แนวโน้มกฎหมายเปิดเผยข้อมูลเงินเดือนในต่างประเทศ | ภาณุพันธุ์-ภูมิภัทร
เราต่างยอมรับกันว่า เงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นข้อมูลละเอียดอ่อน และบริษัทส่วนใหญ่ถือเป็นข้อมูลที่ห้ามพนักงานเปิดเผยต่อบุคคลอื่น ทั้งบุคคลภายในและภายนอกบริษัท
ด้วยเหตุผลว่าการเปิดเผยข้อมูลเงินเดือนนั้นอาจจะก่อให้เกิดความขัดแย้งในที่ทำงาน หรืออาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของบริษัทในทางใดทางหนึ่ง อย่างไรก็ดี ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีแนวคิดที่ว่าการเปิดเผยข้อมูลเงินเดือนและค่าตอบแทนนั้น มีมีความสำคัญและจำเป็น
ดังจะเห็นได้จากในหลาย ๆ ประเทศเริ่มมีการออกกฎหมายที่บังคับให้บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลเงินเดือนในหลาย ๆ บริบท เพื่อเพิ่มความโปร่งใสและบรรลุวัตถุประสงค์ที่แตกต่างกันไป โดยในโอกาสนี้ ผู้เขียนจะนำเสนอในสองหัวข้อ ดังนี้
1. ค่าตอบแทนของผู้บริหารของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์
บรรดาประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ญี่ปุ่น ต่างก็มีกฎหมายหรือกฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเปิดเผยค่าตอบแทนของผู้บริหาร ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันมิให้ผู้บริหารได้รับค่าตอบแทนที่มากเกินควรหรือเพื่อป้องกันโครงสร้างค่าตอบแทนไม่เหมาะสม โดยการเปิดเผยข้อมูลให้คณะกรรมการและผู้ถือหุ้นได้ตรวจสอบ
ในส่วนของประเทศไทยเองนั้น ก็มีการใช้กฎเกณฑ์นี้เช่นดียวกัน
คำว่า “โครงสร้างค่าตอบแทนไม่เหมาะสม” ในที่นี้หมายถึง โครงสร้างของค่าตอบแทนที่ไม่สามารถแรงจูงใจในการทำงานที่เหมาะสมให้กับผู้บริหารได้ โดยหลักการในการสร้างแรงจูงใจในการทำงานนั้น จะมีสัดส่วนของ stock option หรือการออกแบบค่าตอบแทนที่เชื่อมโยงกับผลประกอบการของบริษัทเป็นสิ่งสำคัญ
ทั้งนี้ ประเด็นที่ว่าโครงสร้างของค่าตอบแทนสามารถแรงจูงใจในการทำงานที่เหมาะสมให้กับผู้บริหารได้หรือไม่นั้น เป็นประเด็นที่ต่างประเทศให้ความสำคัญและอาจจะมากกว่าการพิจารณาในมิติที่ว่าค่าตอบแทนของผู้บริหารสูงหรือต่ำเสียด้วยซ้ำ
อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตามแนวโน้มแล้ว แนวโน้มโดยรวมของกฎหมายหรือกฎเกณฑ์ของในหลาย ๆ ประเทศก็เป็นไปในทางที่จะให้เปิดเผยข้อมูลของค่าตอบแทนของผู้บริหารให้ละเอียดยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ โดยใช้วิธีที่แตกต่างกันไป
เช่น ในสหรัฐอเมริกา ณ ปัจจุบันนั้นมีการให้เปิดเผยค่าตอบแทนของซีอีโอ และผู้บริหารลำดับสูง เป็นรายบุคคลโดยมีรายละเอียดในการเปิดเผยค่อนข้างมาก
ในส่วนของสหราชอาณาจักร มีการบังคับให้บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์เปิดเผยข้อมูลอัตราส่วนของค่าตอบแทนของผู้บริหาร เปรียบเทียบกับค่าตอบแทน ณ เปอร์เซ็นไทล์ที่ 25 50 และ 75 ของเงินเดือนพนักงานทั้งบริษัท
ในส่วนของประเทศญี่ปุ่น บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ มีหน้าที่ที่จะต้องรายงานชื่อของผู้บริหาร ที่ได้ค่าตอบแทนสูงกว่า 100,000,000 เยนต่อปี (หรือประมาณ 30 ล้านบาท) และจำนวนค่าตอบแทนผู้บริหารดังกล่าวแต่ละคนได้รับ
