ปี 2022 นี้จะจบลงอย่างไร? | ศุภวุฒิ สายเชื้อ
เมื่อต้นปีคือ 3 เดือนที่ผ่านมา นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่สรุปว่า เศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ค่อนข้างดี แม้จะต้องเผชิญกับการระบาดของ COVID สายพันธุ์ Omicron แต่ก็มีอัตราการเสียชีวิตต่ำ
โดยเฉพาะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะมีความชัดเจนในครึ่งหลังของปีนี้ โดยอาจเป็นห่วงบ้างว่าธนาคารกลางสหรัฐจะต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยประมาณ 6-7 ครั้งในปีนี้เพื่อควบคุมเงินเฟ้อให้อยู่มือ แต่โดยรวมแล้วจะกลัวว่าเศรษฐกิจจะร้อนแรงเกินไปมากกว่าอ่อนแอจนน่าเป็นห่วงตอนปลายปี 2022
แต่มาถึงวันนี้ การคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจโลกว่า ปีนี้จะจบลงอย่างไรนั้นทำได้ยากยิ่งจริงๆ เพราะมีตัวแปรซึ่งมีความสลับซับซ้อนที่ต้องนำมาพิจารณาหลายตัวแปร ซึ่งผมจะพยายามประเมินโดยสรุปดังนี้
1.สงครามรัสเซีย-ยูเครน น่าจะมีความยืดเยื้อทั้งในสนามรบและผลกระทบต่อโครงสร้างของเศรษฐกิจโลก ในสนามรบนั้นดูเสมือนว่ารัสเซียจะไม่สามารถยึดครองยูเครนทั้งประเทศได้จึงคงจะพยายามแบ่งแยกให้ยูเครนกลายตัวเป็น 2 ประเทศ คล้ายกับเกาหลีเหลือและเกาหลีใต้
แต่ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่จะรุนแรงมากกว่าคือการที่ยุโรปตะวันตกยอมรับไม่ได้ตามที่นาโต้ประกาศว่ารัสเซียได้ “weaponize its energy exports” แปลว่ารัสเซียใช้การส่งออกพลังงานเป็นอาวุธ
ดังนั้น ยุโรปจึงมีแนวนโยบายชัดเจนที่จะต้องลดทอนการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซียให้หมดสิ้นไปภายใน 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งต้องแปลว่ายุโรปจะเข้ามาแย่งซื้อพลังงานจากประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ทำให้ราคาพลังงานสูงอย่างต่อเนื่องไปอีกนับ 5-10 ปี
บางคนอาจคิดว่ารัสเซียสามารถขายพลังงานให้กับอินเดียและจีนแทนได้ แต่การปรับเปลี่ยนระบบการโอนเงินระบบขนส่งพลังงานไม่สามารถทำได้แบบ 1-2 วันหรือ 1-2 ปี
นอกจากนั้นการคว่ำบาตรรัสเซียที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งและการทำประกันภัย ก็จะยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการทำการค้ากับรัสเซีย และยังมีกระแสสังคมที่ทำให้หลายบริษัททั่วโลกต้องยุติการทำธุรกิจกับรัสเซียอีกด้วย
ที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ขนาดของเศรษฐกิจสหภาพยุโรปที่จีดีพีใหญ่ประมาณ 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่เศรษฐกิจอินเดียนั้นจีดีพีมีเพียง 2.6 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ดังนั้น อินเดียจึงจะทดแทนสหภาพยุโรปไม่ได้ในการเป็นตลาดพลังงานให้กับรัสเซีย
2.การชะลอตัวลงของจีนและการต้องวางตัวให้สมดุล ประเทศจีนเป็นผู้นำเข้าพลังงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกและจีดีพีประมาณ 15 ล้านล้านเหรียญสหรัฐเท่ากับสหภาพยุโรป แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจจีนกำลังเผชิญกับการต้อง lockdown ภาคการผลิตและการบริโภคเพราะต้องสกัดการระบาดของ COVID-19 สายพันธุ์ Omicron
ทั้งนี้จีนอาศัยมาตรการดังกล่าวเป็นหลัก ไม่ใช่การฉีดวัคซีนเพราะยังอนุมติเฉพาะวัคซีนเชื้อตาย ยังไม่ได้ฉีดวัควีนประเภทอื่น
(ซึ่งก็ให้การคุ้มครองที่ไม่ได้ดีมากนักจากผลงานวิจัยต่างๆ ที่พบว่า แม้จะฉีดเข็ม 3 ที่เป็นวัคซีนประเภท mRNA ก็จะให้ภูมิคุ้มกันการติดเชื้อ Omicron ได้เพียง 40% ประมาณ 10 สัปดาห์หลังจากการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ซึ่งหลายคนในประเทศไทยก็เจอด้วยตัวเองมาแล้วว่าฉีดไปแล้ว 3 เข็มก็เป็น COVID-19 ได้อย่างง่ายดาย)
เมื่อเศรษฐกิจจีนชะลอตัวก็ย่อมจะช่วยชะลอการปรับขึ้นของราคาพลังงานได้บ้างและจะทำให้การนำเข้าสินค้าทุกประเภทต้องชงักงันลงเช่นกัน
