เศรษฐกิจถดถอยกับพอร์ตความมั่งคั่ง

เศรษฐกิจถดถอยกับพอร์ตความมั่งคั่ง

ช่วงนี้เรื่องของสงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียเริ่มคลายความร้อนแรงลง แต่ศัพท์ทางเศรษฐกิจหรือตัวแปรที่เกี่ยวข้องกับทางเศรษฐกิจจะถูกพูดกันบ่อยมากทั้งในโลกจริงและในโซเชียล

ซึ่งสะท้อนต่อความกังวลของนักลงทุน และส่งผลต่อความผันผวนในตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ตลอดจนมาตรการของธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาที่จะทำการขึ้นอัตราดอกเบี้ย และทำการลดการอัดฉีดเงินหรือ Quantitative tapering ซึ่งได้ดำเนินการมาเพื่อช่วยพยุงและทำให้เศรษฐกิจขยายตัวหลังช่วงโควิด 

รวมไปถึงความกังวลว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอย เนื่องจากการเกิดอัตราผลตอบแทนผกผันหรือ inverted yield curve อันสืบเนื่องมาจากการที่ผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาว 10 ปีเกิดน้อยกว่าพันธบัตรระยะสั้น 2 ปี โดยถ้าเป็นภาวะปกติผลตอบแทนของพันธบัตรระยะยาวควรที่จะสูงกว่าพันธบัตรระยะสั้นเพื่อชดเชยต่อความเสี่ยงของการให้กู้ในระยะเวลาที่ยาวกว่า

วันนี้เราลองมาดูในเรื่องของเศรษฐกิจถดถอยหรือ recession ที่เคยเกิดขึ้นในอดีตของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมถึงดูว่าปัจจัยอะไรที่สามารถทำนายว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ รวมถึงดูถึงผลกระทบต่อตลาดหุ้นกัน เริ่มจากนิยามของคำว่าเศรษฐกิจถดถอยก่อนว่าเมื่อไหร่เราถึงจะเรียกว่าเราเข้าสู่ยุคของเศรษฐกิจถดถอย เศรษฐกิจถดถอยตามนิยามของสำนักงานวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติ (NBER)

หมายถึงช่วงเวลาที่เกิดการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลักๆและกินเวลานานหลายเดือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากตัวเลขการเติบโตของเศรษฐกิจ GDP ที่ลดลง ค่าจ้างแรงงาน ตัวเลขการจ้างงาน การผลิตทางอุตสาหกรรม และตัวเลขค้าปลีกค้าส่งเป็นต้น จากเดิมที่เราเคยใช้ตัวเลขง่ายๆเพื่อระบุถึงเศรษฐกิจถดถอยว่าจะเกิดเมื่อเราเห็นตัวเลข GDP ปรับลดลงติดต่อกัน 2 ไตรมาส

แม้เราจะคุ้นเคยกับภาพของการที่เราเห็นเศรษฐกิจเติบโตเป็นส่วนใหญ่ แต่ในอดีตที่ผ่านมาอเมริกาก็เคยเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยมาหลายครั้งด้วยกัน จากตัวข้อมูลของธนาคารกลางสาขาเซนต์หลุยส์ ถ้านับจากปี 1854 นับได้ 34 ครั้ง หรือถ้านับจากช่วงใกล้ๆตั้งแต่ 1990 เกิดขึ้น 4 ครั้ง ได้แก่ ช่วงสงครามอ่าว(ก.ค. 1990-มี.ค. 1991) วิกฤติดอทคอม (มี.ค. 2001 - พ.ย.2001) วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ (ธ.ค. 2007-มิ.ย. 2009) และล่าสุดคือวิกฤติโควิด (มี.ค.2020-เม.ย. 2020) ซึ่งเป็นการเกิดเศรษฐกิจถดถอยที่สั้นที่สุดเพียงแค่ 2 เดือนเท่านั้น

แล้วเราสามารถทำนายหรือคาดการณ์ว่าจะเกิดเศรษฐกิจถอยได้หรือไม่ เราอาจใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจเช่น การลดลงของตัวเลขความมั่นใจของผู้บริโภค การลดลงของดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจ ตัวเลขการว่างงานที่สูงขึ้น เพื่อคาดการณ์โอกาสการเกิดเศรษฐกิจถดถอย หรือเราอาจใช้ตัวเลขจากตลาดทุนที่เราสามารถหาได้ง่ายกว่า

