เมื่อฝ่ายการเมืองอยู่เบื้องหลังการแต่งตั้งผู้พิพากษา (ในสหรัฐอเมริกา)
25 ก.พ.ที่ผ่านมา ทำเนียบขาวประกาศว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดน เสนอชื่อผู้พิพากษา เคทานจี บราวน์ แจ๊คสัน (Ketanji Brown Jackson) ดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาในศาลฎีกาแห่งสหรัฐ เป็นคนที่ 116 แทนที่ผู้พิพากษาสตีเฟน ไบรเออร์ (Stephen Breyer) ซึ่งประกาศจะเกษียณตนเองในกลางปีนี้
เหตุการณ์ดังกล่าวได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ไม่เพียงเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่ไบเดนจะได้มีโอกาสแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกานับแต่เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปิดหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ที่จะมีสตรีผิวดำดำรงตำแหน่งผู้พิพากษาศาลสูงสุดเป็นครั้งแรกอีกด้วย
สำหรับนักกฎหมายไทยอาจไม่คุ้นเคยกับกระบวนการดังกล่าว คงต้องเท้าความก่อนว่าระบบการแต่งตั้งผู้พิพากษาในสหรัฐอเมริกานั้นมีที่มาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งตราขึ้นเมื่อกว่าสองร้อยปีที่แล้ว โดยมาตรา 2 ส่วนที่ 2 วรรคสอง บัญญัติไว้สั้น ๆ เพียงว่า ประธานาธิบดีโดยคำแนะนำและความยินยอมของวุฒิสภา มีอำนาจแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกา
จากธรรมเนียมปฏิบัติในทางรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินี้ถูกตีความว่าประธานาธิบดีเป็นผู้มีอำนาจในการ "คัดเลือก" ผู้มีคุณสมบัติเหมาะสม โดยรัฐธรรมนูญไม่ได้จำกัดคุณสมบัติของบุคคลดังกล่าวไว้แต่อย่างใด ประธานาธิบดีจึงอาจเลือก "บุคคลใดก็ได้" โดยไม่จำต้องมาจากผู้พิพากษาในศาลระดับรองลงไปเท่านั้น (แต่ในทางปฏิบัติก็มักจะมีที่มาจากผู้พิพากษาในศาลอุทธรณ์)
อย่างไรก็ตาม ประธานาธิบดีมักจะปรึกษาหารือกับสมาชิกวุฒิสภาจากทั้งสองพรรคเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอเกี่ยวกับบุคคลที่สมควรคัดเลือกเพื่อหาฉันทามติในเบื้องต้น ก่อนจะเสนอชื่อให้วุฒิสภาพิจารณารับรอง หากได้รับการรับรองประธานาธิบดีก็จะลงนามแต่งตั้งต่อไป
และเมื่อดำรงตำแหน่งแล้วผู้พิพากษาท่านนั้นจะอยู่ในตำแหน่งตลอดชีวิต เว้นเสียแต่จะเลือกเกษียณตนเอง ลาออก หรือถูกถอดถอน (impeachment) และด้วยเหตุที่ผู้พิพากษาในศาลฎีกามีจำนวนจำกัดเพียง 9 คนเท่านั้น จึงทำให้โอกาสในการแต่งตั้งผู้พิพากษาของประธานาธิบดีแต่ละคนไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับมีตำแหน่งว่างเกิดขึ้นในวาระของประธานาธิบดีท่านนั้น ๆ หรือไม่
มาถึงตอนนี้หลายคนอาจสงสัยว่าการให้ฝ่ายการเมืองเข้ามามีบทบาทในการแต่งตั้งผู้พิพากษาจะกระทบต่อความเป็นอิสระของศาลหรือไม่
เป็นที่ยอมรับกันว่าศาลฎีกาของสหรัฐอเมริกามีความสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะหนึ่งในผู้ใช้อำนาจสูงสุดของประเทศและวางบรรทัดฐานทางกฎหมายที่มีผลกระทบต่อชีวิตของคนอเมริกัน รวมถึงต่อการออกกฎหมายและการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ภายใต้หลักประชาธิปไตย องค์กรตุลาการจึงจำเป็นต้องมีฐาน "ความชอบธรรม" ที่จะใช้อำนาจแทนประชาชนเจ้าของอำนาจสูงสุดดังกล่าว
และฐานความชอบธรรมนั้นก็แสดงออกผ่านกระบวนการได้มาซึ่งผู้พิพากษา ซึ่งรัฐธรรมนูญกำหนดให้องค์กรที่มีที่มาจากการเลือกตั้ง คือ "ประธานาธิบดี" และ "วุฒิสภา" ร่วมกันใช้อำนาจดังกล่าว โดยนัยนี้เราจึงสามารถเห็นความเชื่อมโยงระหว่างอำนาจตุลาการกับประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจที่แท้จริงได้