แต่ประเด็นที่สำคัญที่ประเมินได้ยากกว่าคือ การวางตัวของประเทศจีน ที่เป็นพันธมิตรที่แนบแน่นของรัสเซียในเชิงการเมือง และการมีอุดมการณ์ต่อต้านโลกตะวันตกและระบอบประชาธิปไตยร่วมกัน
แต่ในทางเศรษฐกิจนั้นปริมาณการค้าที่จีนทำกับรัสเซียนั้นมีมูลค่าเพียง 150,000 ล้านเหรียญต่อปีหรือ 1/10 ของปริมาณการค้าที่จีนมีกับยุโรปและอเมริกาที่รวมกันมากถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญต่อปี
แต่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจของจีนกับโลกตะวันตกก็น่าจะได้รับผลกระทบในเชิงลบอยู่ดี ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกต้องชะลอตัวลงกว่าที่คาดการณ์เอาไว้เดิมไม่มากก็น้อย
3.การปรับขึ้นของราคาปุ๋ยและราคาอาหาร สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครนนั้นไม่ได้ทำให้ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นเพียงอย่างเดียว แต่ปรากฏว่าราคาปุ๋ยที่ต้องอาศัยก๊าซธรรมชาติในการผลิตและวัตถุดิบจากรัสเซียนั้น ได้ปรับสูงขึ้นมากกว่าการปรับขึ้นของราคาพลังงานเสียอีก
เช่น ดัชนีราคาผู้ผลิตปุ๋ยที่รวบรวมโดยธนาคารกลางสหรัฐพบว่าในช่วงเดือนกันยายน 2021 ถึง กุมภาพันธ์ 2022 (ตัวเลขล่าสุด) ดัชนีราคาปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นจาก 113.4 เป็น 193.9 (ปรับตัวขึ้น 71%) ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบ WTI ในช่วงเดียวกันปรับตัวขึ้นไปจาก 77.6 เหรียญเป็น 95.72 เหรียญ (ปรับตัวขึ้น 23.4%)
แปลว่าในช่วงตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไปที่เกษตรกรจะต้องเริ่มซื้อปุ๋ยมาใช้เพาะปลูกพืชต่างๆ นั้นมีข่าวว่าเกษตรกรจะลดการซื้อปุ๋ยลง 20-30% เพราะไม่สามารถรับภาระราคาปุ๋ยที่สูงขึ้นอย่างมากได้ อันจะทำให้ผลผลิตสินค้าเกษตรในปลายปีนี้น่าจะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
ประกอบกับความสำคัญของประเทศรัสเซีย ยูเครนและเบลารูสที่เป็นแหล่งส่งออกสินค้าเกษตรที่สำคัญของโลกแต่กำลังได้รับผลกระทบกระเทือนจากการทำสงครามและการถูกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ
4.นโยบาย “containment” ที่ใช้ไม่ได้กับ “แฝดสยาม” นโยบายที่สหรัฐและยุโรปกำลังดำเนินการรัสเซียและสหรัฐกำลังหาแนวร่วมในการดำเนินกับจีนนั้นมีความละม้ายคล้ายคลึงกับนโยบายของโลกตะวันตกต่อสหภาพโซเวียตเมื่อ 70 ปีที่แล้วคือนโยบายจำกัดพื้นที่หรือ “containment” ซึ่งมักจะเรียกกันว่าเป็นยุคของสงครามเย็น
แต่นโยบายดังกล่าวผมมองว่าน่าจะทำได้ยากลำบากมากและจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบห่วงโซ่อุปทาน (supply chain) ที่ได้ถูกสร้างขึ้นมาในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา กล่าวคือในช่วงสงครามเย็นนั้นนโยบาย containment สามารถทำได้เพราะการค้าระหว่างโลกเสรีกับสหภาพโซเวียตนั้นไม่น่าจะถึง 5% ของปริมาณการค้าทั้งโลก
ในขณะที่จีนก็ยังปิดประเทศในช่วงทศวรรษ 1950-1990 และมีจีดีพีไม่ถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่มาวันนี้จีนเป็นประเทศผู้ส่งออกรายใหญ่ที่สุดในโลกและนำเข้าเป็นอันดับ 2 หรือ 3 ที่สำคัญคือสำหรับประเทศส่วนใหญ่นั้นประเทศจีน คือ ประเทศคู่ค้าที่มีความสำคัญเป็นอันดับแรกหรืออันดับรองเกือบทั้งสิ้น
แปลว่าความต้องการในเชิงของภูมิรัฐศาสตร์กับความจำเป็นทางเศรษฐกิจนั้น จะขัดแย้งกันอย่างรุนแรงเสมือนกับแฝดสยาม ที่พยายามชกต่อยกันทั้งๆ ที่ท่อนล่างของร่างกายนั้นเชื่อมโยงกันเป็นร่างเดียว
จึงทำให้การคาดการณ์ว่าปี 2022 นี้จะจบลงอย่างไรและแนวโน้มเศรษฐกิจใน 3-5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไรจึงเป็นเรื่องที่คาดการณ์ได้ยากยิ่งครับ.
คอลัมน์ : เศรษฐศาสตร์+สุขภาพ
ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ
นักเศรษฐศาสตร์ และที่ปรึกษาสถาบันวิจัยภัทร
กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร