คนไทยเกี่ยวกับเรื่องของดราม่า

คนไทยเกี่ยวกับเรื่องของดราม่า

เรื่องเด่นประเด็นร้อนในสังคม หรือที่เราเรียกว่า “ดราม่า” เป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมดิจิทัลของไทย เมื่อมีเหตุการณ์ที่กระตุ้นในคนที่มีความรู้สึกร่วมกัน ก็จะทำให้เกิดการถกเถียงการแสดงความรู้สึกสิ่งนี้ต่อกันเป็นวงกว้าง

อย่างกรณีล่าสุด คือ เรื่องของการเสียชีวิตของนักแสดงหญิงที่มีชื่อเสียงในประเทศไทย นักสืบโซเชียลทำงานกันอย่างแข็งขันในการหาเบาะแส เพื่อสืบหาความจริง Twitter เอง ก็ร้อนระอุไปด้วย ความคิดเห็นต่างๆ มีผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาต่างออกมาอัดคลิปให้ความรู้ และแสดงความคิดเห็นใน Social Media ของตัวเอง

ในฉบับนี้ ขอหยิบยกประเด็นของ “ดราม่า” มาวิเคราะห์ในมุมของจิตวิทยาผู้บริโภคว่า สะท้อนค่านิยม และพฤติกรรมของคนไทยอย่างไร

 

บทบาทของตนเองในสังคม

สังคมไทยเป็นลักษณะสังคมร่วมกัน (Collective Society) ซึ่งมีรากฐานมาจากความแน่นแฟ้นของชุมชน การเป็นสังคมเครือญาติ เป็นครอบครัวขยาย ความสำคัญของการได้รับการยอมรับให้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มหรือสังคมย่อย ทำให้คนไทยให้ความใส่ใจกับการเป็นสมาชิกที่ดีของสังคม รวมถึงสิ่งต่างๆ ที่กระทบกับสังคมของตน 

เมื่อมีเหตุการณ์ที่เขามองว่าไม่ถูกต้อง ไม่สอดคล้องกับหลักศีลธรรมหรือสิ่งที่ควรจะป็น เขาจึงมองว่าเป็นบทบาทที่เขาต้องมีส่วนร่วม และ Social Media ก็ทำให้เกิดเวทีร่วมกัน โดยคนสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็น แสดงออกถึงบทบาทของตนได้อย่างอิสระ และเป็นวงกว้างยิ่งขึ้น นอกจากนี้ปรากฎการณ์ “ทัวร์ลง” ก็สะท้อนให้เห็นถึงการแสดงความคิดเห็นสอดคล้องกับความคิดเห็นของคนหมู่มาก โดยเป็นการแสดงพลังร่วมเมื่อเกิดเหตุการณ์ที่ขัดแย้งต่อการยอมรับของสังคมโดยรวม

กลัวการตกเทรนด์ (Fear of Missing Out)

เมื่อคนไทยให้ความสำคัญกับการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม เขาจึงใส่ใจกับเทรนด์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อให้คุยกับคนอื่นรู้เรื่อง และรู้สึกดีที่ตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของดราม่าที่เกิดขึ้น ทำให้การสื่อสารและความสัมพันธ์กันทั้งคนในโลกดิจิทัลและโลกแห่งความจริงมีความเข้มข้นและมีอารมณ์ร่วมสูง เป็นผลให้มีความกระตือรือร้นที่จะหาข้อมูล แสดงความคิดเห็น หากเป็นคนแรกๆ ที่เจออะไรใหม่ๆ ที่คนอื่นยังไม่รู้ ก็จะรู้สึกภูมิใจ และต้องการให้คนอื่นรู้ในวงกว้าง อยากให้คนอื่นมองว่าเราเป็นคนอัพเดท และทันสมัยเสมอ เพราสังคมเราใส่ใจกับ Social interest มากๆ นั้นเอง

การเพิ่มขึ้นของ Herosumer (Hero+Consumer)

ในปัจจุบันคนไทยมีจิตสำนึกเรื่องของประเด็นสังคม และสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พวกเขาไม่เพียงแต่มีความรู้และความใส่ใจ แต่มีความกระตือรือร้นที่จะลงมือทำ จึงเกิดเป็นลักษณะของผู้บริโภคที่เราเรียกว่า “Herosumer” คือคนที่ต้องการเป็นฮีโร่ในชีวิตจริง เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งที่สร้างความแตกต่าง หรือทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เชิงความคิด หรือค่านิยมในสังคม 

นอกจากนี้พวกเขายังมีความมั่นใจที่จะแสดงออกใน Social Media เพื่อเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอีกด้วย เมื่อเผชิญกับสถานการณ์ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ยุติธรรม พวกเขาจะเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ออกมาเรียกร้อง แสดงออก เพื่อให้เป็นไปตามค่านิยมของสังคม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของความไม่เท่าเทียมของคนรวย คนจน การบิดเบือนความจริง การเอารัดเอาเปรียบ หรือปัญหาความเหลื่อมล้ำในการบังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น กลุ่ม Herosumer นี้จะสร้าง network ในสังคมออนไลน์ และร่วมกันแสดงพลังร่วมกัน เพื่อผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในที่สุด

การแสดงออกอย่างอิสระซึ่งเป็นผลจาก Social Media

สังคมดั้งเดิมจะเป็นลักษณะ Restraint คือ จะไม่แสดงออกถึงอารมณ์ความรู้สึกอย่างชัดเจน หากเทียบกับสังคมตะวันตกที่มีความเป็นปัจเจกบุคคล (Individualism) สูง แต่ Social Media เขามาเปลี่ยนแปลงลักษณะเชิงวัฒนธรรมนี้ เพราะการที่สามารถแสดงความคิดเห็นโดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนทั้งหมด การแสดงออกในโลกออนไลน์ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับชีวิตจริงเสมอไป ทำให้ผู้คนแสดงออกได้อย่างเต็มที่ เมื่อเห็นคนอื่นกล้าแสดงออก ทำให้ผู้คนกล้าจะแสดงความคิดเห็นได้อย่างอิสระ เพราะไม่มีการ Sanction จากสังคมที่ตนเองเป็นสมาชิกอยู่ในชีวิตจริง

ดราม่ามักเกิดเร็ว ได้รับความสนใจในวงกว้าง และจางลงเมื่อมีประเด็นใหม่ๆ เข้ามาแทนที่ เมื่อความสนใจร่วมกันของสังคมเปลี่ยน การแสดงออกของคนก็จะเปลี่ยนตาม ลักษณะเดียวกับพลุไฟที่เกิดเร็ว แรง และหายไปในที่สุด

ดราม่ายังคงอยู่คู่คนไทยไปอีกนาน หากแต่จะเปลี่ยนรูปแบบไปตามปัจจัยเชิงสังคม และวัฒนธรรม การก้าวกระโดดของเทคโนโลยี และสังคมออนไลน์มีผลต่อพฤติกรรมและการแสดงออกของผู้คน 

การที่เราเข้าใจดราม่าทำให้เราเข้าใจว่าอะไรเป็น trigger ที่ทำให้เกิดอารมณ์ร่วมในสังคม และสะท้อนค่านิยมและความคิดเห็นของคนไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสื่อสารของแบรนด์โดยเฉพาะเรื่องของสังคมและสิ่งแวดล้อม (Sustainability)