เราทุกคนคือแรงงาน หนทางไปสู่รัฐสวัสดิการ | นรชิต จิรสัทธรรม

เราทุกคนคือแรงงาน  หนทางไปสู่รัฐสวัสดิการ | นรชิต จิรสัทธรรม

เมื่อวันที่ 27 ก.พ.ที่ผ่านมา มีกิจกรรม Workers’ Fest ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ภายใต้แนวคิดที่สำคัญคือ “เราทุกคนคือแรงงาน” จัดขึ้นโดยกลุ่มสหภาพคนทำงาน

กลุ่มสหภาพคนทำงานเป็นกลุ่มที่เริ่มต้นรวมกลุ่มพูดคุยกันมาตั้งแต่ปี 2563 โดยมีผู้ริเริ่มคนสำคัญคือ ศักดินา ฉัตรกุล ณ อยุธยา และกลุ่มผู้มีความคิดเห็นสอดคล้องใกล้เคียงกันอีกหลายคน  ทั้งนักวิชาการ นักกิจกรรม ผู้นำสหภาพแรงงาน รวมถึงคนทำงานในสาขาอาชีพต่างๆ  ซึ่งได้ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในกิจกรรมนี้

    จากโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ของกิจกรรม Worker’s Fest  จะสามารถพบแนวคิดแนวทางสำคัญที่กลุ่มสหภาพคนทำงานต้องการนำเสนอและผลักดัน ดังนี้

- ผลักดันแนวคิดเรื่องคนเท่ากันอย่างแท้จริง เพราะประชาธิปไตยไม่ใช่แค่การหย่อนบัตรเลือกตั้ง แต่เป็นวิถีชีวิต  อำนาจควรมาจากประชาชนและต้องถูกใช้ในทุกระดับ

- ต่อต้านเผด็จการทุกรูปแบบทั้งเผด็จการทางการเมืองและเผด็จการทางเศรษฐกิจซึ่งหมายถึงการผูกขาดเพราะสิ่งเหล่านั้นล้วนสร้างความทุกข์ยากให้แก่คนทำงาน

- ใครก็ตามที่ทำงานแลกเงินจะถือเป็นคนทำงานและถือเป็นคน 99 % ของประเทศ  ไม่ว่าจะเป็นกรรมกรกลางแดดหรือกรรมกรห้องแอร์  ก็ถือว่าเป็นคนทำงานที่มีส่วนในการขับเคลื่อนประเทศ  ดังนั้น ทุกคนจึงต้องรวมพลังกันเพื่อทวงคืนสิทธิ เสรีภาพและความเป็นอยู่ที่ดี

คำขวัญของการกิจกรรมการนี้คือ “เราทุกคนคือแรงงาน” เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะกับใครก็ตามที่สนับสนุนการสร้างรัฐสวัสดิการหรือต้องการเห็นการจัดสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพด้วยระบบถ้วนหน้าที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้  

เพราะการนำเสนอแนวคิด “เราทุกคนคือแรงงาน” เป็นการเสนอว่าทุกคนที่เป็นคนออกแรงกายและหรือแรงสมองลงมือทำงานในทุกรูปแบบทั้งที่ผู้จัดงานเรียกว่าเป็น “กรรมกรกลางแดด” หรือ “กรรมกรห้องแอร์” ก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนสำคัญในการสร้างสรรค์และผลักดันให้เกิดผลผลิตและบริการต่าง ๆ ขึ้นในสังคม  

ทุกคนจึงมีความสำคัญในบทบาทของตนเองไม่แตกต่างกัน ซึ่งการนำเสนอแนวคิดนี้จะเป็นการโต้แย้งอย่างสำคัญกับวัฒนธรรมและค่านิยมแบบไทยที่ให้การยกย่องอาชีพบางอาชีพและดูถูกดูหมิ่นอาชีพบางอาชีพ  และที่สำคัญค่านิยมแบบเดิม ๆ ของสังคมไทยนั้นไม่เพียงแค่ยกย่องและดูถูกดูหมิ่น  แต่ยังให้ความชอบธรรมกับการจ่ายค่าตอบแทนสูงให้กับบางอาชีพและจ่ายค่าตอบแทนต่ำให้กับบางอาชีพ

ไม่เพียงแค่เรื่องของการให้คุณค่าจากการทำงานเท่านั้น  รัฐสวัสดิการที่มีรากฐานมั่นคงแข็งแรงควรจะต้องมาจากแนวคิดสำคัญคือแนวคิดเรื่องภราดรภาพที่เห็นว่าทุกคนในสังคมล้วนแล้วแต่เป็นพี่เป็นน้องกันจึงต้องช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน  และไม่เพียงแค่ต้องช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  แต่ที่สำคัญคือเราทุกคนในสังคมล้วนแล้วแต่มีพันธะหรือมีหนี้บุญคุณต่อกัน  

