การฉ้อโกง NFT ภัยรูปแบบใหม่ที่ต้องระวัง
เมื่อความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และก็เป็นตลาดใหม่ จึงไม่แปลกใจที่ตลาดการซื้อขาย NFT จะมีการฉ้อโกงเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ครั้งที่แล้ว ผมเขียนเรื่อง NFT สินทรัพย์ดิจิทัล ที่กำลังเป็นที่นิยม และตลาดการซื้อขายกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว มีการนำภาพวาดดิจิทัล ภาพถ่ายดิจิทัล คลิปวิดีโอ ไอเท็มดิจิทัลต่างๆ ในโลกเสมือน เช่น ตัวการ์ตูน เสื้อผ้า รองเท้า อุปกรณ์ในเกมส์ดิจิทัล หรือแม้แต่ที่ดินดิจิทัลในโลก Metaverse มาทำเป็น NFT โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนระบุความเป็นเจ้าของสินทรัพย์ดิจิทัลชิ้นนั้นและสามารถตรวจสอบธุรกรรมการเปลี่ยนแปลงความเป็นเจ้าของได้
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมภาพดิจิทัลที่เป็นเพียงภาพ JPEG ธรรมดาบางภาพถึงได้มีมูลค่าซื้อมากมายขนาดนั้น ทั้งๆ ที่ก็เป็นข้อมูลที่อยู่ในโลกดิจิทัล ไม่สามารถจับต้องได้เมื่อภาพศิลปะทั่วๆ ไป และใครๆ ก็สามารถที่จะนำภาพเหล่านั้นไปแชร์ต่อได้ หลักการเรื่องนี้ก็เหมือนกับภาพศิลปะอย่างภาพ Monalisa ที่หลายคนก็คงจะเคยเห็น มีภาพที่พิมพ์ออกมาให้เราเห็นมากมาย บ้างก็เอาภาพพิมพ์เหล่านี้มาใส่กรอบติดโชว์อยู่ตามบ้าน แต่คนที่เห็นก็จะทราบว่าภาพอื่นๆ ไม่มีค่าอะไรมากมายเพราะไม่ใช่ของจริง นอกจากภาพวาดของแท้ซึ่งแสดงไว้ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ ประเทศฝรั่งเศสจึงจะมีค่ามหาศาล
NFT ก็เช่นกันเราอาจเห็นภาพดิจิทัลมากมายที่แชร์กันอยู่ แต่ภาพใดที่เป็นของแท้ เทคโนโลยี NFT ก็จะเป็นเครื่องมือช่วยระบุได้พร้อมทั้งตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ และจะทำให้ภาพดิจิทัลของแท้มีมูลค่าขึ้นมาได้ถ้าเป็นที่ต้องการของผู้คน
ด้วยตลาดกำลังเป็นที่นิยม คนจำนวนมากก็แห่กันมาซื้อ NFT เพื่อเก็บสะสมกัน ล่าสุดเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “มาดอนน่า” ศิลปินเพลงป็อปก็ทวีตแจ้งว่าตัวเองได้ซื้อภาพ NFT ที่ชื่อ “Bored Ape #4988” โดยเธอซื้อผ่านบริษัท MoonPay ที่เป็นผู้ดูแลคริปโตและตัวประมวลผลการชำระเงินสำหรับบริการคนดังที่สนใจซื้อ NFT ด้วยวงเงินสูงถึง 564,000 ดอลลาร์ และเธอยังได้นำรูป NFT ที่ซื้อมานั้นไปเปลี่ยนโปรไฟล์ใน Tweeter ของเธอ
บริษัทต่างๆ ก็แห่กันมาออก NFT บ้างก็บอกว่าเป็นภาพดิจิทัลสะสมมีจำกัดหลายพันชุด ออกขายมาในจำนวนจำกัด NFT บางชิ้นก็มีการทำการตลาดที่จะให้สิทธิ์ต่างๆ กับผู้ซื้อ เช่น การนำสินค้าที่ระลึกปกติไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า หรือพวงกุญแจ ออกมาเป็นของแถม หรือให้สิทธิ์ผู้ซื้อ NFT ด้วยการให้นำไปเป็นส่วนลดในสินค้าอื่นๆ ได้ ตลอดจนมีการทำ Airdrop เพื่อแจกจ่าย NFT ฟรีให้กับคนบางกลุ่ม
เมื่อความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และก็เป็นตลาดใหม่ จึงไม่แปลกใจที่ตลาดการซื้อขาย NFT จะมีการฉ้อโกงเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อที่เข้ามาใหม่ในวงการ ซึ่งรูปแบบการฉ้อโกงทำได้มากมาย ตั้งแต่การขาย NFT ปลอมที่ไม่ใช่ของแท้ โดยที่ผู้ซื้ออาจยังไม่เข้าใจการตรวจสอบที่ดีพอว่าจะดูอย่างไร หรือมีแม้กระทั่งการนำภาพลิขสิทธิ์ของผู้อื่นมาทำเป็น NFT ทำให้ผู้ซื้อได้สินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่มีค่าใดๆ ไป
การฉ้อโกงอีกรูปแบบหนึ่งที่มักจะพบคือ รูปแบบที่เรียกว่า Rug Pull โดยการที่ผู้พัฒนาได้สร้างโครงการออกขาย NFT จำนวนหนึ่ง และเมื่อราคา NFT สูงขึ้นก็ระงับโครงการนั้นแล้วก็หายไปจากโลกออนไลน์ บางรายก็ไปสร้างโครงการใหม่ๆ เพื่อหลอกผู้คนต่อ ส่วน NFT ที่คนซื้อไปก็มีการฝังโปรแกรมที่ทำให้ลบเงื่อนไขต่างๆ ที่เคยสัญญาในโครงการออกไปได้
