ความขัดแย้งตะวันออกกลาง เพิ่มแรงกดดันราคาน้ำมัน

ความขัดแย้งตะวันออกกลาง เพิ่มแรงกดดันราคาน้ำมัน

สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกหลังจากนี้ ต้องจับตาปัจจัยสนับสนุนราคาน้ำมัน ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยทางภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก อาทิ รัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส รวมถึงพายุเฮอริเคนในมหาสมุทรแอตแลนติก ซึ่งอาจกระทบการผลิตน้ำมันของสหรัฐ

ราคาน้ำมันดิบ Brent เดือน ก.ย. 2567 ลดลงแตะระดับ 69 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อบาร์เรล จาก เศรษฐกิจโลก ชะลอตัวต่ำสุดตั้งแต่ ส.ค. 2564 ก่อนจะปรับขึ้นมาสูงกว่า 70 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล 

รวมทั้งกลุ่ม OPEC ปรับลดคาดการณ์การใช้น้ำมันโลกเป็นครั้งที่ 2 โดยรายงานฉบับเดือน ก.ย. 2567 ของ OPEC คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันโลกปี 2567 อยู่ที่ 104.25 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากคาดการณ์ครั้งก่อน 0.07 ล้านบาร์เรลต่อวัน เพราะจีนหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าและรถบรรทุกที่ใช้เชื้อเพลิง LNG แทนรถบรรทุกดีเซล ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐยังมีทิศทางไม่ชัดเจน หลังการจ้างงานนอกภาคเกษตร เดือน ส.ค. 2567 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 142,000 ตำแหน่ง ซึ่งต่ำกว่าค่าเฉลี่ยปี 2567 ที่คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 200,000 ตำแหน่ง 

อย่างไรก็ดี การผลิตน้ำมันยังมีความเสี่ยง โดยองค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติของสหรัฐ (NOAA) คาดการณ์มี พายุเฮอริเคน 8-13 ลูก โดย 4-7 ลูกจะเป็น Major Hurricane ที่ความเร็วลมมากกว่า 180 กม./ชม. ซึ่งทำให้นักลงทุนกังวลปริมาณการผลิตในแถบอ่าวเม็กซิโก ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์และการเมืองในหลายพื้นที่ ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่อาจผลักดันราคาน้ำมัน อาทิ ความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลกลางของลิเบียและกองกำลัง Libyan National Army (LNA) ของลิเบีย ช่วงปลายเดือน ส.ค.2567 ทำให้ต้องปิดแหล่งผลิตน้ำมันดิบหลายแห่ง ส่งผลให้การผลิตเดือน ส.ค. 2567 ลดลง 3 แสนบาร์เรลต่อวันจากเดือนก่อน มาอยู่ที่ 9 แสนบาร์เรลต่อวัน ที่ผ่านมา

ส่วนสงครามรัสเซียและยูเครนยังยืดเยื้อ โดยวันที่ 10 ก.ย. 2567 สนามบิน 3 แห่งในกรุง Moscow ของรัสเซียหยุดดำเนินการมากกว่า 6 ชั่วโมง และเกือบ 50 เที่ยวบินต้องเปลี่ยนเส้นทาง หลังถูกโดรนของยูเครนโจมตี ดังนั้นจึงคาดการณ์แนวโน้มน้ำมันดิบ Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 70-85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วงไตรมาส 3 ถึง 4 โดยมีปัจจัยกดดันจากเศรษฐกิจและอุปสงค์ น้ำมันโลก มีแนวโน้มชะลอตัว