ส่องท่าทีโลก 'แต่ละชาติ' รับมือภาษีทรัมป์อย่างไรบ้าง

ท่ามกลางนโยบายสหรัฐที่เปลี่ยนแปลง ไม่แน่นอนในแต่ละวัน ชาติต่างๆ ทั่วโลกต่างหาทางรับมือกับประธานาธิบดีทรัมป์อย่างไร
ท่ามกลางการประกาศ “สงครามภาษีต่อทั่วโลก” จากสหรัฐ เมื่อวันที่ 2 เมษายนที่ผ่านมา และปธน.โดนัลด์ ทรัมป์ยืนยันไม่ถอย ปรับขึ้นภาษีต่อจีนรวมเป็น 104% หลายชาติได้แสดงท่าทีตอบสนองเป็น 2 แบบ ได้แก่ “สู้กลับ” อย่างจีน แคนาดา และสหภาพยุโรป กับ “ยอมเจรจา” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศที่เหลือ ดังนี้
จีน ขึ้นภาษีสหรัฐจาก 34% เป็น 84%
หลังจากทรัมป์ขึ้นภาษีจีนอีก 50% รวมจากเดิมเป็นทั้งหมด 104% จนทำให้สินค้าจีนที่ส่งไป มีราคาแพงขึ้นในตลาดอเมริกา ธนาคารกลางจีนจึงเข้ารักษาเสถียรภาพเงินหยวน เพื่อบรรเทาผลกระทบนี้
ไม่เพียงเท่านั้น ผู้นำระดับสูงของจีนเตรียม “จัดการประชุมระดับสูง” อย่างเร็วที่สุดภายในวันนี้ เพื่อหารือมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และสร้างเสถียรภาพให้กับตลาดทุน โดยล่าสุด จีนประกาศเพิ่มอัตราภาษีเพิ่มเติมสำหรับสินค้าจากสหรัฐจาก 34% เป็น 84%
ใน “สมุดปกขาว” ที่เผยแพร่โดยสำนักสารสนเทศของคณะมุขมนตรีจีนระบุว่า “ภาษีตอบโต้ที่สหรัฐใช้ จะสร้างความเสียหายต่อผลประโยชน์ของทั้งสหรัฐเอง และประเทศอื่นๆ”
“การเก็บภาษีตอบโต้ ถือเป็นการละเมิดกฎขององค์การการค้าโลก (WTO) อย่างรุนแรง ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบการค้าแบบพหุภาคี บ่อนทำลายสิทธิ และผลประโยชน์อันชอบธรรมของประเทศที่ได้รับผลกระทบ” ตามที่ระบุไว้ในสมุดปกขาวเรื่อง “จุดยืนของจีนต่อประเด็นบางประการ เกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และการค้าระหว่างจีน-สหรัฐ”
“ประวัติศาสตร์ได้สอนบทเรียนซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ‘ลัทธิกีดกันทางการค้า’ ไม่ช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในของประเทศใดประเทศหนึ่งให้แข็งแกร่งขึ้นได้” สมุดปกขาวระบุไว้
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศของจีนยืนยันว่า ปักกิ่งจะดำเนินมาตรการที่ “เด็ดขาดและแข็งแกร่ง” เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของตนเอง หลังจากที่ภาษีศุลกากรรวม 104% สำหรับสินค้านำเข้าจากจีน มีผลบังคับใช้
“หากสหรัฐ ต้องการแก้ไขปัญหาผ่านการเจรจา และการพูดคุยอย่างแท้จริง สหรัฐควรแสดงท่าทีที่ตั้งอยู่บนความเสมอภาค การเคารพซึ่งกันและกัน และผลประโยชน์ร่วมกัน” หลิน เจี้ยน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน กล่าว
แคนาดายืนยัน เก็บภาษีตอบโต้ 25% ต่อรถจากสหรัฐ
แม้เป็นประเทศเพื่อนบ้านกันมายาวนาน แคนาดายืนยันตามเดิม เก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ 25% สำหรับรถที่ผลิตในสหรัฐ โดยระบุว่า ภาษีใหม่จะมีผลบังคับใช้ในเวลา 12:01 น. ตามเขตเวลาทางตะวันออกของวันพุธ
เจ้าหน้าที่แคนาดาระบุว่า “จะมีมาตรการยกเว้นภาษี สำหรับผู้ผลิตรถที่ส่งเสริมการผลิตและการลงทุนในแคนาดา รวมถึงจะมีมาตรการช่วยรักษาการจ้างงานภายในประเทศด้วย”
อย่างไรก็ตาม มาตรการเก็บภาษีตอบโต้ของแคนาดา ยังไม่ครอบคลุมถึงชิ้นส่วนรถยนต์ ซึ่งเป็นที่คาดว่า ทรัมป์จะเริ่มเก็บภาษีสำหรับชิ้นส่วนที่ไม่ได้ผลิตในสหรัฐ ภายในวันที่ 3 พฤษภาคม
สหภาพยุโรป ตอบโต้กลับด้วยภาษี 25%