การปั่นราคาของ NFT ก็เป็นอีกรูปหนึ่งที่มีการซื้อขายหลอกกันไปมา ทำให้เสมือนราคาสูงขึ้นจนมีคนบางกลุ่มหลงเข้าไปซื้อ จากนั้นกลุ่มคนที่ปั่นราคาก็หายไป ทำให้ผู้ที่หลงซื้อไปเพื่อการลงทุนไม่สามารถขายต่อได้เพราะราคาสูงจนเกินความเป็นจริง
หรือแม้แต่การทำ Airdrop ก็มีการเชิญชวนคนให้เข้ามารับ NFT ฟรี และขอหรือแฮกข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับกระเป๋าเงินดิจิทัลของเรา และนำข้อมูลที่ได้ไปเพื่อทำการขโมยเงินหรือสินทรัพย์ดิจิทัลออกจากกระเป๋าของเรา
ดังนั้นการซื้อขาย NFT จำเป็นต้องระมัดระวังการหลอกลวง การเข้าไปซื้อตามเว็บไซต์บางแห่งอาจมีความเสี่ยง ควรต้องซื้อขายในตลาดที่มีชื่อเสียง น่าเชื่อถือดังเช่น Opensea จะมีความปลอดภัยกว่า ขณะเดียวกันผู้ซื้อก็ต้องสังเกตข้อมูลของผู้ขายให้ดี ดูจากประวัติและข้อมูลต่างๆ ให้รอบคอบ แต่ก็ไม่ง่ายนักเพราะการซื้อขายอยู่ในโลกดิจิทัลที่เราไม่ทราบตัวตนที่แท้จริงของทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
NFT บางอย่างก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกรรม เช่น การออกใบประกาศนียบัตรต่างๆ ในรูปของ NFT จะทำให้เราตรวจสอบความถูกต้องได้ดีกว่าในรูปแบบกระดาษหรือภาพดิจิทัลโดยทั่วไป เพราะ NFT ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนทำให้การตรวจสอบทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ล่าสุดมหาวิทยาลัยหลายแห่งในโลกรวมทั้งมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตในบ้านเราก็ประกาศมอบใบปริญญาบัตรในรูปของ NFT แล้ว
ในเมื่อตลาด NFT ใหญ่ขึ้น มีบริษัทหรือผู้คนออก NFT ขึ้นมามากมาย มีการซื้อขายกันมากขึ้น คำถามที่ตามมาคือ เราควรจะต้องมีการกำกับดูแลเรื่องนี้หรือไม่อย่างไร การปล่อยอิสระมากจนเกินไปก็อาจทำให้เกิดการฉ้อโกงได้ง่ายขึ้น แต่ขณะเดียวกันการออกกฎเกณฑ์ที่เข้มงวดจนเกินไปก็อาจเป็นการปิดกั้นนวัตกรรมทางด้านนี้ และอาจทำให้ไม่สามารถแข่งขันในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้
ทางที่ดีที่สุดคือ ควรมีการกำกับดูแลบ้างในบางเรื่อง เช่น ดูแลตลาดการซื้อขาย NFT ซึ่งจริงๆ แล้วกฎหมายสินทรัพย์ดิจิทัลของประเทศไทยก็ระบุอยู่แล้ว แต่ประเด็นที่สำคัญคือตลาดการซื้อขายส่วนใหญ่จะอยู่ในโลกออกไลน์ที่บริษัทอยู่ต่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถกำกับได้ ดังนั้นหากมีการฉ้อโกงกันบางครั้งก็อาจต้องใช้กฎหมายด้านอื่นๆ เข้าควบคุม เช่น การละเมิดลิขสิทธิ์ กฎหมายการฉ้อโกงอื่นๆ ซึ่งหากปล่อยเสรีจนเกินไปก็อาจเสี่ยงที่ตลาด NFT จะเป็นแหล่งใหม่ในการฟอกเงิน หรือมีการฉ้อโกงทำความเสียหายให้กับประชาชนจำนวนมากได้
ล่าสุดในสหรัฐอเมริกา ตำรวจสามารถจับคนฉ้อโกง Rug Pull NFT ได้ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ยากมาก แต่เจ้าหน้าที่ก็มีความรู้และเทคนิคในการค้นหาต้นตอของการทุจริตได้ รวมทั้งใช้กฎหมายอื่นๆ ในการตั้งข้อกล่าวหา
ดังนั้นทางที่ดีที่สุดในเวลานี้คือ ทุกฝ่ายต้องเร่งทำความเข้าใจกับเรื่องของ NFT และสินทรัพย์ดิจิทัลอื่นๆ เราต้องพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ด้านเทคโนโลยี NFT ใหม่ๆ เหล่านี้ ในขณะที่ภาครัฐก็ต้องพัฒนาบุคคลที่จะต้องรู้เทคโนโลยีและสามารถให้ความช่วยเหลือประชาชนและภาคเอกชนให้สามารถใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ให้เกิดประโยชน์ และป้องกันไม่ให้เกิดการฉ้อโกงที่เข้าข่ายการทำผิดกฎหมายต่างๆ ได้