แล้วอย่างนี้จะมิทำให้ศาลกลายเป็นองค์กรทางการเมืองหรอกหรือ? คำตอบก็คือในสหรัฐอเมริกานั้นไม่ได้มีแนวคิดว่าการเมืองเป็นสิ่งชั่วร้าย และยอมรับกันด้วยว่าการคัดเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกาก็คือกระบวนการที่เป็น "การเมือง" อย่างหนึ่ง
โดยทั่วไปแล้ว ประธานาธิบดีจะเลือกผู้พิพากษาศาลฎีกาโดยคำนึงถึงปัจจัยสองประการ หนึ่งคือความรู้ความสามารถทางกฎหมายซึ่งย่อมต้องมีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับ แต่ปัจจัยอีกประการหนึ่งก็คือ บุคคลดังกล่าวมีทัศนะทางการเมืองหรืออุดมคติที่สอดคล้องกับประธานาธิบดีนั้น ๆ เพราะรัฐบาลก็คาดหวังว่าผู้พิพากษาจะตัดสินคดีไปในทางที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายของตน
โดยนัยนี้ ประธานาธิบดีจากพรรครีพับลิกันมักจะเลือกผู้พิพากษาที่มีจุดยืนอนุรักษ์นิยม ในขณะที่ประธานาธิบดีที่มาจากพรรคเดโมแครตมักเลือกผู้พิพากษาที่มีแนวคิดเสรีนิยม ซึ่งปัจจุบันเห็นได้ชัดว่าสัดส่วนระหว่างผู้พิพากษาทั้งสองฝ่ายอยู่ที่ 6 ต่อ 3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นผลจากการที่ตำแหน่งผู้พิพากษาว่างลงถึง 3 ครั้งในช่วงการดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เปิดทางให้ทรัมป์สามารถแต่งตั้งผู้พิพากษาฝั่งอนุรักษ์นิยมเข้าไปจนกลายเป็นเสียงส่วนใหญ่
แม้กระนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้พิพากษาศาลฎีกาจะถูกครอบงำโดยฝ่ายบริหาร ในทางตรงข้าม เป็นที่ยอมรับว่าศาลฎีกาสหรัฐทำหน้าที่ได้อย่างอิสระ เนื่องจากในกระบวนการคัดเลือกนั้นแม้ผู้เสนอชื่อจะเป็นประธานาธิบดีก็จริง แต่ข้อที่ต้องคำนึงถึงคือบุคคลที่เสนอชื่อนั้นจะต้องได้รับการยอมรับจากสมาชิกวุฒิสภาทั้งสองพรรค
รวมถึงการยอมรับจากสาธารณะว่าจะสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระ และรักษาความเป็นกลางภายใต้จรรยาบรรณตุลาการ และสาธารณชนยังสามารถติดตามตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาของศาลได้อย่างเต็มที่โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกฎหมายละเมิดอำนาจศาลด้วย
นอกจากนี้ การแต่งตั้งผู้พิพากษาศาลฎีกายังถือเป็นผลงานสำคัญที่ประวัติศาสตร์จะนำมาใช้ตัดสินคุณค่าของสมัยการปกครองของประธานาธิบดีผู้นั้น ประธานาธิบดีทุกคนย่อมมีความปรารถนาเช่นเดียวกับอดีตประธานาธิบดีจอห์น อดัมส์ ซึ่งเคยกล่าวว่าความภาคภูมิใจที่สุดในชีวิตของเขาคือการมอบผู้พิพากษาจอห์น มาแชล ให้เป็นของขวัญให้แก่คนอเมริกันทั้งมวล
แม้ว่าระบบองค์กรตุลาการในสหรัฐอเมริกาจะแตกต่างจากสิ่งที่เป็นอยู่ในประเทศไทยอยู่มาก แต่ในทัศนะของผู้เขียน สิ่งที่วงการกฎหมายไทยควรเรียนรู้จากกระบวนการนี้ก็คือ การตระหนักว่าในสังคมประชาธิปไตยนั้นองค์กรตุลาการมิได้ดำรงอยู่ได้ด้วยความชอบธรรมของตนเอง หรือแม้แต่ด้วยอุดมคติหรือคุณธรรมใด ๆ นอกเสียจากรากฐานความชอบธรรมที่ได้รับมาจากประชาชน ซึ่งเราอาจยังไม่สามารถเห็นได้ชัดนักในระบบองค์กรตุลาการของไทย
อีกทั้งการสร้างความสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าโดยรูปแบบ พิธีการ หรือโดยการวางข้อจำกัดด้วยกฎหมายละเมิดอำนาจศาลและหมิ่นศาล ซึ่งหลายครั้งถูกใช้ในเชิงขยายความอย่างเกินเลย ก็รังแต่จะทำให้ศาลกลายเป็นองค์กรที่หลุดลอยออกไปจากชีวิตทางการเมืองของสังคมมากยิ่งขึ้นไปทุกที
และนี่อาจเป็นความท้าทายหนึ่งขององค์กรตุลาการไทยท่ามกลางกระแสเรียกร้องประชาธิปไตยในขณะนี้.
คอลัมน์ กฎหมาย 4.0
ผศ.ธีรวัฒน์ ขวัญใจ
คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์