โมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน | พสุ เดชะรินทร์
ในเกือบทุกสัปดาห์ จะเห็นข่าวองค์กรธุรกิจในประเทศไทย ประกาศหรือประชาสัมพันธ์ในเรื่องเกี่ยวกับความยั่งยืนออกมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น เรื่องการลดก๊าซคาร์บอน การดูแลสิ่งแวดล้อม การลดโลกร้อน หรือ การปฎิบัติตามแนวทางของ ESG (Environment, Social, Governance)
จนกล่าวได้ว่าในปัจจุบันการดำเนินธุรกิจกำลังเข้าสู่อีกยุค ที่ความสำเร็จทางธุรกิจไม่ได้ถูกวัดด้วยความสามารถทางการแข่งขันหรือความสามารถในการทำกำไรเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ถูกตัดสินจากความสามารถในการสร้างสรรค์ความยั่งยืนทั้งให้กับภายนอกและตัวองค์กรเอง
อย่างไรก็ดีความท้าทายที่สำคัญคือการหาโมเดลธุรกิจ (Business model) ที่เหมาะสมสำหรับการทำธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนทั้งภายในและภายนอกองค์กร เนื่องจากรูปแบบหรือโมเดลธุรกิจที่เป็นที่คุ้นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน
ไม่ว่าจะเป็น Subsription, Freemium, Platform, Sharing, หรือ Ecosystems ล้วนแล้วแต่มุ่งเน้นในเรื่องของการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจเป็นหลัก
บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอย่าง BCG ได้มีการศึกษาตัวอย่างจาก 100 กว่าบริษัทแล้วพัฒนารูปแบบของโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของตนเองขึ้นมา เรียกว่า Sustainable Business Model Innovation หรือ SBM-I ซึ่งก็สามารถนำมาปรับใช้เป็นแนวทางการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนสำหรับแต่ละธุรกิจได้
แนวคิดของ SBM-I เริ่มต้นจากการขยายกรอบความคิดเกี่ยวกับลูกค้าของธุรกิจ จากเดิมที่การคิดโมเดลธุรกิจทั่วไป มักจะเริ่มต้นจากการตอบคำถามว่าลูกค้ากลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจคือใคร? ก็ขยายให้ครอบคลุมทั้งผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholders) และแนวโน้มที่สำคัญทั้งทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมด้วย
เมื่อหาความต้องการของ Stakeholders กลุ่มต่างๆ และแนวโน้มทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมที่กำลังจะเกิดขึันในอนาคต ผู้บริหารก็ควรจะนำโมเดลธุรกิจที่กำลังใช้อยู่มาทดสอบกับข้อมูลต่างๆ จาก Stakeholders และแนวโน้มด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
เพื่อพิจารณาว่าด้วยโมเดลธุรกิจที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนั้น สามารถตอบสนองต่อความต้องการของ Stakeholders และแนวโน้มต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ดีเพียงใด ผู้บริหารควรจะสามารถวิเคราะห์และระบุว่า ยังมีช่องว่าง โอกาส หรือ ความเสี่ยงอะไรบ้าง
ซึ่ง ช่องว่าง โอกาส หรือ ความเสี่ยงที่พบนั้นจากการเปรียบเทียบนั้น จะกลายเป็นแนวทางสำหรับการพัฒนาและสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ ที่นำไปสู่ความยั่งยืนในด้านสังคม สิ่งแวดล้อมมากขึ้น
อย่างไรก็ดี ต้องอย่าลืมตระหนักไว้ด้วยว่าโมเดลธุรกิจใหม่นั้น จะต้องมีความสมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจ และสามารถนำไปสู่การเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของธุรกิจได้ด้วย
แนวทางข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของ SBM-I ของ BCG ซึ่งก็น่าจะช่วยจุดประกายความคิดให้กับผู้บริหารและผู้สนใจในการคิดโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนได้
นอกจากนี้ผู้ที่สนใจเรื่องโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ก็ยังสามารถที่จะเรียนรู้จากตัวอย่างขององค์กรธุรกิจชั้นนำในประเทศไทย ที่ได้เริ่มทยอยเปิดตัวกลยุทธ์และโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนออกมามากขึ้น
ตัวอย่างเช่นเมื่อสิ้นปีที่แล้ว ทางเอสซีจี (SCG) ได้แถลงข่าวเปิดตัวกลยุทธ์ ESG 4 Plus ที่นอกเหนือจากการตั้งเป้าเรื่องของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและเป้าหมายอื่นๆ เพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมีการประกาศถึงกลยุทธ์ที่เกี่ยวข้องกับ ESG ที่นำไปสู่การปรับเปลี่ยนรูปแบบในการดำเนินธุรกิจในหลายๆ ด้านของเอสซีจีอีกด้วย
กลยุทธ์ ESG 4 Plus ประกอบไปด้วย 1. มุ่ง Net Zero ปี 2550 2. Go Green 3. Lean เหลื่อมล้ำ 4. ย้ำร่วมมือ และ Plus เป็นธรรมโปร่งใส
ตามกลยุทธ์ ESG 4 Plus ของเอสซีจีนั้น ไม่ได้มีเพียงแค่การประกาศเป้าหมายต่างๆ ออกมาเท่านั้น แต่ยังมีรายละเอียดของกลยุทธ์และแนวทางการดำเนินงานในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง นอกเหนือจากเรื่องของสิ่งแวดล้อมที่กำลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบัน
กลยุทธ์ดังกล่าวยังครอบคลุมในเรื่องของการมุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ด้วยการพัฒนาทักษะอาชีพที่ต้องการให้กับทั้งชุมชนรอบโรงงานของเอสซีจีและผู้ประกอบการที่สนใจอีกด้วย ไม่ว่าจะเป็น อาชีพพนักงานขับรถบรรทุก ผู้ช่วยพยาบาล ผู้ช่วยทันตแพทย์ หรือ ผู้ดูแลผู้สูงอายุ เป็นต้น
ยังมีตัวอย่างของรูปแบบโมเดลธุรกิจจากบริษัทชั้นนำของไทยอีกจำนวนมาก ที่น่าจะเป็นต้นแบบในการเรียนรู้ให้กับธุรกิจที่สนใจในการสร้างโมเดลธุรกิจเพื่อความยั่งยืนของตนเอง.
คอลัมน์ : มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]