วิกฤตยูเครน-น้ำมันพุ่ง โอลิมปิกปักกิ่ง! (จบ) | วิกรม กรมดิษฐ์
วันนี้เราจะมาสรุปกันว่า ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมีผลมาจากปัจจัยอะไรบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้นได้ส่งผลกระทบเกือบทุกอย่างในระบบห่วงโซ่ธุรกิจทั้งของประเทศไทยและอีกหลายๆ ประเทศ
ปัจจุบันราคาน้ำมันในตลาดโลกได้พุ่งสูงขึ้นถึงเกือบ 100 ดอลลาร์ ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นมีผลมาจากปัจจัยอะไรบ้าง ปัจจัยแรกคือเรื่องของอัตราเงินเฟ้อซึ่งจะเห็นได้ว่าปัจจุบันอเมริกามีมูลค่าหนี้น่าจะสูงถึงเกือบ 130 เปอร์เซ็นต์ ของตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (Gross Domestic Product: GDP) ถ้าเปรียบเทียบกับบริษัทเอกชนที่ดำเนินการในภาคธุรกิจต่างๆ ก็ถือว่าประสบกับภาวะขาดทุนอย่างรุนแรง
เมื่อหันมาดูประเทศไทยก็มีภาระหนี้อยู่เช่นกันโดยมีอยู่ที่ประมาณ 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ของมูลค่า GDP ปกติประเทศไทยจะมีภาระหนี้สินอยู่ที่ประมาณ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ที่มีการแพร่ระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องเข้าสู่ปีที่ 3 ทำให้การเติบโตทางด้านเศรษฐกิจของประเทศเกิดการชะลอตัว ส่งผลให้ตัวเลขหนี้ของประเทศไทยสูงขึ้น
แต่อีกหนึ่งประเทศที่น่าสนใจคือประเทศญี่ปุ่นซึ่งมีมูลค่าหนี้สูงถึง 250 เปอร์เซ็นต์ของตัวเลข GDP ซึ่งนับเป็นมูลค่าที่สูงมากเมื่อเทียบกับอเมริกาและประเทศไทย แต่ประเทศญี่ปุ่นมีความพิเศษตรงที่ว่ามูลค่าหนี้ของญี่ปุ่นถึงแม้จะสูงถึง 250 เปอร์เซ็นต์ ญี่ปุ่นก็สามารถยังอยู่ได้และไม่ค่อยกังวลกับเรื่องดังกล่าว
หากเราลองสังเกตว่าประเทศญี่ปุ่นเองมีการขยายฐานการลงทุนออกไปสู่ประเทศต่างๆ หลายประเทศรวมถึงประเทศไทยเรียกว่าเป็นการนำเอาไข่ไปใส่ไว้ในตระกร้าอื่นๆ เหมือนเป็นการกระจายความเสี่ยง เพราะฉะนั้นถึงแม้ว่าเศรษฐกิจภายในประเทศของญี่ปุ่นอาจจะดูไม่ดีแต่ภาพรวมของสถานภาพทางเศรษฐกิจและการเงินของญี่ปุ่นดูดีขึ้นทั้งหมด
ผมเคยเดินทางไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ 1975 ในช่วงประมาณเดือนกุมภาพันธ์สมัยนั้นเงิน 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐสามารถแลกเป็นเงินญี่ปุ่นได้ประมาณ 330 เยน ตอนนี้ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐมีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 115 - 116 เยน แต่ที่ผ่านมาเงินญี่ปุ่นเคยมีการแข็งค่าอยู่ที่ประมาณ 70 กว่าเยนต่อ 1 เหรียญดอลลาร์สหรัฐ
เมื่อถามว่าทำไมเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจึงยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ หากลองพิจารณาดูดี ๆ จะเห็นว่าการที่ญี่ปุ่นมีการนำออกเงินไปลงทุนในประเทศต่างๆ เหมือนเป็นการให้คนอื่นนำเงินของตนเองไปทำกำไรให้ แต่ปลายทางของเงินหมุนเวียนกลับมาเข้าสู่กระเป๋าของผู้ลงทุน
