว่ำบาตร และแรงตอบโต้ที่จะมาจากรัสเซียต่อมาตรการคว่ำบาตร จะทำให้การผลิตในระบบเศรษฐกิจโลกถูกกระทบ เกิดเป็นความขาดแคลนและการเพิ่มขึ้นของราคา โดยเฉพาะราคาพลังงานที่จะดึงให้ราคาสินค้าอื่นๆ ปรับสูงขึ้นตาม ซึ่งสำคัญสุดคือราคาอาหาร 

ดังนั้น ปีนี้ เราจะเห็นราคาสินค้าและบริการปรับสูงขึ้นทั่วโลก กระทบความเป็นอยู่ของประชาชนและกดดันให้ค่าจ้างแรงงานต้องปรับขึ้นตาม ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อยิ่งเร่งตัวมากขึ้นอีก เพื่อแก้ปัญหานี้ธนาคารกลางคงต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดการใช้จ่ายให้อยู่ในระดับที่เหมาะกับการผลิตที่ลดลงเพื่อลดแรงกดดันต่อเงินเฟ้อ 

ผลคือเศรษฐกิจโลกจะชะลอ และโลกมีความเสี่ยงสูงที่จะไหลเข้าสู่ภาวะ stagflation คือ เศรษฐกิจถดถอยเกิดขึ้นพร้อมกับอัตราเงินเฟ้อที่สูง และปัญหานี้จะไม่คลี่คลายจนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะลดลง นี่คือความเสี่ยงที่รออยู่ข้างหน้า

สำหรับประเทศเราซึ่งนำเข้าน้ำมันมาก เงินเฟ้อก็จะเป็นปัญหาใหญ่ กระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ทำให้ต้องเตรียมรับมือทั้งจากเงินเฟ้อ ความขาดแคลน และความไม่ปลอดภัยในเศรษฐกิจโลกที่จะมีมากขึ้น.

วิกฤติยูเครน-รัสเซียกับเศรษฐกิจโลก | บัณฑิต นิจถาวร
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร. บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล
[email protected]