ยังแข็งแกร่ง! ผลประกอบการแบรนด์หรู กลุ่มที่ยังสามารถสู้เศรษฐกิจถดถอย
เปิดผลประกอบการแบรนด์หรู ยอดขาย กำไรยังแข็งแกร่ง เติบโตสวนกระแสเศรษฐกิจถดถอย เป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจลงทุนในช่วงเงินเฟ้อสูง ส่วนจะมีแบรนด์อะไรบ้างนั้น ติดตามอ่านได้จากบทความชิ้นนี้
เป็นระยะเวลาเกือบ 3 ปีแล้ว ที่ทั่วโลกเผชิญกับภาวะการแพร่ระบาดของไวรัส COVID-19 หลายบริษัทยังคงได้รับผลกระทบจากการต้องปิดทำการ หรือยอดขายที่ลดลงจากอุปสงค์ที่ชะลอตัวลงทั่วโลก และได้สะท้อนผ่านตัวเลขผลประกอบการที่ออกมาหดตัว ในขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อในหลายประเทศยังอยู่ในระดับสูง ส่งผลให้ธนาคารหลายแห่งกลับมาเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย และความกังวลที่เศรษฐกิจอาจกลับมาเผชิญกับสภาวะถดถอย ส่งผลให้นักลงทุนกลับมาลดความเสี่ยง และเทขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมา อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่ายังมีบางอุตสาหกรรมที่ผลประกอบการยังออกมาเติบโตได้ดี เช่น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับสินค้าแบรนด์หรู อย่างรถยนต์ กระเป๋า รองเท้าผ้าใบ เครื่องสำอางค์ ที่แทบจะไม่ได้รับผลกระทบในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว และยอดขายยังเติบโตได้ดีในช่วงที่เศรษฐกิจผันผวน
ภาพตัวอย่างแบรนด์หรูที่ผลประกอบการออกมาแข็งแกร่ง
- Ferrari รถยนต์หรูสัญชาติอิตาเลียน
Ferrari รถยนต์หรูสัญชาติอิตาเลียน ที่กำไรสุทธิออกมาเติบโตสูงถึง 251 ล้านยูโรในช่วงไตรมาส 2 และเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ 206 ล้านยูโร ในปี 2021 หรือเติบโตขึ้น 22% ในขณะที่รายได้ปรับเพิ่มขึ้นราวหนึ่งในสี่อยู่ที่ 1.29 พันล้านยูโร และยอดส่งสินค้าปรับตัวขึ้น 29% อยู่ที่ 3,455 คัน โดยยอดขายหลักมาจากฝั่งสหรัฐฯ ที่ 1,053 คัน จาก 649 คันในปี 2021 หรือเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกัน โดยยอดขายหลักมาจากรุ่นยอดนิยมอย่าง V8-powered Portofino M Convertible และรถยนต์ที่เน้นการขับขี่ F8 mid-engine และล่าสุดมีการยืนยันว่า บริษัทจะเริ่มการผลิต V6-powered hybrid 296 GTB ที่คาดว่าจะช่วยหนุนยอดขายเพิ่มหลังจากนี้อีกด้วย ปัจจุบันบริษัทได้มีการปรับเพิ่มคาดการณ์รายได้สุทธิที่อยู่ที่ 4.9 พันล้านยูโร จากเดิมที่มองไว้ที่ 4.8 พันล้านยูโร สะท้อนถึงอุปสงค์ในรถหรูที่ยังคงแข็งแกร่ง
- Moet Hennessy Louis Vuitton (LVMH) แบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศส
LVMH แบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศส ที่มีแบรนด์สินค้าในเครือกว่า 75 แบรนด์ ที่หลายคนน่าจะคุ้นเคยกันดี เช่น Louis Vuitton, Christian Dior, Marc Jacobs, Celine, Bvlgari และ Fendi เป็นต้น ได้รายงานผลประกอบการในช่วงครึ่งปีแรกที่ยอดขายออกมาขยายตัวถึง 28% YoY ที่ 36.7 พันล้านยูโร และกำไรปรับตัวขึ้น 34% ที่ 10.2 พันล้านยูโร ซึ่งหลักๆ มาจากฝั่งยุโรป และสหรัฐฯ ซึ่งช่วยชดเชยผลกระทบจากการ Lockdown ในจีนซึ่งเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดของ LVMH