คณะกรรมาธิการยุโรปอนุมัติมาตรการตอบโต้ภาษีทรัมป์ โดยจะเรียกเก็บภาษีนำเข้าส่วนใหญ่ใน “อัตรา 25%” สำหรับสินค้าหลายรายการจากสหรัฐ โดยในขณะนี้ คณะกรรมาธิการฯ กำลังประเมินว่า จะตอบสนองต่อภาษีในกลุ่มรถยนต์และภาษีอื่น ๆ อย่างไรต่อไป
อิตาลี เตรียมเยือนทำเนียบขาว หารือภาษี 0-0
จอร์เจีย เมโลนี นายกรัฐมนตรีอิตาลี มีแผนเดินทางเยือนทำเนียบขาวในวันที่ 17 เมษายน 68 นี้ เพื่อหารือเรื่องภาษี โดยในฐานะสมาชิกของสหภาพยุโรป อิตาลีจึงอยู่ภายใต้การเก็บภาษีตอบโต้ 20% ที่สหรัฐใช้กับกลุ่มสหภาพยุโรปทั้งหมด
หลังจากรัฐบาลอิตาลีหารือกับผู้นำอุตสาหกรรม เกี่ยวกับภาษีของสหรัฐเมื่อวันที่ 8 เมษายน 68 ทั้งรัฐบาล และตัวแทนอุตสาหกรรม “เห็นพ้องกัน” ถึงความจำเป็นในการ “หลีกเลี่ยงสงครามการค้า” ระหว่างสหรัฐ และสหภาพยุโรป
ในการประชุมเหล่านี้ เมโลนี ยังกล่าวว่า "อิตาลีตั้งใจที่จะเสนอแนวทางยกเลิกภาษีตอบโต้ในผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่มีอยู่ โดยใช้สูตร 'ศูนย์กับศูนย์' "
เกาหลีใต้ชูไพ่การต่อเรือ ต่อรองทรัมป์
หลังภาษีทรัมป์ออกมา เกาหลีใต้ประกาศการสนับสนุนเพิ่มเติมมูลค่า 2 พันล้านดอลลาร์หรือราว 70,000 ล้านบาท สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ของตน เพื่อรับมือภาษี 25% จากสหรัฐ
นอกจากนี้ ทางการเกาหลีใต้เผยว่า “อุตสาหกรรมการต่อเรือ” อาจเป็นข้อได้เปรียบสำคัญในการเจรจากับทำเนียบขาว
“เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์ และรัฐบาลของทรัมป์แสดงความสนใจอย่างมากในความร่วมมือด้านการต่อเรือ เราเชื่อว่า อุตสาหกรรมการต่อเรือจะเป็นไพ่ใบสำคัญในการเจรจา” อัน ดุก-กึน รัฐมนตรีกระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงานของเกาหลีใต้ กล่าว
ไต้หวัน พร้อมเจรจาสหรัฐ หลังถูกขู่ TSMC
สำหรับเขตเศรษฐกิจไต้หวัน หลิน เจียหลง รัฐมนตรีต่างประเทศของไต้หวัน กล่าวว่า ไต้หวันพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐเกี่ยวกับภาษี และประเด็นการค้าอื่นๆ
ก่อนหน้านั้น ประธานาธิบดีทรัมป์ขู่เก็บภาษีบริษัทชิปไต้หวัน “TSMC” สูงถึง 100% หากไม่สร้างโรงงานในสหรัฐ โดยทรัมป์ชี้ว่า การจ่ายเงินอุดหนุนให้กับบริษัทชิปเหล่านี้ “ไม่จำเป็น”
“สำหรับ TSMC ผมไม่ได้ให้เงินพวกเขาเลย...สิ่งเดียวที่ผมทำคือ การบอกว่า ถ้าคุณไม่สร้างโรงงานที่นี่ คุณจะต้องจ่ายภาษีก้อนโต” ทรัมป์ กล่าว
ไทย หารือสภา ถกมาตรการรับมือ
ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเปิด “ญัตติด่วน” พิจารณาผลกระทบ และหามาตรการบรรเทาผู้ค้าไทยจากภาษีทรัมป์ โดยที่ประชุมวิปรัฐบาลมีมติให้เลื่อนระเบียบวาระร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจรออกไปก่อน
ด้านศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี เสนอมาตรการ “เงินกู้ปลอดดอกเบี้ย” เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการในระยะสั้น โดยคาดว่าจะใช้งบประมาณ 3,000 ล้านบาท อีกทั้งศุภวุฒิชี้ว่า
“หากรีบเจรจากับสหรัฐมากเกินไป เท่ากับให้ของฟรี โดยไม่ได้อะไรตอบแทน ควรรอดูท่าทีของทรัมป์ต่อประเทศอื่นๆ ก่อน”
ล่าสุด เมื่อใกล้ถึงเส้นตายภาษีจะมีผลบังคับใช้ ทรัมป์ประกาศ “ระงับขึ้นภาษี 90 วัน” ให้ 75 ประเทศที่ไม่ตอบโต้ แต่ขึ้นภาษีจีน 125% แทน
อ้างอิง: bloomberg, news, reuters, reuters(2), cnbc, Reu
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์