โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว โอกาสลงทุนเพื่อพึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืน
สวัสดีครับสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่กำลังดำเนินอยู่ในขณะนี้ ได้นำไปสู่การกดดันรัสเซียด้วยมาตรการคว่ำบาตรด้านต่างๆ ซึ่งสำนักวิจัยหลายแห่งวิเคราะห์ว่าการคว่ำบาตรดังกล่าวได้หนุนให้ราคาสินค้าพลังงานรวมถึงราคาโลหะในประเทศที่เคยนำเข้าจากรัสเซียปรับตัวสูงขึ้น
หากสถานการณ์นี้ยังคงดำเนินต่อไปก็อาจส่งผลต่อความมั่นคงด้านพลังงานของกลุ่มประเทศที่อาศัยก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากรัสเซีย รวมถึงอาจกระทบต้นทุนในอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธุรกิจก่อสร้าง ภาคขนส่ง เป็นต้น
เหตุการณ์นี้แสดงให้เห็นว่าการที่เราอยู่ในยุคที่เศรษฐกิจและการค้าทั่วโลกสามารถเชื่อมโยงกันได้อย่างไร้รอยต่อนั้น (Globalization) เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองก็สามารถส่งผลกระทบเป็นวงกว้างสู่ประเทศอื่นเช่นกัน โดยเฉพาะหากมีการนำเข้าสินค้าจากประเทศคู่ขัดแย้งดังกล่าว เห็นได้ชัดว่าการพึ่งพาทรัพยากรจากภายนอกประเทศอาจทำให้เสียเสถียรภาพด้านต่างๆ ยามที่ประเทศคู่ค้าเกิดปัญหาความไม่สงบ
ปัจจุบันหลายประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการพึ่งพาตนเองด้วยโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแรงในประเทศ จึงวางแผนพัฒนาให้ประเทศตนพร้อมรับมือกรณีเกิดการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทานหากเกิดวิกฤตอื่นใดในอนาคตที่ยืดเยื้อเป็นเวลานานจนส่งผลลบต่อเนื่อง หนึ่งในตัวเลือกที่น่าสนใจคือการลงทุนใน
โครงสร้างพื้นฐานสีเขียว (Green Infrastructure) ซึ่งนอกจากโครงการที่ต้องเร่งพัฒนาเพื่อความมั่นคงของประเทศในมิติต่างๆ แล้ว ยังครอบคลุมโครงสร้างพื้นฐานทั่วไปเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในระยะยาว
หากมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา องค์กร Climate Bonds Initiative ได้เผยแพร่รายงาน Green Infrastructure Investment Opportunities Thailand 2021 Report (Thai GIIO) ที่จัดทำร่วมกับ Asian Development Bank สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะภายใต้กระทรวงการคลัง โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากจัดทำขึ้นเพื่อนำเสนอทางเลือกการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคาร์บอนต่ำในไทย และถือได้ว่าเป็นทั้งแผนที่และเข็มทิศชี้ทางที่วิเคราะห์การลงทุนในตราสารหนี้สีเขียวเพื่อสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวระหว่างภาคส่วนต่างๆ ในไทย ชี้โอกาสในการลงทุนระยะสั้นและระยะกลางใน 4
หมวดสำคัญ ได้แก่ พลังงานหมุนเวียน ระบบขนส่งที่ยั่งยืน การบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืน และการบริหารจัดการของเสียอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยได้ดำเนินนโยบายเอื้ออำนวยการลงทุนที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งกำหนดโมเดลเศรษฐกิจสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติในปี 2564 ล้วนทำให้ตลาดผลิตภัณฑ์ทางการเงินเพื่อความยั่งยืนเติบโตขึ้น นำไปสู่การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โครงการที่กล่าวถึงในรายงาน Thai GIIO มีทั้งโครงการที่อยู่ในแผน โครงการที่กำลังดำเนินการ และโครงการที่เสร็จสิ้นแล้ว โดยข้อมูลนี้เป็นประโยชน์ในฐานะต้นแบบสำหรับต่อยอดโครงการลงทุนเพิ่มเติม ผมขอยกตัวอย่างโครงการสำหรับโครงสร้างพื้นฐานบางด้านดังนี้
พลังงานหมุนเวียน – โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ติดตั้งทุ่นแผงโซลาร์เซลล์บนพื้นที่ผิวน้ำประมาณ 450 ไร่ จุดเด่นคือสามารถผลิตไฟฟ้าจากทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ในเวลากลางวัน และพลังน้ำจากเขื่อนที่มีอยู่เดิมในช่วงที่ไม่มีแสง ช่วยให้การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสม่ำเสมอและต่อเนื่อง อีกทั้งวัสดุที่ใช้ไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศใต้น้ำ กฟผ. เริ่มจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2564 จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 47,000 ตันต่อปี ตอบโจทย์พลังงานสะอาดช่วยลดภาวะโลกร้อน
การจัดการน้ำอย่างยั่งยืน – โครงการก่อสร้างอุโมงค์ระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี จากคลองภาษีเจริญถึงคลองสนามชัย มีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับและระบายปริมาณน้ำหลากในพื้นที่ฝั่งธนบุรี โดยอุโมงค์มีความยาวประมาณ 9.195 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่เขตภาษีเจริญ เขตบางแค เขตบางบอน และเขตบางขุนเทียน ประสิทธิภาพการระบายน้ำอยู่ที่ 48 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที โครงการนี้เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาระบบอุโมงค์ระบายน้ำของกรุงเทพมหานครเพื่อการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างยั่งยืน มีกรอบวงเงินงบประมาณ 6,130 ล้านบาท คาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จประมาณปี 2569
การคมนาคมที่ยั่งยืน – โครงการระบบขนส่งมวลชนจังหวัดเชียงใหม่ สายสีแดง เป็นโครงการที่วางแผนดำเนินในรูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ในการเดินทางของประชาชนและนักท่องเที่ยวในจังหวัดเชียงใหม่ ลดมลพิษจากการใช้เชื้อเพลิงจากเดิมที่ใช้รถยนต์เดินทางกันเป็นหลัก วงเงินลงทุนโดยประมาณคือ 27.2 พันล้านบาท
ตัวอย่างโครงการเหล่านี้รวมถึงโครงการโครงสร้างพื้นฐานสีเขียวอื่นๆ เป็นโครงการขนาดใหญ่ หลายโครงการต้องอาศัยการลงทุนจากทั้งทางรัฐและเอกชน ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจึงเป็นปัจจัยสำคัญในการผลักดันโครงการพื้นฐานสีเขียวเพื่อนำพาประเทศไปสู่ความเข้มแข็งและยั่งยืนในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะภาวะปกติหรือภาวะสงคราม (Resilience) ได้อย่างแท้จริงครับ