กฎหมายการนำบิตคอยน์/คริปโทฯ เป็นหลักประกันทางธุรกิจ | สุรินรัตน์ แก้วทอง
หนึ่งในหัวใจการประกอบธุรกิจ คือ การมีเงินทุนหมุนเวียนที่เพียงพอ โดยปกติแล้วผู้ประกอบธุรกิจจะนำทรัพย์สินไปเป็นหลักประกันทางธุรกิจ หรือทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับสถาบันการเงิน
ทั้งนี้ เป็นไปตามบทบัญญัติกฎหมายว่าด้วยหลักประกันในทางธุรกิจ ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ.) อย่างไรก็ตาม ภายใต้บังคับของ ป.พ.พ. ทรัพย์สินที่จะนำมาเป็นหลักประกันได้จะมีค่อนข้างจำกัด
คือ อสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษจำพวกบ้านและที่ดิน รวมถึงอาจนำสังหาริมทรัพย์ธรรมดาที่มีมูลค่าสูง เช่น เครื่องจักรหรือเครื่องบินมาเป็นหลักประกันทางธุรกิจได้ จะเห็นได้ว่า มีทรัพย์สินค่อนข้างจำกัดในการนำมาเป็นหลักประกัน เพื่อการกู้ยืมเงินระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับสถาบันการเงิน
ปี 2558 มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.ว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องทรัพย์สินที่นำมาใช้เป็นหลักประกันตาม ป.พ.พ. ซึ่งทรัพย์สินที่จะนำมาเป็นหลักประกันได้จะมีค่อนข้างจำกัด
เมื่อพิจารณาบทบัญญัติมาตรา 8 ของ พ.ร.บ. ว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 จะเห็นได้ว่ามีการขยายขอบเขตของทรัพย์สินที่จะนำมาเป็นหลักประกันเพิ่มขึ้น โดยให้ผู้เป็นเจ้าของทรัพย์สิน ได้แก่ กิจการ สิทธิเรียกร้อง สังหาริมทรัพย์ที่ผู้ให้ประกันใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง หรือวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตสินค้า
ตลอดจนอสังหาริมทรัพย์ในกรณีที่ผู้ให้หลักประกันประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง หรือทรัพย์สินทางปัญญา และทรัพย์สินอื่นตามที่บัญญัติไว้ในกฎกระทรวงสามารถที่จะนำทรัพย์สินที่มีมูลค่าเหล่านี้ มาใช้เป็นหลักประกันในทางธุรกิจ และมีการกำหนดแนวทางในการบังคับและการสิ้นสุดของหลักประกันดังกล่าวไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับนี้ด้วย
จะเห็นได้ว่า พ.ร.บ. ว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 พยายามนำเอาทรัพย์สินที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจ มาใช้เป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงินระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับสถาบันการเงินเพื่อสร้างมูลค่าให้กับทรัพย์สินเหล่านั้นเพิ่มเติม ทั้งยังได้มีการบัญญัติขั้นตอนในการบังคับหลักประกันในรูปแบบใหม่ที่แตกต่างไปจากวิธีการบังคับในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
ทำให้กระบวนการในการบังคับหลักประกันมีความสะดวกรวดเร็วและสามารถนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้มากยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นผู้อนุมัติเงินกู้ยืมเงินสามารถพิจารณาอนุมัติสินเชื่อให้กับทรัพย์สินซึ่งเป็นหลักประกันนี้ได้ง่ายขึ้นและลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการที่ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้และสามารถบังคับเอากับหลักประกันได้
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณา ป.พ.พ. รวมถึง พ.ร.บ. ว่าด้วยหลักประกันทางธุรกิจ พ.ศ. 2558 จะเห็นได้ว่าทรัพย์สินหนึ่งที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจและยังไม่ถูกนำมาใช้เป็นหลักประกันแม้ว่าจะเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าค่อนข้างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงระยะเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาซึ่งทรัพย์สินนั้น คือ “บิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีอื่น ๆ” ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ประชาชนคนไทย ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลมีการถือครองค่อนข้างสูง
ในปัจจุบันอาจมีมูลค่าการถือครองบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีสูงถึงหนึ่งแสนล้านบาทในปัจจุบัน ประกอบกับการเข้าซื้อกิจการของบริษัทบิตคับของธนาคารไทยพาณิชย์ซึ่งเป็นสถาบันการเงินโดยตรงทำให้ความเชื่อมั่นในบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีในฐานะที่เป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมีเพิ่มสูงขึ้น
แม้บิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีจะเป็นทรัพย์สินดิจิตอลซึ่งเพิ่งมามีบทบาทในระบบธุรกิจในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาและยังมีข้อถกเถียงเกี่ยวกับทิศทางนโยบายของรัฐบาลที่นำมาใช้ปฏิบัติต่อการถือครองและการใช้ประโยชน์ในบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย
แต่ด้วยระบบโครงสร้างเศรษฐกิจโลกและการนำระบบบล็อกเชนมาใช้ในระบบธุรกิจ ทำให้บิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซี กลายเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่าในทางเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง ที่ได้รับการยอมรับและมีคุณสมบัติที่อาจนำมาใช้เป็นหลักประกันทางธุรกิจได้
อย่างไรก็ตาม หากรัฐบาลจะนำบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซี คงต้องพิจารณาข้อจำกัดบางประการของบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซี คือ แนวทางในการบังคับหลักประกันและปัญหาการเปลี่ยนแปลงของราคาบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซี ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างสูงต่อวันเมื่อเปรียบเทียบกับทรัพย์สินอื่น
ดังนั้น กระบวนการในการบังคับหลักประกันและการใช้บิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซี จึงต้องมีการพิจารณาแนวทางที่เป็นพิเศษแตกต่างจากทรัพย์สินอื่น ทั้งนี้เพื่อให้การปล่อยสินเชื่อเงินกู้ให้กับผู้ถือครองบิตคอยน์และคริปโทเคอร์เรนซีมีประสิทธิภาพ และเป็นการสร้างกระบวนการในการลดความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้กับสถาบันการเงินใดมากที่สุด
จะทำให้มีทรัพย์สินซึ่งเป็นตัวเลือกเพิ่มขึ้น ในการนำมาเป็นหลักประกันในทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็น บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลเพิ่มมากขึ้นและจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศไทยในภาพรวมได้เป็นอย่างดี.