จากงานวิจัยของ Pyung Kun Chu เมื่อปี 2021 ระบุว่า ส่วนต่างระหว่างพันธบัตรระยะยาว (10ปี) และระยะสั้น(3 เดือน) (Long term Spread) เป็นตัวแปรที่สำคัญที่สามารถใช้พยากรณ์การเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้ บางคนใช้ส่วนต่างของพันธบัตร 10 ปี และพันธบัตร 2 ปี ซึ่งเป็นที่พูดถึงกันมากในช่วงนี้เนื่องจากมีบางช่วงที่ส่วนต่างนี้ลดลงมาใกล้ 0 และมีบางวันที่ต่ำกว่า 0 ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาถ้าเราเห็นตัวเลขผลตอบแทนผกผันเราสามารถคาดการณ์ว่าจะเกิดเศรษฐกิจถดถอยในอีก 6 เดือนถึง 1 ปีข้างหน้าได้

นอกจากส่วนต่างของผลตอบแทนระยะยาวแล้วส่วนต่างระยะสั้นของผลตอบแทนพันธบัตร 3 เดือนและอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Fed Fund Rate) สามารถนำมาทำนายการเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้เช่นกัน เช่นเดียวกับการใช้ค่าส่วนต่างเพื่อชดเชยการผิดนัด (Credit default spread)

ซึ่งคำนวณได้จากส่วนต่างของผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาลซึ่งมีความมั่นคงสูงและผลตอบแทนของหุ้นกู้เรตติ้งต่ำเช่นในงานวิจัยใช้เรตติ้ง BAA- (หรือ BBB-) ก็เป็นอีกตัวแปรที่ใช้พยากรณ์ได้เช่นกัน โดยถ้าส่วนต่างนี้สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโอกาสของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยก็จุสูงขึ้นด้วย

ตัวเลขที่มาจากตลาดหุ้นก็สามารถนำมาเป็นตัวแปรในการพยากรณ์โอกาสของการเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้เช่นกัน เนื่องจากตลาดหุ้นเป็นธุรกรรมสำคัญที่สะท้อนต่อความมั่นใจของนักลงทุนต่อเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เมื่อนักลงทุนในตลาดเกิดความกังวลก็จะส่งผลให้ตลาดหุ้นเกิดความผันผวนของราคา ในงานวิจัยระบุว่าตัวเลขความผันผวนของตลาดหุ้นสามารถพยากรณ์โอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอยได้อย่างมีนัยสำคัญ

แล้วพอร์ตความมั่งคั่งของเราจะเป็นอย่างไร การที่เศรษฐกิจทั้งระบบเกิดการเสื่อมถอยจนเกิดเป็นช่วงเศรษฐกิจถดถอยย่อมส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวม และส่งผลต่อตลาดทุนได้ หากพิจารณาจากตัวเลขดัชนี S&P500 ในช่วงก่อน หลัง และระหว่างเกิดเศรษฐกิจถดถอยจะพบว่า*

1 ผลตอบแทนจะติดลบในช่วงก่อนเกิดเศรษฐกิจถดถอยมากกว่าช่วงที่เกิดเศรษฐกิจถดถอย(เฉลี่ย -1% ติดลบมากสุด -37%) โดยช่วง 12 เดือนก่อนเกิดจะติดลบมากสุด (เฉลี่ย -3%) ตัวเลขการติดลบระหว่างที่เกิดเศรษฐกิจถดถอยมากสุดจากวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ และตัวเลขการติดลบก่อนเกิดจะมากสุดจากช่วงวิกฤติดอดคอม

2 ไม่ได้หมายความว่าตลาดจะติดลบทุกครั้ง เราอาจพบการติดลบของตลาดหุ้นประมาณ 55% จากการเกิดเศรษฐกิจถดถอยทั้งหมด

3 หลังจากเกิดเศรษฐกิจถดถอยตลาดหุ้นจะให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยกลับมาเป็นบวกทั้งช่วง 6 เดือน 12 เดือนและมากสุดที่ 2 ปี (บวกโดยเฉลี่ย 20%)

แม้ว่าตอนนี้เราจะยังไม่ได้เกิดเศรษฐกิจถดถอยจริง แต่ก็ควรต้องอยู่ในความไม่ประมาท ควรกระจายพอร์ตความมั่งคั่ง ปรับกลุ่มสินทรัพย์ให้เหมาะกับภาวะเศรษฐกิจช่วงตั้งรับ หรือลดสินทรัพย์เสี่ยงลงบ้าง เพื่อไม่ให้พอร์ตของเราผันผวนเกินไป ท้ายสุดนี้ผมก็ขออวยพรให้ท่านผู้อ่านทุกๆท่านมีความสุขและโชคดีในการลงทุนครับ 

* (How Stocks Perform Before, During, And After Recessions May Surprise You : Kristin McKenna Forbes Aril 1 2022)