อียูเร่งผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจน หวังลดพึ่งพารัสเซีย | EU Watch

อียูเร่งผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจน หวังลดพึ่งพารัสเซีย | EU Watch

วิกฤติรัสเซีย-ยูเครน สร้างความโกลาหลวุ่นวายให้กับโลกทั้งในด้านการเมืองระหว่างประเทศ เศรษฐกิจและวิถีชีวิตของผู้คน และโดยที่ยุโรปพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียโดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเป็นหลัก วิกฤตครั้งนี้จึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อความมั่นคงด้านพลังงานในยุโรป

อียูตระหนักดีถึงจุดอ่อนดังกล่าวและกำลังดำเนินการเพื่อรับมือปัญหานี้ในระยะยาว โดยเมื่อวันที่ 8 มี.ค.2565 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอแผน REPowerEU ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือลดและเลิกการนำเข้าก๊าซธรรมชาติและน้ำมันจากรัสเซียให้ได้ภายในปี ค.ศ. 2030 

    โดยจะเร่งสรรหาพลังงานสำรองจากแหล่งอื่น เพื่อรักษาเสถียรภาพพลังงานในระยะสั้น และเปลี่ยนไปสู่การผลิตก๊าซคาร์บอนต่ำจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะไฮโดรเจนสะอาดและไบโอมีเทนทดแทน 

สอดคล้องกับแผนนโยบาย European Green Deal ที่ให้ความสำคัญกับการนำไฮโดรเจนสะอาดมาใช้เป็นพลังงานทดแทนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและบรรลุเป้าหมายด้านคาร์บอนเป็นศูนย์ในปี ค.ศ. 2050 โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้พลังงานสูง ตลอดจนภาคการขนส่งและการผลิตไฟฟ้า 

๐ สถานการณ์ปัจจุบัน
    ก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตในอียูส่วนใหญ่ (ร้อยละ 95) จัดเป็นก๊าซ “ไฮโดรเจนสีเทา” ที่ผลิตโดยก๊าซธรรมชาติโดยมีการปล่อยก๊าซมีเทนและก๊าซคาร์บอนออกสู่ชั้นบรรยากาศ และนิยมใช้ในกระบวนการกลั่นน้ำมัน การผลิตปุ๋ยและเหล็ก 

    ในขณะที่ “ไฮโดรเจนสะอาด” (clean hydrogen หรือ green hydrogen หรือ decarbonized hydrogen) เป็น “ไฮโดรเจนสีเขียว” ที่ผลิตโดยไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เช่น พลังงานลม และพลังงานแสงอาทิตย์ ผ่านการแยกน้ำด้วยกระบวนการอิเล็กโทรลิซิส และ “ไฮโดรเจนสีฟ้า” ที่ใช้วิธีกักเก็บคาร์บอนที่เกิดจากกระบวนการผลิตไม่ให้ออกสู่ชั้นบรรยากาศ

    อย่างไรก็ดี การผลิตไฮโดรเจนสะอาดยังมีข้อจำกัด ทั้งในเรื่องของความต้องการของตลาด ต้นทุนการผลิตที่สูง โครงสร้างพื้นฐาน การเก็บรักษาและการขนส่ง และศักยภาพด้านพลังงานหมุนเวียนของภูมิภาคที่ยังไม่เพียงพอต่อการผลิตไฮโดรเจนสะอาดอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้มีราคาแพง (5.5 ยูโร/กิโลกรัม) เมื่อเทียบกับไฮโดรเจนที่ได้จากวัตถุดิบประเภทอื่น ซึ่งมีราคาเพียง 1.5 - 2 ยูโร/กิโลกรัม 

แต่ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้กระบวนการผลิตก๊าซไฮโดรเจนสะอาดเริ่มมีต้นทุนในการผลิตที่ลดต่ำลง และมีแนวโน้มที่จะประสบความสำเร็จก่อนสิ้นศตวรรษนี้

๐ นโยบายการพัฒนาไฮโดรเจนของอียู
    เมื่อเดือน ก.ค. 2563 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ประกาศแผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาไฮโดรเจนสีเขียวระยะ 30 ปี เพื่อผลักดันการใช้ไฮโดรเจนสีเขียวให้กลายเป็นหนึ่งในพลังงานหลักของอียู โดยในระยะแรก (ค.ศ.2020-2024) อียูให้ความสำคัญกับการติดตั้งอิเล็กโทรไลเซอร์ (electrolyzer) กำลังการผลิต 6 GW เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวให้ได้ 1 ล้านตัน 

อียูเร่งผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจน หวังลดพึ่งพารัสเซีย | EU Watch
    
    สำหรับระยะที่ 2 (ค.ศ. 2024-2030) อียูตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตอิเล็กโทรไลเซอร์ให้ได้ 40 GW เพื่อผลิตไฮโดรเจนสีเขียวให้ได้ 10 ล้านตัน เพื่อนำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมเป็นวงกว้าง โดยมุ่งเน้นอุตสาหกรรมการผลิตเหล็กและภาคการขนส่ง และในระยะที่ 3 หลังปี ค.ศ. 2030 ตั้งเป้าขยายการใช้งานของไฮโดรเจนสีเขียวในภาคการผลิตไฟฟ้าและปิโตรเคมี และปุ๋ยซึ่งเป็นภาคส่วนที่ยากต่อการลดคาร์บอน 

