จับตา 'สงคราม' ขยายตัวลุกลาม กระทบภาคพลังงาน
"ราคาน้ำมัน" ยังคงพุ่งอย่างต่อเนื่อง สาเหตุมาจากความขัดแย้งในตะวันออกกลางตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา สร้างแรงกดดัน ส่งผลกระทบต่อทิศทางราคาพลังงานจนถึงปัจุบัน
ปัจจัยสำคัญทำให้ ราคาน้ำมันโลก พุ่งอย่างต่อเนื่อง มาจากสถานการณ์ในตะวันออกกลางยืดเยื้อมาตั้งแต่สงครามระหว่าง อิสราเอล กับ กลุ่มฮามาส ของปาเลสไตน์เริ่มตั้งแต่ 7 ตุลาคม ปีที่แล้ว ยิ่งไปกว่านั้น วันที่ 13 เม.ย. 2567 กองกำลังพิทักษ์ปฏิวัติอิสลาม (IRGC) ของอิหร่านโจมตีดินแดนอิสราเอลโดยตรงเป็นครั้งแรก เพื่อตอบโต้ที่อิสราเอลโจมตีสถานทูตอิหร่านในซีเรีย ทำให้ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent ครึ่งแรกเดือน เม.ย. 2567 สูงสุดในรอบ 5 เดือน ใกล้เคียง 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สูงกว่าค่าเฉลี่ยไตรมาส 1 ปีนี้
ด้านสงครามรัสเซียและยูเครนยังดำเนินต่อ ยูเครนใช้โดรนโจมตีโรงกลั่นรัสเซียต่อเนื่องเพื่อทำลายเศรษฐกิจรัสเซียที่พึ่งพารายได้จากน้ำมัน โดย Platts คาดการณ์ว่า จะกระทบกำลังการกลั่นน้ำมันของรัสเซียประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน หรือคิดเป็น 16% ของกำลังการกลั่นทั้งหมด ปัจจัยต่อมาเศรษฐกิจโลกยังเปราะบาง ความต้องการใช้น้ำมันยังคงผันผวน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจีน ปีนี้เติบโต +4.6% เทียบกับปีก่อนหน้าที่ +5.2% เพราะผลกระทบจากวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์
ทั้งนี้ ราคาน้ำมันโลก มีแนวโน้มทรงตัวในกรอบ 75 - 90 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล จากแรงหนุนด้านภูมิรัฐศาสตร์ หากอุปทานน้ำมันไม่หายไปจากตลาดการสู้รบ เนื่องจากกลุ่ม OPEC+ อาจเพิ่มการผลิตหลังไตรมาส 2 ปี 2567 เป็นต้นไป
ยังต้องจับตามองการฟื้นตัวของ เศรษฐกิจโลก และการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความผันผวนของราคาน้ำมันกันต่อไป