ดูจากตัวอย่างง่ายๆ คือญี่ปุ่นมาลงทุนตั้งฐานการผลิตรถยนต์ Toyota อยู่ที่ประเทศไทยมีคนงานอยู่ประมาณ 12,000 ถึง 13,000 คน ในขณะที่มีคนญี่ปุ่นในระดับหัวหน้างานทำงานอยู่เพียงประมาณ 20 คน กำไรที่ได้จากการดำเนินธุรกิจมีสัดส่วนที่สูงมากสินค้าที่ผลิตที่เป็นแบรนด์ของญี่ปุ่น คุณภาพญี่ปุ่น ซึ่งถูกผลิตขึ้นที่ประเทศอื่นผลกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจก็กลับเข้าสู่ญี่ปุ่น
สาเหตุหลักอย่างหนึ่งที่ทำเงินเกิดภาวะเฟ้อของอเมริกา คือการที่อเมริกามีความพยายามในการพิมพ์ธนบัตรอัดเข้าสู่ระบบ ทำให้มีมูลค่าหนี้ต่อ 1 ปีสูงถึง 5 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐตั้งแต่ปี 2019 เป็นต้นมาแต่ละปีที่อเมริกาเป็นหนี้อยู่ปีละ 5 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ทำให้ปัจจุบันอเมริกามีหนี้อยู่น่าจะสูงถึง 30 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
นั่นก็เพราะโดนัลด์ ทรัมป์ ที่มีความคิดว่าคนส่วนใหญ่ชอบถือเงินดอลลาร์สหรัฐจึงผลิตเงินออกมาอัดฉีดเข้าไปในระบบเศรษฐกิจให้คนส่วนใหญ่ได้ถือครอง
คนไทยเองก็เช่นกันที่ชอบถือเงินดอลลาร์สหรัฐสังเกตุได้จากการตั้งราคาสินค้าอ้างอิงกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐทำให้ทุกวันนี้เหมือนกับอเมริกานำกระดาษมาแลกสินค้าของประเทศไทยได้ ตามความเข้าใจของผมคาดว่าตอนนี้อเมริกาน่าจะพิมพ์เงินมาตั้งแต่สมัยโดนัลด์ ทรัมป์ รวมอยู่ที่ประมาณ 8 ล้านล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ
ในสมัยก่อนปี ค.ศ. 1971 เคยมีข้อกำหนดในการพิมพ์ธนบัตรของแต่ละประเทศในโลกจะต้องมีทุนสำรองเป็นทองคำเป็นตัวค้ำประกันตามมูลค่าของเงินที่ต้องการพิมพ์ แต่เมื่อหลังปี ค.ศ.1971 อเมริกาได้ออกประกาศยกเลิกการใช้ทองคำหนุนหลังธนบัตรโดยใช้หลักการของทุนสำรองระหว่างประเทศเข้ามาแทนที่
ซึ่งวันนี้เข้าใจว่าอเมริกาน่าจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 140,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ประเทศไทยมีอยู่ประมาณเกือบ 300,000 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าประเทศไทยจะมีทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงกว่า 1 เท่าตัวแต่อเมริกาก็ยังสามารถพิมพ์ธนบัตรออกมาใช้ได้แบบไร้ขีดจำกัดจึงทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ
เมื่อกลับมาดูที่ราคาน้ำมันซึ่งกลุ่มประเทศผู้ส่งน้ำมันออกหรือโอเปก (Organization of Petroleum Exporting Countries : OPEC) มีการขึ้นราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่องจากความต้องการของประชาชนส่วนใหญ่ที่เทกำลังซื้อเพื่อการกักตุนด้วยสถานการณ์ที่เข้ามาสนับสนุนหลายด้าน
เพราะฉะนั้นเมื่อวันนี้มีคำถามว่าทำไมราคาน้ำมันจึงสูงขึ้นจึงสามารถสรุปได้ว่ามาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ภาวะอัตราเงินเฟ้อของอเมริกาและสถานการณ์ความไม่สงบความขัดแย้งระหว่างยูเครน รัสเซีย และไต้หวัน
อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือเรื่องของฤดูกาลที่กำลังเข้าสู่ฤดูหนาวของต่างประเทศที่มีฤดูหนาวที่ค่อนข้างน่ากลัวเนื่องจากประสบกับภาวะหนาวจัดเพราะฉะนั้นจึงมีความต้องการในการใช้พลังงานสูง.