    แผนยุทธศาสตร์ดังกล่าวยังครอบคลุมเรื่องกฎระเบียบ การส่งเสริมการวิจัยและนวัตกรรม และนำไปสู่การก่อตั้ง “European Clean Hydrogen Alliance” เพื่อสร้างความร่วมมือในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม และองค์กรอื่นๆ 

    อียูได้ตั้งงบประมาณไว้ถึง 470 พันล้านยูโรจากกองทุนฟื้นฟูยุโรปสำหรับพัฒนาธุรกิจไฮโดรเจนสีเขียวและอีก 18 พันล้านยูโรสำหรับพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนให้สะอาดขึ้น โดยเฉพาะการผลิตไฮโดรเจนสีฟ้า ไบโอมีเทนและก๊าซคาร์บอนต่ำอื่นๆ เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจไฮโดรเจนในช่วง 10-20 ปีข้างหน้าเป็นไปอย่างยั่งยืน  

    นอกจากนี้ได้เสนอร่างกฎหมายเพื่อปฎิรูปด้านพลังงาน (Hydrogen and Decarbonised Gas Package) เพื่อส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านจากก๊าซธรรมชาติสู่ไฮโดรเจนสีเขียว โดยมีสาระสำคัญคือการพัฒนาตลาดไฮโดรเจนในอียู การทยอยลดการใช้ฟอสซิล และส่งเสริมการลงทุนการผลิตไฮโดรเจนสะอาด 

    โดยใช้นโยบายยกเว้นภาษี รวมทั้งกำหนดมาตรฐานการรับรองคุณภาพการผลิตเพื่อเพิ่มโอกาสทางการตลาดและสร้างความสามารถในการแข่งขันของยุโรปในระยะยาว เพื่อพัฒนาให้ยุโรปเป็นศูนย์กลางการซื้อ-ขายไฮโดรเจนของภูมิภาคต่อไป

    อีกประเด็นที่สำคัญของร่างกฎหมายคือ การวางมาตรการควบคุมการปล่อยมีเทนในภาคพลังงาน โดยตั้งเป้าลดการปล่อยก๊าซมีเทนจากภาคพลังงานให้ได้ร้อยละ 80 ภายในปี ค.ศ. 2030 ตลอดจนเตรียมแผนรับมือวิกฤตพลังงานเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

๐ ตัวอย่างโครงการด้านไฮโดรเจนของอียู

    ทั้งนี้ อียูได้ประกาศเปิดตัวโครงการพัฒนาเศรษฐกิจไฮโดรเจนไปแล้วกว่า 120 โครงการทั้งในยุโรปและประเทศใกล้เคียง เช่น  โมร็อกโก และยูเครน ซึ่งมีพลังงานหมุนเวียนที่อุดมสมบูรณ์และมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำ โดยโครงการเหล่านี้ครอบคลุมการบริหารจัดการ value chain ทั้งระบบ อาทิ  

H2FUTURE ออสเตรีย

    เบลเยียม - โครงการ Hydrogen Import Coalition (พัฒนาระบบโลจิสติกส์) ที่ท่าเรือแอนต์เวิร์ป และท่าเรือ Zeebrugge 
    เนเธอร์แลนด์ - โครงการ NorthH2 (การผลิต กักเก็บและขนส่งพลังงาน และปิโตรเคมีด้วยเซลล์เชื้อเพลิงร่วมกับพลังงานลม) และโครงการ Porthos ใกล้ท่าเรือ Rotterdam (เทคโนโลยีการดักจับคาร์บอนและกักเก็บใต้ทะเล) 
    ออสเตรีย - โครงการ H2FUTURE (เทคโนโลยีการผลิตเหล็กปลอดคาร์บอน) 

    ผู้สนใจสามารถสืบค้นข้อมูลเกี่ยวกับโครงการนำร่องเหล่านี้ได้ที่เว็บไซต์ European Clean Hydrogen Alliance ของอียู 

    ประเทศไทยสามารถนำบทเรียนการพัฒนาพลังงานทดแทนของอียู มาเป็นแนวทางในการศึกษาเรื่องการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้

ทั้งในมิติของการสร้างกรอบกฎหมาย และการสร้างนวัตกรรม ซึ่งจะเป็นประโยชน์กับผู้ใช้พลังงานและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนช่วยให้ภาคธุรกิจเตรียมรับมือกับกระแสการเปลี่ยนแปลงสู่โลกยุคคาร์บอนต่ำในปัจจุบัน.

อียูเร่งผลักดันการใช้พลังงานไฮโดรเจน หวังลดพึ่งพารัสเซีย | EU Watch
คอลัมน์ : EU watch
ทีมงาน ThaiEurope.net
คณะผู้แทนไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ทำหน้าที่  'คัด' และ 'กรอง' ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับยุโรป/สหภาพยุโรป เพื่อนำเสนอในลักษณะข้อมูลเชิงลึก เตือนให้ภาคธุรกิจไทยไทยรับทราบ
facebook @thaieurope.net
www.thaieurope.net