มองภาพอนาคต 'ประเทศไทย' หลังโควิด-19
ส่องภาพอนาคตของประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด-19 กับความเป็นไปได้ 4 รูปแบบ เริ่มจากระยะควบคุม คลี่คลาย ฟื้นตัว-ปรับตัว ไปจนถึงระยะปรับโครงสร้างใหม่ บน 2 ปัจจัยหลักความไม่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านการควบคุมโรคระบาด
จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 (COVID-19) ได้มีการตั้งคำถามถึงกระบวนทัศน์ในการพัฒนาและการใช้ชีวิตของมนุษย์ พฤติกรรมของประชาชนและผู้บริโภคที่ปรับเปลี่ยน ทำให้โลกหลังโควิด-19 ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
นอกจากนี้ โลกยังคงมีความเสี่ยงและอาจเกิดวิกฤติเชิงซ้อนที่จะส่งผลกระทบความเป็นอยู่ของประชาชน ทุกฝ่ายจึงต้องร่วมกันมองให้ไกลไปในอนาคตเพื่อเตรียมการรับมือวิกฤติเชิงซ้อนของโลก พร้อมกับเปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาสสำคัญในการปรับเปลี่ยนประเทศไทยสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน
สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมกับมูลนิธิสถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future Foundation) ได้ดำเนินการศึกษาและจัดทำภาพอนาคตประเทศไทยหลังเผชิญวิกฤติโควิด-19 และข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนประเทศหลังสถานการณ์คลี่คลาย ผ่านการปรับตัวใน 4 ระยะดังต่อไปนี้
ระยะที่ 1 ควบคุม (Restriction) ระยะพยายามควบคุมการแพร่ระบาดของโรค (เดือนที่ 1-6)
ระยะที่ 2 คลี่คลาย (Reopening) ระยะผ่อนคลายการควบคุมและเริ่มกลับสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม (เดือนที่ 7-12)
ระยะที่ 3 ฟื้นตัวและปรับตัว (Recovery) ระยะการฟื้นตัวและปรับตัวภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย (เดือนที่ 13-18)
ระยะที่ 4 ปรับโครงสร้างใหม่ (Restructuring) ระยะการปรับโครงสร้างระบบเศรษฐกิจและการปรับตัวของสังคมใหม่ (เดือนที่ 19-อนาคต 5 ปีข้างหน้า)
ทั้งนี้ ช่วงเวลานี้แต่ละระยะเป็นการกำหนดตัวเลขเบื้องต้นเพื่อให้เห็นภาพอนาคตเป็นขั้นเป็นตอน ซึ่งระยะเวลาความยาวนานของแต่ละช่วงขึ้นอยู่กับความสามารถในการควบคุมโรคและความไม่แน่นอนของการมีวัคซีน ที่จะส่งผลให้ระยะเวลาในแต่ละช่วงมีการปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง
ฉากทัศน์ภาพอนาคต (Scenarios) ของประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ที่เป็นไปได้มี 4 รูปแบบ ขึ้นอยู่กับ 2 ปัจจัยหลักที่มีความไม่แน่นอน ได้แก่ ปัจจัยด้านการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ และปัจจัยด้านการควบคุมโรคระบาด ว่าสามารถทำได้หรือไม่ ซึ่งหากเปรียบภาพอนาคตประเทศเป็นการเดินทางแล้วนั้น เส้นทางต่างๆ ที่ประเทศไทยอาจต้องเผชิญได้ ดังนี้
ซิ่งทางด่วน (Rosy Scenario) ประเทศไทยสามารถควบคุมโรคได้เบ็ดเสร็จและเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นภาพอนาคตที่เส้นทางราบรื่น เคลื่อนตัวสะดวก ประเทศสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว ในด้านสุขภาพ ประเทศสามารถผ่อนคลายการล็อกดาวน์ได้อย่างราบรื่น ควบคุมโรคได้เบ็ดเสร็จ ภาคเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวอย่างรวดเร็วจากมาตรการด้านเศรษฐกิจของรัฐที่ได้ผล ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวได้และเกิดความยืดหยุ่นของเศรษฐกิจ (Economic Resilience)
ในด้านสังคม ทุกภาคส่วนของสังคมสามารถนำแพลตฟอร์มดิจิทัลมาใช้ประโยชน์ ประชาชนสามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านสุขภาพและด้านดิจิทัลได้อย่างเท่าเทียม นักเรียนและนักศึกษาส่วนมากกลับมาเรียนและศึกษาต่อได้
หลงป่า ติดหล่ม (Doomsday Scenario) ภาพอนาคตที่เลวร้ายที่สุด ประเทศไทยยังมีการระบาดซ้ำในขณะที่เศรษฐกิจหดตัว ทุกอย่างในประเทศหยุดชะงัก ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวนาน โดยในด้านสุขภาพ การระบาดทั่วโลกยังไม่สิ้นสุดลง ประเทศไทยไม่สามารถควบคุมการระบาดซ้ำได้