ในส่วนของประเทศไทย บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ก็มีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลค่าตอบแทนผู้บริหาร แต่ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลเป็นรายบุคคล
2. การเปิดเผยข้อมูลเงินเดือนเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างค่าจ้างของแรงงานหญิงและชาย (gender pay gap)
การออกกฎหมายเกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูลเงินเดือน เพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างค่าจ้างของแรงงานหญิงและชาย ก็เป็นแนวโน้มอีกประการหนึ่งที่น่าจับตามอง จากข้อมูลของ Statista ปรากฏว่าในประเทศสหรัฐอเมริกา ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างของแรงงานหญิงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของค่าจ้างของแรงงานชาย ประมาณ 17%
ตัวเลขนี้ได้ลดลงจากประมาณ 28% ในปี ค.ศ. 1990 หากพิจารณาจากข้อมูลของ OECD จะพบว่าในกลุ่มประเทศ OECD ค่าเฉลี่ยของค่าจ้างของแรงงานหญิงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของค่าจ้างของแรงงานชาย ประมาณ 11.6%
โดยประเทศเกาหลีใต้นั้นมีช่องว่างที่กว้างที่สุดในกลุ่มประเทศ OECD เนื่องจากค่าเฉลี่ยของค่าจ้างของแรงงานหญิงน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของค่าจ้างของแรงงานชาย ถึงกว่า 30%
ในประเด็นนี้ หลาย ๆ ประเทศก็ได้มีการออกกฎหมายบังคับให้มีการเปิดเผยข้อมูล โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อแก้ไขปัญหาช่องว่างระหว่างค่าจ้างของแรงงานหญิงและชาย ตัวอย่างเช่น ตั้งแต่ ค.ศ.2018 สหราชอาณาจักรออกกฎหมายมาบังคับให้บริษัทที่มีพนักงานตั้งแต่ 250 คนขึ้นไป เปิดเผยข้อมูล ค่าเฉลี่ย และค่ามัธยฐานของข้อมูลเกี่ยวกับค่าจ้างและโบนัสของแรงงานหญิงและแรงงานชาย
อีกกรณีศึกษาที่เป็นข่าวดังในช่วงนี้คงหนีไม่พ้น การแก้ไข New York City Human Rights Law ของเมืองนิวยอร์กที่จะมีการบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้
กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้นายจ้างที่มีพนักงานเกินกว่า 4 คนในเมืองนิวยอร์ก จะต้องเปิดเผยข้อมูลของช่วงเงินเดือนต่ำสุดและสูงสุด สำหรับทุกตำแหน่งที่เปิดรับสมัครในเมืองนิวยอร์ก และมีผลบังคับต่อการโฆษณารับสมัครพนักงาน ทั้งนอกบริษัทและภายในบริษัท
โดยนิวยอร์กถือเป็นรัฐที่สองตามหลังโคโลราโดซึ่งบังคับให้มีการเปิดเผยเงินเดือนในกรณีที่มีการโฆษณารับสมัครงาน และในขณะนี้ก็ยังมีอีกหลายรัฐที่กำลังพิจารณากฎหมายในลักษณะเดียวกัน
แนวโน้มในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับเงินเดือนในต่างประเทศ น่าจะกำลังมุ่งหน้าไปสู่การเปิดเผยที่มากขึ้นเป็นลำดับไป และเป็นที่น่าจับตามองต่อไปว่าการเปิดเผยข้อมูลจะให้ผลลัพธ์ดีขนาดไหน หรือมีผลกระทบอย่างไร
และแนวโน้มของกฎหมายของต่างประเทศจะมุ่งหน้าต่อไปในทิศทางใด และในส่วนของประเทศไทยเองนั้นจะมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอย่างไร.
คอลัมน์ : Business&Technology Law
ภาณุพันธุ์ อุดมสุวรรณกุล
[email protected]
ภูมิภัทร อุดมสุวรรณกุล
[email protected]
ที่ปรึกษากฎหมายด้าน M&A ไทย-ญี่ปุ่น