ซีพีเอฟ ยืนยันนำเข้าและทำลาย 'ปลาหมอคางดำ' รอบคอบถูกต้อง ตั้งแต่มกราคม 2554

ซีพีเอฟ ยืนยันนำเข้าและทำลาย 'ปลาหมอคางดำ' รอบคอบถูกต้อง ตั้งแต่มกราคม 2554

"ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปลา" ภายใต้ "ซีพีเอฟ" ยืนยันนำเข้าและทำลาย "ปลาหมอคางดำ" อย่างรอบคอบถูกต้อง ตั้งแต่มกราคม 2554 พร้อมหนุนภาครัฐกำจัดเต็มที่

ศูนย์วิจัยและปรับปรุงพันธุ์ปลา ภายใต้ ซีพีเอฟ ยืนยันการดำเนินการตั้งแต่นำเข้า ปลาหมอคางดำ ในเดือนธันวาคม 2553 จนถึงการทำลายซากปลาทั้งหมดในเดือนมกราคม 2554 เป็นไปตามขั้นตอนที่กำหนด มั่นใจรอบคอบทุกขั้นตอน พร้อมสนับสนุนการทำงานภาครัฐใน การแก้ปัญหา การแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ ณ ปัจจุบัน

เปรมศักดิ์ วนัชสุนทร ผู้บริหารสูงสุดด้านการวิจัยและการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ กล่าวว่า ในส่วนงานสัตว์น้ำไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องนี้ โดยได้มีการทบทวนย้อนหลังสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อ 14 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่การนำเข้าในเดือนธันวาคม 2553 ถึงวันทำลายในเดือนมกราคม 2554 มั่นใจได้ว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการอย่างถูกต้องและด้วยความรอบคอบตามหนังสือชี้แจงที่ได้นำส่งไปยังคณะกรรมาธิการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (กมธ.)

เปรมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ยินดีให้ความร่วมมือและสนับสนุนหน่วยงานรัฐตามแนวทางของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ 5 ด้าน ประกอบด้วย

1.) ทำงานร่วมกับกรมประมงในการสนับสนุนให้มีการรับซื้อปลาหมอคางดำไปผลิตเป็นปลาป่น

2.) ทำงานร่วมกับภาครัฐในการสนับสนุนการปล่อยปลาผู้ล่าลงสู่แหล่งน้ำ

3.) สนับสนุนภาครัฐในการจัดกิจกรรมจับปลา

4.) สนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารจากปลาหมอคางดำร่วมกับสถาบันการศึกษา

5.) สนับสนุนการวิจัยกับผู้ชำนาญการในการหาแนวทางควบคุมประชากรปลาหมอคางดำ

หนังสือชี้แจงไปยัง กมธ. มีรายละเอียด ดังนี้ 

ในปี 2553 บริษัทฯ ได้นำเข้าปลาจำนวน 2,000 ตัว ซึ่งพบว่า มีปลาสุขภาพไม่แข็งแรงและมีการตายจำนวนมากในระหว่างทาง ทำให้เหลือปลาที่ยังมีชีวิตแต่อยู่ในสภาพอ่อนแอเพียง 600 ตัว ซึ่งได้รับการตรวจสอบ ณ ด่านกักกันโดยกรมประมง ทั้งนี้เนื่องจากปลามีสุขภาพไม่แข็งแรง จึงมีการตายต่อเนื่องจนเหลือเพียง 50 ตัว บริษัทฯ จึงตัดสินใจหยุดการวิจัยในเรื่องนี้ โดยได้มีการทำลายซากปลาหมอคางดำ ตามมาตรฐานและแจ้งต่อกรมประมง พร้อมส่งตัวอย่างซากปลา ซึ่งดองในฟอร์มาลีนทั้งหมดไปยังกรมประมงในปี 2554

นอกจากนี้ ในปี 2560 ที่เริ่มพบการแพร่ระบาดของ ปลาหมอคางดำ คณะผู้ตรวจเยี่ยมจากกรมประมง เข้าตรวจเยี่ยมฟาร์มของบริษัทฯ ณ จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขอข้อมูลจำนวนลูกปลาหมอคางดำที่นำเข้าเมื่อปี 2553 และการบริหารจัดการ ซึ่งนักวิจัยของบริษัทฯ ได้รายงานข้อเท็จจริงทั้งหมด ต่อมาคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้ลงพื้นที่เยี่ยมฟาร์มอีกครั้ง ซึ่งนักวิจัยของบริษัทฯ ได้ชี้แจงถึงวิธีการทำลายปลาทั้งหมด โดยใช้สารคลอรีนเข้มข้นและฝังกลบซากปลาโรยด้วยปูนขาว และยืนยันว่าไม่ใช่สาเหตุของการแพร่ระบาดดังกล่าว

ซีพีเอฟ ยืนยันนำเข้าและทำลาย \'ปลาหมอคางดำ\' รอบคอบถูกต้อง ตั้งแต่มกราคม 2554