ไขความเข้าใจ ปม "ค่าการกลั่น" กับ "กำไร" ของโรงกลั่น
"ค่าการกลั่น" กำลังเป็นประเด็นที่อยู่ในความสนใจของสังคม โดยเฉพาะตัวเลขผล "กำไร" ของธุรกิจโรงกลั่นที่ถูกตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้ว มีที่มาที่ไปอย่างไรบ้าง เรามาไขคำตอบ และทำความเข้าใจที่ถูกต้องไปด้วยกัน
ปัญหา "ราคาน้ำมันแพง" กลายเป็นประเด็นยอดฮิตที่คนใช้รถมักหยิบยกมาพูดคุยกันในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา แต่ยังมีอีกหนึ่งเรื่องมีการพูดถึงมากเช่นกัน นั่นก็คือ "ค่าการกลั่นน้ำมัน" ที่หลายคนตั้งคำถามว่า "โรงกลั่น" กำไรสูงไปหรือไม่ จึงรวบรวมคำถามที่น่าสนใจเพื่อมาไขคำตอบไปพร้อมกัน
- จริงหรือไม่ "ค่าการกลั่น" คือกำไรที่แท้จริงของโรงกลั่น?
ถ้าหากคิดว่า "ค่าการกลั่น" ที่ "โรงกลั่นน้ำมัน" สูงขึ้น เป็นเพราะส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินหรือดีเซล ที่เราใช้เติมรถกัน เทียบกับราคาน้ำมันดิบนั้นเพิ่มขึ้น ถือว่าเป็นความเข้าใจที่ผิดอยู่มาก เพราะจริงๆ แล้ว "ค่าการกลั่น" ที่โรงกลั่นได้รับ ต้องคิดจากส่วนต่างราคาเฉลี่ยของน้ำมันสำเร็จรูปทุกชนิดที่โรงกลั่นผลิตได้เทียบกับราคาน้ำมันดิบที่รวมค่าพรีเมียม และค่าใช้จ่ายในการขนส่ง ไหนยังต้องหักลบต้นทุนค่าน้ำ ค่าไฟที่ใช้ในการกลั่นเข้าไปอีก ถึงจะออกมาเป็นค่าการกลั่น หรือกำไรขั้นต้นของโรงกลั่น
นี่ยังไม่ได้หักค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น เช่น ค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ดอกเบี้ย และภาษี ซึ่งพวกค่าใช้จ่ายเหล่านี้ ต่างก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามราคาน้ำมันเช่นกัน
ดังนั้น ถ้าต้องการทราบตัวเลขกำไรสุทธิที่โรงกลั่นน้ำมันได้รับจริงว่าเป็นเท่าไร จะต้องนำ ค่าการกลั่น มาหักลบกับค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งหมดที่เกิดขึ้น รวมทั้งกำไร หรือขาดทุน จากการบริหารความเสี่ยงด้านราคา และสต็อกน้ำมันด้วย
นอกจากนี้ ต้องบอกว่าโรงกลั่นน้ำมันไม่ได้เป็นผู้กำหนดราคาน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปด้วยตัวเอง แต่เป็นไปตามราคาตลาด ซึ่งถ้าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่สูงกว่าราคาน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นก็จะสูง แต่ในทางกลับกัน ถ้าราคาน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นได้เฉลี่ยต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบ ค่าการกลั่นก็จะลดต่ำลง หรืออาจติดลบเลยในบางกรณี
- จริงหรือไม่ "ธุรกิจโรงกลั่น" ทำกำไรอยู่ตลอดเวลา?