เศรษฐกิจหดตัว โดยจีดีพี 2563 จะหดตัวอย่างรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ ห่วงโซ่อุปทานของภาคการผลิตและภาคการส่งออกยังหยุดชะงัก ธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจำเป็นต้องปิดกิจการ ทำให้คนตกงานกว่า 10 ล้านคน
วิ่งเลียบผา (Risky Business) ประเทศไทยยังมีการระบาดซ้ำแต่เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว ภาคส่วนต่างๆ เคลื่อนตัวไปได้แต่ยังอยู่บนความเสี่ยง ทำให้ธุรกิจและประชาชนต้องใช้ชีวิตด้วยความระมัดระวัง ด้านสุขภาพประเทศไทยยังไม่สามารถควบคุมโรคได้ ขาดแคลนผลิตภัณฑ์และบริการที่ได้มาตรฐาน ด้านสุขอนามัย ประชาชนไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนได้อย่างทั่วถึง ระบบเศรษฐกิจจะฟื้นตัวด้วยการบริโภคสินค้า การบริการและท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยมีแพลตฟอร์มดิจิทัลเป็นสื่อกลางในการทำธุรกรรมต่างๆ
ในด้านสังคมพบว่าสังคมแบ่งฝักฝ่าย มีการเลือกปฏิบัติและนิยมความเป็นกลุ่มส่วนตัวมากขึ้น คนไทยยังรักษามาตรการเว้นระยะห่าง ยังคงมีการระบาดในต่างประเทศ ทำให้เกิดการระบาดซ้ำ จากกลุ่มคนลักลอบเข้าเมืองแบบผิดกฎหมาย หรือนักท่องเที่ยว ส่วนในด้านการศึกษาการเรียนการสอนมีทั้งแบบออนไลน์และเข้าชั้นเรียน โดยมีหลักสูตรออนไลน์จากต่างประเทศที่น่าเชื่อถือ สามารถนำมาเทียบหน่วยกิตในโรงเรียนและมหาวิทยาลัยได้
ลากเกียร์ต่ำ (Slow but Sure) ประเทศไทยควบคุมโรคระบาดได้เบ็ดเสร็จ แต่ระบบเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัว ในภาพรวมประเทศเดินหน้าได้เรื่อยๆ อย่างช้าๆ ในด้านสุขภาพ ค้นพบวัคซีนและยาที่รักษาได้ผล ทำให้ควบคุมการระบาดได้ภายใน 18 เดือน ผู้คนให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพอนามัยเบื้องต้นมากขึ้น ทำให้โรคติดต่อชนิดอื่นลดลงไปด้วย ส่วนด้านเศรษฐกิจมีปัญหาเนื่องจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ได้ผล เพราะปัญหาเชิงปฏิบัติ
การเติบโตทางเศรษฐกิจเมื่อวัดจากจีดีพีของประเทศไทยติดลบ 6.7% มีคนตกงานมากกว่า 6 ล้านคน ภาคท่องเที่ยว บริการ และการส่งออกถูกกระทบอย่างหนักส่งผลต่อปัญหาทางสังคม ผู้มีรายได้น้อยเดือดร้อนอย่างมากจากการขาดรายได้ เกิดปัญหาหนี้สิน ความเหลื่อมล้ำ อาชญากรรมและปัญหาด้านสุขภาพจิตในมิติของการศึกษามีการผสมผสานการเรียน-การสอนทั้งแบบออนไลน์และเข้าชั้นเรียน แต่อาจมีนักเรียน นักศึกษาและผู้คนบางส่วนที่ไม่สามารถเข้าถึงการเรียนแบบออนไลน์ได้ด้วยข้อจำกัดทางเศรษฐกิจ
จากการวิเคราะห์ภาพอนาคตประเทศไทยและเส้นทางความเป็นไปได้แบบต่างๆ (Scenarios) สามารถสรุปข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยหลังวิกฤติโควิด-19 ได้เป็น 7 ประเด็น ได้แก่ บรรเทาผลกระทบและช่วยในการปรับตัว (Mitigation & Adaptation) ยกระดับทักษะแรงงานและพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Capital) เปลี่ยนผ่านธุรกิจและกิจกรรมสู่โลกดิจิทัล (Digital Transformation) บูรณาการข้อมูลเพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ (Big Data & Intelligence)
สนับสนุนการวิจัย การพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรม (Research, Development, Innovation, Manufacturing : RDIM) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและปลดล็อกกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค (Regulatory Unlock and Infrastructure Development)
นอกจากนี้ สอวช.ยังได้จัดทำทิศทางเชิงกลยุทธ์ (Strategic Direction) หรือการตั้งเป้าหมายในระยะยาวเพื่อกำหนดแนวทางการดำเนินงานใน 11 สาขาที่สำคัญ ได้แก่ เกษตรต้นน้ำ อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมการผลิต การท่องเที่ยว วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และผู้ประกอบการนวัตกรรม เศรษฐกิจฐานราก เศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์และเชิงวัฒนธรรม การบริการภาครัฐ สุขภาพ การศึกษา สังคม
ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลดรายงาน "มองภาพอนาคตประเทศไทย แนวทางการรับมือหลังวิกฤติโควิด-19 ได้ที่เว็บไซต์ของ สอวช. www.nxpo.or.th