ดังนั้น ความสำเร็จและความมั่งคั่งร่ำรวยของใครก็ตามจึงมิได้มีที่มาจากความรู้ความสามารถ ความขยันหมั่นเพียรหรือโชคชะตาของคน ๆ นั้นแต่เพียงถ่ายเดียว  แต่ยังมาจากการมีส่วนร่วมของคนอี่น ๆ ร่วมสังคมไม่ทางใดก็ตามหนึ่งด้วยเสมอ  

ซึ่งคำอธิบายเช่นนี้ก็เป็นคำอธิบายที่โต้แย้งกับวัฒนธรรมและค่านิยมแบบไทยที่แสดงออกผ่านสุภาษิต “รักดีหามจั่ว รักชั่วหามเสา” ที่เน้นว่าความสำเร็จเป็นของคนรักดีเท่านั้น  ส่วนคนรักชั่วก็จะต้องพบความยากลำบาก

วัฒนธรรมและค่านิยมเช่นนี้ของไทยนำไปสู่การตั้งคำถามจากคนชั้นกลางและคนร่ำรวยเสมอว่าเหตุใดพวกเขาจึงจะต้องยอมเสียภาษีในอัตราสูง ๆ เพื่อให้รัฐนำภาษีของพวกเขาไปจัดสวัสดิการให้กับคนยากจนที่พวกเขาคิดว่าเป็นพวกที่ “ทำตัวเองให้จน” เพราะเงินทองและความมั่งคั่งของพวกเขานั้นก็ล้วนแล้วแต่มาจากความขยันหมั่นเพียรในการเล่าเรียนและการทำงานของพวกเขาทั้งสิ้น  

พวกเขาจึงคิดว่าไม่เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลเลยที่จะนำเงินของพวกเขาไปช่วยเหลือคนจน  แม้ว่าพวกเขาจะไม่ปฏิเสธการบริจาคหรือการสงเคราะห์ให้กับคนจนซึ่งมีนัยยะแบบบนลงล่าง แต่พวกเขาจะไม่เห็นด้วยเลยกับการที่คนจนบอกว่าสวัสดิการนั้นเป็นสิทธิ์

ในทางกลับกันกลุ่มคนที่สนับสนุนรัฐสวัสดิการส่วนหนึ่งก็ทำการตอบโต้ว่าคนยากจนต่างหากที่เสียภาษีจำนวนมากให้กับรัฐโดยเฉพาะอย่างยิ่งภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราเท่ากับที่คนรวยเสีย  พวกเขาจึงเรียกภาษีมูลค่าเพิ่มว่าเป็นภาษีถดถอย  

ในขณะเดียวกันพวกเขาก็พยายามชักชวนคนจนและคนชั้นกลางให้เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะต้องเสียภาษีในอัตราสูง  เพราะผลตอบแทนที่จะได้รับกลับมาในรูปสวัสดิการนั้น “คุ้มค่า” มากกว่าภาษีที่แต่ละคนจะต้องจ่ายไปแน่นอน

    ความคิดความเชื่อทั้งสองแบบดังกล่าวนี้ได้พิสูจน์ตัวเองมาพอสมควรแล้วว่าไม่สามารถนำพาสังคมไปสู่การสร้างสวัสดิการที่มีคุณภาพอย่างถ้วนหน้าได้  และไม่สามารถสร้างความเห็นร่วมหรือความสมานฉันท์ให้เกิดขึ้นได้ในสังคม  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นเชื่อที่วางอยู่บนเรื่องความ “คุ้มค่า” อันมีที่มาจากความเห็นแก่ประโยชน์ส่วนตน (self interest) ของเศรษฐศาสตร์เสรีนิยม

    อย่างไรก็ตามหากต้องการผลักดันแนวทาง “เราทุกคนคือแรงงาน” ให้ไปได้อย่างตลอดรอดฝั่ง กลุ่มสหภาพคนทำงานและผู้ที่เห็นด้วยกับแนวทางนี้ก็จะต้องจริงจังกับการมองว่าคนทำงานทุกคนคือแรงงานไม่ว่าคนๆ นั้นจะประกอบอาชีพใดก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น หมอ เป็นวิศวกร เป็นสถาปนิก เป็นครู เป็นพ่อค้าเป็น ข้าราชการ ก็ล้วนแล้วแต่เป็นคนทำงานหรือเป็นแรงงานด้วยกัน 

และในทางเดียวกัน กลุ่มคนทำงานชนชั้นกลางก็ควรมองเห็นความเปราะบาง ความไม่มั่นคง ฯลฯ ที่แรงงานอื่นๆนอกเหนือกลุ่มอาชีพของตนต้องเผชิญ แน่นอนว่าการปรับหรือเพิ่มมุมมองคงทำได้ไม่ง่าย   แต่ก็จำเป็นต่อการผลักกัน “เราทุกคนคือแรงงาน” เพื่อนำไปสู่ สังคมแบบรัฐสวัสดิการหรือการจัดสวัสดิการสังคมที่มีคุณภาพอย่างถ้วนหน้า  บนพื้นฐานของความสมานฉันท์ เอื้ออาทร ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันของคนในสังคม.
คอลัมน์ มุมมองบ้านสามย่าน 
ตะวัน วรรณรัตน์ ภาควิชาสังคมศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น