ถึงแม้ว่าจะมีประเด็นที่หลายคนกังวลอย่าง เงินเฟ้อ ที่ปรับตัวสูงขึ้น ปัญหาด้านการขนส่ง หรือข้อพิพาทระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ตัวเลขยอดขายและกำไรที่เติบโตได้ดีก็แสดงให้เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการจับจ่ายใช้สอยในกลุ่มผู้มีฐานะ
- Christian Dior อีกหนี่งแบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศส ภายใต้เครือ LVMH
Christian Dior เป็นอีกหนึ่งแบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศสที่รายได้ในช่วงไตรมาส 2 ออกมาขยายตัว 27% โดยรายได้จากธุรกิจหลักขยายตัวได้ 19% เติบโตได้ใกล้เคียงกับไตรมาสแรก รายได้หลักมาจากฝั่งสหรัฐฯ และยุโรป สวนทางกับรายได้จากฝั่งเอเชียที่ยังคงหดตัวจากมาตรการ Lockdown ในจีน ทั้งนี้ในช่วงครึ่งปีแรก กำไรปรับตัวเพิ่มขึ้น 34% ที่ 10.23 พันล้านยูโร และอัตรากำไรจากผลการดำเนินงานแตะระดับ 27.9% ของรายได้ มากกว่าครึ่งปีแรกของปี 2021
- Hermes แบรนด์เครื่องหนังสัญชาติฝรั่งเศส
Hermes แบรนด์เครื่องหนังสัญชาติฝรั่งเศส รายได้อยู่ที่ 5,475 ล้านยูโร ในช่วงครึ่งปีแรก เป็นการปรับตัวขึ้น 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2021 ด้านกำไรสุทธิอยู่ที่ 1,641 ล้านยูโร โดยยอดขายในไตรมาส 2 อยู่ที่ 2,710 ล้านยูโร ปรับตัวถึง 26% หนุนยอดขายของทุกๆ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทที่เพิ่มขึ้น และหากเจาะเป็นรายภูมิภาค ยอดขายในอเมริกา ยุโรป และเอเชีย ยังคงเติบโตแข็งแกร่ง ถึงแม้จะมีประเด็นเรื่องการ Lockdown ในจีน แต่ยอดขายผ่านทาง Online ยังเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ปัจจุบันบริษัทมีปัจจัยหนุนเพิ่มเติมจากการเปิดเศรษฐกิจในหลายประเทศ และการกลับมาเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น ซึ่งส่งผลให้ยอดขายในฝั่งร้านค้าก็ปรับตัวดีขึ้นเช่นกัน
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้เราจะเห็นการชะลอตัวของการใช้จ่ายในสินค้าและบริการหลายประเภท จากราคาสินค้า และบริการที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา แต่กับสำหรับสินค้าแบรนด์หรูนั้น เรายังเห็นอุปสงค์ในสินค้าที่ยังมีความแข็งแกร่ง จากผู้มีความมั่งคั่งมักจะเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะได้รับผลกระทบ ทำให้กลุ่มสินค้าแบรนด์หรู แทบจะไม่ได้รับผลกระทบในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ยอดขาย และกำไรก็ยังสามารถเติบโตได้ดีต่อเนื่อง ทำให้กลุ่มธุรกิจแบรนด์เนม เป็นอีกหนึ่งธีมการลงทุนที่น่าสนใจในช่วงเงินเฟ้อสูงเช่นนี้
ที่มา: Apnews.com, wsj.com,cnbc, Bloomberg
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และ www.tiscoasset.com หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds