มนุษยชาติคนสุดท้ายและอนาคตของประวัติศาสตร์ | ไสว บุญมา
เมื่อสองสัปดาห์ก่อน คอลัมน์นี้อ้างถึงหนังสือของนักวิชาการด้านปรัชญาการเมืองและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศชื่อดัง ฟรานซิส ฟูกุยามา เรื่อง The End of History and the Last Man
หนังสือพิมพ์ออกมาครบ 30 ปี แปลตรง ๆ ชื่อของหนังสือคงแปลว่า “สิ้นสุดประวัติศาสตร์และมนุษยชาติคนสุดท้าย” ซึ่งไม่สื่อความหมายนัก จำเป็นต้องอธิบายให้เกิดความกระจ่าง
กล่าวคือ ประวัติศาสตร์สิ้นสุดเมื่อมนุษย์ค้นพบระบบการเมืองที่เหมาะสมที่สุดทำให้ไม่ต้องค้นหาต่อ ระบบนั้นได้แก่ประชาธิปไตย ซึ่งผู้ใช้ชนะฝ่ายผู้ใช้ระบบคอมมิวนิสต์เมื่อปี 2532 ส่งผลให้สงครามเย็นยุติและสหภาพโซเวียตแตกออกเป็น 15 ประเทศรวมทั้งรัสเซียและยูเครน
ส่วนมนุษยชาติคนสุดท้ายหมายถึงมนุษย์ซึ่งเราคุ้นเคยโดยทั่วไปที่มีการแข่งขัน ช่วงชิง เอารัดเอาเปรียบและอิจฉาริษยากัน มนุษย์ลักษณะนี้จะไม่มีอีกต่อไปหลังพวกเขาได้พบระบบการเมืองที่ปรารถนาส่งผลให้มนุษย์ลักษณะใหม่อยู่ด้วยกันต่อไปได้อย่างสันติสุข
หนังสือเล่มนั้นขยายเนื้อหาของบทความเรื่อง The End of History ซึ่งพิมพ์ออกมาเมื่อปี 2532 มุมมองของบทความและหนังสือก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างเข้มข้นและเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นหลังจากการพิมพ์ของทั้งสองไม่แสดงให้เห็นว่ามุมมองของผู้เขียนจะใกล้ความเป็นจริง
ในวาระที่บทความพิมพ์ออกมาครบรอบ 30 ปีเมื่อ 3 ปีก่อน ผู้เขียนได้ให้สัมภาษณ์ซึ่งวิวัฒน์มาเป็นบทความขนาดยาวชื่อ The Last Man and the Future of History หรือ “มนุษยชาติคนสุดท้ายและอนาคตของประวัติศาสตร์” ลงพิมพ์ในนิตยสาร The American Interest บทความนี้มีข้อคิดหลายอย่างรวมทั้งเกี่ยวกับรัสเซียและยูเครนซึ่งกำลังฆ่าฟันกันแทนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
ข้อคิดหลักที่ออกมาจากการสัมภาษณ์นั้นได้แก่ปัจจัยที่จะทำให้ระบบประชาธิปไตยไม่วิวัฒน์ไปจนทำให้เกิดความสันติสุข ปัจจัยนำได้แก่หลังบ้านเมืองมีความสงบและประชาชนมีกินมีใช้อย่างมั่นคงแล้ว พวกเขายังมีความประสงค์จะทำสิ่งต่าง ๆ ที่ยังผลให้ตนมีความโดดเด่นเป็นที่ยอมรับของผู้อื่น
หากสังคมไม่มีเวทีที่เอื้อให้พวกเขาทำได้ในทางสร้างสรรค์ พวกเขาย่อมทำไปในทางตรงข้าม ข้อคิดนี้มีความจริงยืนยันเป็นที่ประจักษ์
นายฟูกุยามาอ้างถึงโปแลนด์เป็นตัวอย่างว่า หลังสงครามเย็นยุติ โปแลนด์พัฒนาได้รวดเร็วกว่าประเทศทั้งหลายในสหภาพยุโรปทำให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นมาก แต่หลังเวลาผ่านไปไม่นานนัก ความไม่พอใจในความเป็นอยู่ก็เริ่มก่อตัวขึ้นในหมู่ชาวโปแลนด์ยังผลให้เกิดความไม่สงบ
นายฟูกุยามาอธิบายต่อไปว่า ปัจจัยที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในโปแลนด์และในอีกหลายประเทศได้แก่ คนรุ่นใหม่ไม่มีประสบการณ์ตรงจากการถูกกดขี่โดยระบบเผด็จการรวมทั้งระบบคอมมิวนิสต์ ซ้ำร้ายยังไม่ใส่ใจในประวัติศาสตร์อีกด้วย
พวกเขาไม่พอใจในข้อบกพร่องของระบบประชาธิปไตยที่สังคมกำลังใช้อยู่ จึงมองหาว่าอะไรน่าจะดีกว่าบ้าง การมองหานี้มีผลทำให้ประวัติศาสตร์ในความหมายของเขาไม่สิ้นสุดดังที่เขาทำนายไว้แต่กลับทำให้เกิดอนาคตต่อ
ระบบที่แข็งแกร่งและเป็นคู่แข่งของประชาธิปไตย ซึ่งถูกรื้อฟื้นขึ้นมาใหม่ได้แก่ ระบบรวมอำนาจ หรือเผด็จการซึ่งรัสเซียใช้หลังการแตกสลายของสหภาพโซเวียตพร้อมกับพยายามจูงใจให้ประเทศอื่นใช้ด้วย
เหตุการณ์เลวร้ายในยูเครนกำลังเกิดขึ้น เพราะรัสเซียมองว่ายูเครนกำลังเริ่มใช้ระบบประชาธิปไตยตามหลายประเทศในยุโรปตะวันออกที่เกิดจากการแตกสลายของสหภาพโซเวียต
เหตุการณ์ต่าง ๆ หลังปี 2532 ชี้ชัดแล้วว่า ประวัติศาสตร์ไม่สิ้นสุดและมนุษย์ที่มีลักษณะดีตามที่ผู้เขียนหนังสือดังกล่าวคาดไว้ไม่น่าจะเกิดขึ้น อย่างไรก็ดี โอกาสที่จะเกิดขึ้นน่าจะพอมีอยู่
ลองจินตนาการดูว่า เหตุการณ์ในยูเครนนำไปสู่สงครามนิวเคลียร์ซึ่งไม่ต่างกับเกิดไฟบรรลัยกัลป์ล้างโลกเมื่อพระศิวะเบิกพระเนตรดวงที่สาม สงครามนี้จะมีผลทำให้มนุษย์ตายหมดยกเว้นเพียงหยิบมือเดียว ผู้ที่รอดมานี้จะมีความตระหนักถึงต้นเหตุและผลของความชั่วร้ายต่าง ๆ ที่นำไปสู่การเกิดไฟบรรลัยกัลป์
ฉะนั้น พวกเขาจะเลี้ยงลูกหลานให้เป็นบุคคลแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม หากเป็นคนดีในแนวที่นายฟูกุยามาคาด หากเป็นเช่นนี้ ปริศนาที่น่าขบคิดคือ ใครจะเป็นบุคคลหยิบมือเดียวนั้น?.