ปัจจัยส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน 'อุปสงค์อ่อนแอ' ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทรงตัว

ปัจจัยส่งผลลบต่อราคาน้ำมัน 'อุปสงค์อ่อนแอ' ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ทรงตัว

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลังจากนี้ ยังคงต้องจับตาในหลายปัจจัย ทั้งความต้องการน้ำมันที่มีแนวโน้มลดลงจากสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่สำคัญ ในขณะที่ความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ยังอยู่ในระดับ "ทรงตัว"

ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2567 ราคาน้ำมันดิบ Brent ลดลงอยู่ในกรอบ 76-83 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเดือนกรกฎาคม 2567 ที่ระดับ 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล สาเหตุหลักมาจากความต้องการใช้ยังอยู่ในระดับต่ำ โดยเฉพาะจีนที่เป็นผู้นำเข้าน้ำมันดิบอันดับหนึ่งของโลก โดยคาดว่าการกลั่นน้ำมันของจีนครึ่งหลังของปี 2567 จะลดลง 0.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากความต้องการในประเทศที่ลดลง รวมถึงภาคการผลิตที่อ่อนแอ นอกจากนี้ยังมีปัจจัยด้านลบจากสหรัฐ โดยกระทรวงแรงงานสหรัฐเผยอัตราการว่างงานเดือน ก.ค. 2567 สูงขึ้นสู่ระดับ 4.3% สูงสุดในรอบ 3 ปี 

ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือน ก.ค. 2567 ต่ำกว่าที่คาด บ่งชี้ เศรษฐกิจสหรัฐ มีแนวโน้มเข้าภาวะชะลอตัว และจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่สูง ส่งผลให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นและเทขายสินทรัพย์เสี่ยงจำนวนมาก ความต้องการใช้น้ำมันจากฤดูท่องเที่ยวของฝั่งตะวันตกปีนี้ไม่เป็นตามหวัง

ขณะที่ด้านสํานักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) เปิดเผยตัวเลขนํ้ามันดิบคงคลังสหรัฐประจําสัปดาห์ ที่รายงานเมื่อวันที่ 9 ส.ค. 2567 ปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกรอบ 7 สัปดาห์ ซึ่งสวนทางกับ นักวิเคราะห์ที่คาดว่า จะมีอุปสงค์การใช้น้ำมันดิบต่อเนื่องจนจบเดือน ส.ค.

อีกปัจจัยที่กระทบด้านบวกต่อ ราคาน้ำมัน คือ ปัจจัย ภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งตะวันออกกลางมีแนวโน้มทรงตัว ซึ่งแม้มีข่าวลอบสังหารผู้นำกลุ่มฮามาส แต่ความขัดแย้งยังอยู่ในวงจำกัด ทั้งนี้หากการโจมตีรุนแรงขึ้น อาจทำให้สหรัฐคว่ำบาตรการส่งออก น้ำมันดิบ ของอิหร่าน ซึ่งอาจกระทบการส่งออกน้ำมันดิบ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน 

ตัวเลขทางเศรษฐกิจสำคัญที่น่าติดตามคือ ดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ โดยคาดว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรก 0.50% มาที่ระดับ 4.75 - 5.0 % ในเดือนกันยายน 2567 เพื่อพยุงเศรษฐกิจสหรัฐ

ปัจจัยดังกล่าว มีผลต่อราคาน้ำมันดิบ Brent เดือนกันยายน - ตุลาคม พ.ศ. 2567 ทำให้ราคาจะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 75 - 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล