ธุรกิจกับการตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพจิต | พสุ เดชะรินทร์
สถานการณ์โควิดก่อให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพจิตแก่คนทั่วโลก จากความเครียด ความกังวลในเรื่องสุขภาพ ตลอดจนปัญหาที่มาจากการเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน เรียนหนังสือ และ การใช้ชีวิต ทำให้ตัดขาดจากสังคมที่คุ้นเคย
ยังไม่นับจากการขึ้นราคาของน้ำมันและสินค้าบริการต่างๆ ในช่วงที่ผ่านมา ที่ต่อยอดสามารถนำไปสู่ความเครียดและปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มขึ้นได้อีก
จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตคนไทยจากเว็บของกรมสุขภาพจิตตั้งแต่ 1 มกราคม 2020 ถึง 9 เมษายน 2022 พบว่าจากผู้ที่ทำการประเมินทั้งหมดกว่า 3 ล้านคน มีความเครียดสูงร้อยละ 7.59 มีความเสี่ยงซึมเศร้าร้อยละ 8.96 มีความเสี่ยงฆ่าตัวตายร้อยละ 4.95 และมีภาวะหมดไฟร้อยละ
ยิ่งในอนาคตที่ความไม่แน่นอนของสถานการณ์โลก ความไม่จบสิ้นของโควิด สภาพภูมิอากาศที่แย่ลง ตลอดจนการที่จะต้องต่อสู้ดิ้นรนในเรื่องต่างๆ เพื่อความอยู่รอดและความสำเร็จ ทำให้สถานการณ์สุขภาพจิตของคนไทยและคนทั่วโลกก็ไม่น่าจะกลับไปดีขึ้นเหมือนในอดีต
จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ภาคธุรกิจหลายแห่งเริ่มที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในการช่วยเหลือดูแลปัญหาสุขภาพจิตกันมากขึ้น หรือ อีกนัยหนึ่งคือธุรกิจมองเห็นโอกาสจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จึงเริ่มมีผลิตภัณฑ์ บริการ รวมถึงกิจกรรมทางการตลาดที่มุ่งให้ความช่วยเหลือและตอบสนองต่อสถานการณ์ด้านสุขภาพจิตมากขึ้น
ประกอบกับในช่วงหลังได้นักกีฬาหรือคนดังระดับโลกออกมายอมรับถึงปัญหาสุขภาพจิตของตนเอง ทำให้ปัญหาสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องน่าอับอายหรือต้องปิดบังอีกต่อไป ธุรกิจและแบรนด์เริ่มมองเห็นโอกาสในการเข้าถึงลูกค้าผ่านด้านสุขภาพจิตกันมากขึ้น
หนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ได้ยกตัวอย่างธุรกิจที่พยายามนำเรื่องของสุขภาพจิตมาเข้าถึงลูกค้ามากขึ้น เช่น โรงแรม Kimpton ก็มีบริการให้ลูกค้า 1,000 คนได้ใช้บริการด้าน Teletheraphy ฟรี
หรือ เครื่องดื่ม Powerade ที่เป็นเครื่องดื่มบำรุงนักกีฬาของ Coca-Cola ก็ได้ออกโฆษณาโดยเน้นเรื่องของ ‘pause is power’ โดยนำ Simone Biles นักกีฬายิมนาสติกชื่อดังของสหรัฐ ที่ถอนตัวออกจากการแข่งขันในบางรายการในโตเกียวเกมส์เมื่อปีที่แล้ว
จากเหตุผลว่าจิตใจไม่ได้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่จะเข้าแข่งขัน ในโฆษณาดังกล่าว Simone Biles ระบุออกมาเลยว่า “Sometimes you’ve got to stop to be an actual human”
ส่วนค่ายรถอย่างเช่น General Motors ก็จะออกแคมเปญทางสังคมออนไลน์ที่สนับสนุนให้ผู้ขับรถได้ระบายความเครียดออกมาก่อนที่จะขึ้นขับรถ
เนื่องจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ได้ทำให้คนเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก และขณะเดียวกันคนจำนวนไม่น้อยที่ขับรถทั้งที่กำลังเครียด (โปรดนึกถึงฉากในมิวสิควิดีโอที่ตัวเอกกำลังขับรถไปแล้วก็ร้องไห้และซบหน้าไปกับพวงมาลัยในวันฝนพรำ)
Blue Apron บริษัทที่ทำ Meal-Kit หรือส่งอาหารและวัตถุดิบเพื่อให้ลูกค้าไปปรุงเองที่บ้าน ก็ปรับเปลี่ยนตนเองจากการเป็นธุรกิจด้าน Meal-Kit ไปสู่ธุรกิจด้าน Wellness โดยเน้นว่าการทำอาหารด้วยตนเองนั้น เป็นการลดและบำบัดความเครียดวิธีหนึ่ง
บริษัทในจีนเองก็พยายามนำเรื่องของปัญหาสุขภาพจิตมาเพื่อเข้าถึงลูกค้าเช่นกัน หลายบริษัทได้ออกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยชาวจีนผ่อนคลายความเครียดจากสถานการณ์โควิดและทำให้สามารถนอนหลับได้ดีขึ้น
หนังสือพิมพ์ South China Morning Post ได้ระบุว่าชาวจีนจำนวนมากประสบกับปัญหาความเครียดและความกังวลเนื่องจากสถานการณ์โควิด ความเครียดและกังวลดังกล่าวส่งผลต่อการนอนหลับของคนจีน โดยพบว่าร้อยละ 40 ของประชากรจีนที่มีอายุระหว่าง 26 ถึง 35 นอนน้อยกว่าวันละ 5 ชั่วโมง
บริษัทอย่าง XinChao Technology ได้ออกแอปชื่อ CoSleep ที่ช่วยเหลือให้คนสามารถหลับได้โดยง่ายดายขึ้น โดยแอปสามารถติดตามการนอนหลับ การส่งเสียงที่ช่วยทำให้ผู้ใช้หลับได้ง่าย หรือแม้กระทั่งสามารถใช้อัดเสียงว่าผู้ใช้กำลังละเมอเรื่องอะไร โดยทั้งหมดใช้เซ็นเซอร์และไมโครโฟนในการตรวจจับว่าผู้ใช้นอนหลับได้ดีเพียงใด
ในต่างประเทศธุรกิจเริ่มที่จะออกผลิตภัณฑ์ บริการ ที่สามารถเข้าถึงลูกค้า โดยตอบโจทย์เรื่องของสุขภาพจิต ในมุมมองหนึ่งถือก็เป็นโอกาสทางธุรกิจและให้ความช่วยเหลือต่อสังคมด้วย แต่ขณะเดียวกันก็ยังเป็นเรื่องอ่อนไหวที่ธุรกิจจะต้องพิจารณาด้วยความระมัดระวังเช่นเดียวกัน.
คอลัมน์ : มองมุมใหม่
รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์
คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
[email protected]