อนาคตหลังวิกฤติโควิด-19 | ประกาย ธีระวัฒนากุล
แม้ว่าเราจะอยู่กับ วิกฤติโควิด-19 มาเป็นเวลานานพอสมควรแล้ว แต่วิกฤตครั้งนี้ก็ยังไม่จบ แม้วิกฤตยังไม่จบ แต่เราก็ต้องเริ่มคิดถึงเส้นทางเดินในอนาคต แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตต่างๆ กันแล้ว
ไม่ว่าจะเป็นผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวจากวิกฤต ยุทธศาสตร์เศรษฐกิจฐานราก รวมไปถึงการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยให้เพิ่มความเข้มแข็งของเศรษฐกิจภายในประเทศ (Domestic Economy) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Recovery)
วิกฤติโควิด-19 ช่วงที่มานั้นได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยที่มีโครงสร้างทางเศรษฐกิจพึ่งพาการค้าระหว่างประเทศอย่างมาก ประกอบกับเศรษฐกิจฐานรากของไทยซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในภาคเกษตร
แรงงานในภาคเกษตรมีสัดส่วนถึง 30% ของประชากร แต่กลับสร้างมูลค่าต่อเศรษฐกิจไทยน้อยกว่า 10% แม้ว่าที่ผ่านมาภาครัฐจะได้จัดสรรงบประมาณจำนวนมากเพื่ออุดหนุนด้านการเกษตร แต่ภาคเกษตรยังมิได้มีมูลค่าหรือแสดงศักยภาพของประเทศเท่าที่ควร
สถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้แรงงานย้ายถิ่นฐานกลับบ้านเกิดกว่า 1 ล้านคน ซี่งส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือที่ได้สะสมความรู้จากการทำงานในเมือง นี่นับเป็นโอกาสอย่างหนึ่ง ที่เราจะพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสจากการย้ายถิ่นฐานของแรงงานกลุ่มนี้ได้
เป็นที่น่าสนใจว่าเศรษฐกิจฐานรากเป็นรากฐานที่สำคัญ ในขณะที่ปัจจุบันยังมีประเด็นใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับภาคเกษตรและปัญหาความยากจน ดังนั้น หากสามารถเปลี่ยนภาคเกษตรให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนประเทศได้
จะส่งผลให้อนาคตของไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ทั้งในด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจและการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ เพราะเศรษฐกิจฐานรากของไทยมีภาคเกษตร ซึ่งรวมถึงทุนวัฒนธรรมเป็นรากฐานที่ใหญ่ที่สุด
เศรษฐกิจฐานรากสำคัญกับเศรษฐกิจไทย และการแก้จนเกิดขึ้นได้ถ้าร่วมใจและจับมือกัน มาตรการสร้างงาน สร้างรายได้นั้นต้องผลักดันทั้งด้านอุปสงค์และอุปทาน การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากให้ประสบความสำเร็จเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดขึ้นได้
โดยภาคส่วนต่างๆ ต้องปรับเปลี่ยน ภาครัฐเองเป็นปัจจัยสำคัญในการปรับเปลี่ยน ขับเคลื่อนนโยบายและมาตรการ การกระจายอำนาจ การสร้างท้องถิ่นให้มีความเข้มแข็ง รวมไปถึงการมองภาคเกษตรให้ครบทั้ง Value Chain ครอบคลุมถึงการแปรรูปและการเชื่อมโยงกับการท่องเที่ยวชุมชน
การจัดระบบนิเวศที่เหมาะสม เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ ในขณะเดียวกันเกษตรกรเองก็ต้องปรับจากการผลิตแบบดั้งเดิมสู่การผลิตแบบใหม่ และเป็นโอกาสของแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานกลับบ้านในการทำ Digital Transform ภาคเกษตรและการท่องเที่ยวชุมชนเพื่อสนับสนุนเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตและเข้มแข็งได้มากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้นโยบาย และการออกแบบระบบนิเวศที่เหมาะสมเอื้อต่อการส่งเสริมเกษตรกรที่ประกอบการนั้นเป็นสิ่งจำเป็น นโยบายที่สนับสนุนเป็นสิ่งที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ ซึ่งหากไม่ได้ดำเนินการก็ก่อให้เกิดต้นทุนค่าเสียโอกาส
ปัญหาปากท้องและความยากจน เป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่แต่ละประเทศพยายามแก้ไขเพื่อให้พลเมืองมีคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ปัญหาความยากจนก็ยังคงอยู่มาหลายยุคหลายสมัย ปัญหาความจนของประชาชนแต่ละคน แต่ละกลุ่มก็มีปัญหาที่แตกต่างกันไป
ต้นทุนชีวิต พื้นฐานและศักยภาพก็แตกต่างกัน บริบทสภาพท้องถิ่นก็ต่างกันไปด้วย จึงทำให้นโยบายแก้จนแบบกว้างๆ เหมารวมนั้นจึงไม่อาจทำได้ หากแต่ต้องลงไปแก้ให้ตรงจุด ตรงใจคนด้วย
ทุกปัญหามีทางออก เริ่มต้นจากการมองอนาคต มองด้วยเหตุด้วยผล ในโลกแห่ง VUCA World และโควิด-19 ก็นับว่าไม่ง่ายนักที่จะคาดการณ์ หรือใช้เพียงสถิติก่อนหน้านี้มาพยากรณ์ หรือ Forecast หากแต่ต้องวิเคราะห์ปัจจัยขับเคลื่อน จับสัญญาณความไม่แน่นอน คาดการณ์ฉากทัศน์อนาคต ต่างๆ
คิดทั้งกรณีที่เป็นฉากทัศน์ที่ดี (Best Case Scenario) ภาพอนาคตที่เราอยากเป็นอยากให้เกิด รวมไปถึงคิดถึงฉากทัศน์ที่เลวร้าย (Worst Case Scenario) ไว้ด้วย ว่าจะเกิดเหตุการณ์อะไรได้บ้าง
ความเสี่ยงอะไรที่อาจทำให้ประเทศไปถึงจุดวิกฤติร้ายแรง เพื่อที่จะวางยุทธศาสตร์ไม่ให้พลาดท่าไปจุดนั้น หรือหากเกิดขึ้นจริงจะบริหารจัดการสถานการณ์อย่างไร
นอกจากนี้ เพื่อเตรียมพร้อมรองรับกับวิกฤตในรูปแบบต่างๆ ในอนาคต ประเทศควรจัดทำแผนความต่อเนื่องทางเศรษฐกิจของประเทศ (National Economic Continuity Plan) แผนบริหารความเสี่ยง แผนการบริหารการเปลี่ยนแปลงเอาไว้ด้วย
เพราะแม้ว่าวิกฤติโควิด-19 ครั้งนี้จะหนักหนาสาหัสมากแล้ว แต่ใครจะรับประกันได้ว่าอนาคตข้างหน้าเราจะไม่เผชิญกับวิกฤติอีกแล้ว
ไม่มีใครอยากเผชิญกับวิกฤติและความสูญเสีย เราได้สูญเสียมากแล้ว และจะเป็นการสูญเสียราคาแพงมากขึ้นไปอีก หากเราทิ้งบทเรียนนี้ให้ผ่านไปแล้วค่อยไปคิดแก้ปัญหาเอาดาบหน้าตอนเผชิญวิกฤติครั้งถัดไปถาโถมมาอีกครั้ง.
คอลัมน์ : คิดอนาคต
ประกาย ธีระวัฒนากุล
สถาบันอนาคตไทยศึกษา
Facebook.com/thailandfuturefoundation