ประเด็นนี้ ต้องบอกว่า ธุรกิจโรงกลั่นมีความเสี่ยงด้านราคาน้ำมันที่ผันผวนปรับตัวขึ้นลงอยู่ตลอด ดังนั้นจึงไม่ได้มีแต่กำไรตลอดเวลาอย่างที่หลายคนเข้าใจ นอกจากนั้น ยังต้องเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงจากความผันผวนของราคาน้ำมันสำเร็จรูปในตลาดโลกด้วย ยกตัวอย่างในช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนักในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกลดลง กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นฯ ต้องแบกรับผลขาดทุน แต่ถึงแม้จะขาดทุน ก็ยังคงต้องลงทุน พัฒนา และปรับปรุงโรงกลั่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแข่งขันกับโรงกลั่นน้ำมันอื่นๆ ในภูมิภาคได้
ไม่เพียงเท่านั้น ธุรกิจโรงกลั่น ยังให้ความสำคัญกับด้านสิ่งแวดล้อม โดยยึดหลักของ ESG (Environment, Social and Governance) อันได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแล ซึ่งโครงการลงทุนเพื่อผลิตน้ำมันตามมาตรฐานยูโร 5 ที่ต้องใช้เงินลงทุนหลายหมื่นล้านบาท เป็นตัวอย่างหนึ่งของการคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม
- จริงหรือไม่ โรงกลั่น เป็นผู้กำหนด "ค่าการกลั่น"?
ค่าการกลั่น ขึ้นอยู่กับอุปสงค์และอุปทานของน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งเป็นผลสะท้อนจากสถานการณ์ของโลกในขณะนั้น โดยโรงกลั่นไม่สามารถควบคุมได้ โรงกลั่นต้องปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของค่าการกลั่นในตลาดโลกเพื่อความอยู่รอด
ปัจจุบัน ค่าการกลั่นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในขณะที่การคว่ำบาตรน้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูปจากรัสเซีย ทำให้อุปทานน้ำมันสำเร็จรูปตึงตัว และระดับสต๊อกน้ำมันทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำกว่าปกติมาก
- จริงหรือไม่ ราคาน้ำมันดิบ ณ วันที่สั่งซื้อ ไม่ตรงกับวันที่นำเข้ากลั่น?
ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก มีการปรับขึ้นลงตลอดเวลา เช่นเดียวกับทองคำ และสินค้าโภคภัณฑ์อื่นๆ ทำให้การนำราคาในแต่ละวัน หรือ ณ เวลาใดเวลาหนึ่งมาใช้อ้างอิงในการคำนวณค่าการกลั่น จึงอาจจะไม่สะท้อนความเป็นจริง
นอกจากนั้น โรงกลั่นต้องมีการสั่งซื้อน้ำมันดิบล่วงหน้า และต้องมีการขนส่งจากประเทศต้นทางมายังประเทศไทย ซึ่งกว่าน้ำมันดิบจะถูกนำเข้ากระบวนการกลั่นก็ใช้เวลาไม่น้อยกว่า 2 เดือน
ดังนั้น ราคาน้ำมันดิบ ณ วันที่สั่งซื้อ ก็อาจไม่ตรงกับวันที่นำเข้ามากลั่น และราคาน้ำมันดิบ ณ วันที่สั่งซื้อ ก็อาจจะไม่ตรงกับราคาที่จ่ายจริง เนื่องจากราคาที่จ่ายจริง จะยึดจากราคาตลาดในวันที่ส่งมอบน้ำมัน ขึ้นเรือขนส่ง นอกจากนี้ การซื้อขายนํ้ามันดิบใช้สกุลเงินต่างประเทศ ซึ่งอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โรงกลั่นจึงมีความเสี่ยงจากความผันผวนดังกล่าวอีกด้วย
กล่าวโดยสรุปคือ "ค่าการกลั่น" ไม่ใช่กำไรสุทธิที่แท้จริงของโรงกลั่น เพราะโรงกลั่นมีค่าใช้จ่ายต่างๆ หลายรายการที่ต้องหักออกก่อน อีกทั้งโรงกลั่นยังมีความเสี่ยงจากความผันผวนต่างๆ และต้องมีการลงทุนเพื่อพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้แข่งขันได้ ในขณะที่ราคาน้ำมันที่ซื้อขาย ก็อ้างอิงจากตลาดในภูมิภาค ซึ่งโรงกลั่นไม่ได้เป็นผู้กำหนดได้ตามใจ โดยราคาน้ำมันที่ขึ้นลง เป็นไปตามกลไกของตลาดโลก