'กรุงศรี' ดันภาคธุรกิจไทยเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจยั่งยืน สร้างแต้มต่อด้วย ESG Financing
"กรุงศรี" กับบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนภาคธุรกิจไทยสู่ธุรกิจสีเขียว พร้อมสร้างแต้มต่อด้วย ESG Financing ช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงเงินทุนได้ง่าย และสามารถแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
ภาคการเงินการธนาคาร ถือเป็นอีกภาคส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการเป็น "แรงผลักดัน" ช่วยขับเคลื่อน ธุรกิจสีเขียว ให้เกิดมากขึ้นในประเทศไทย และสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance) อย่างราบรื่น โดยการสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนในการดำเนินธุรกิจที่เน้นความยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย
แต่การจะผลักดันให้ภาคธุรกิจไทยปรับตัวไปสู่ภาคธุรกิจยั่งยืนและเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้นั้น ยังจำเป็นต้องมีการกำหนดนิยามและจัดหมวดหมู่กิจกรรมในภาคเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นมาตรฐานกลาง ที่เรียกว่า "Taxonomy" ซึ่งจะถูกนำมาใช้ เพื่อช่วยให้ภาคการเงินการธนาคารสามารถจำแนกสินเชื่อแต่ละรายว่าควรถูกจัดอยู่ในเกณฑ์ระดับใดได้ ซึ่งเกณฑ์ดังกล่าวยังเป็นการสะท้อนว่า ลูกค้ามีระดับการดำเนินธุรกิจที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด
ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ร่วมกับเครือข่ายองค์กรต่างๆ รวม 13 องค์กร เพื่อพัฒนา Thailand Taxonomy โดยในเฟสแรกจะนำร่องใน 2 ภาคอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ พลังงานและขนส่ง โดย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ในฐานะสถาบันการเงินได้ร่วมสนับสนุนการร่างกรอบ Thailand Taxonomy ซึ่งเป็นวาระสำคัญของประเทศ ล่าสุดได้เดินหน้าจัดกิจกรรม Krungsri Business Talk ชวนกลุ่มลูกค้าธุรกิจมาอัปเดตเทรนด์ธุรกิจความยั่งยืนที่กำลังร้อนแรงและกำลังพลิกโฉมภาคการเงินไทยในขณะนี้
ประกอบ เพียรเจริญ ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่และวาณิชธนกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรุงศรี ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หรือ ESG ประกอบไปด้วย สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) จึงเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนา Thailand Taxonomy ที่จะเป็นเครื่องมือผลักดันภาคธุรกิจให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน หรือ ESG Financing โดย Thailand Taxonomy จะเป็นอีก Milestone ที่สำคัญของ Sustainable Finance/Transition Finance เนื่องจากการมีข้อมูลด้านกิจกรรมเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะเป็นแต้มต่อสำหรับผู้ประกอบการธุรกิจ โดยการจัดทำข้อมูลอย่างเป็นระบบนั้นจะช่วยให้ภาคธุรกิจเข้าถึงเงินทุนได้ง่ายขึ้น และสร้างความสามารถในการแข่งขันได้ดียิ่งขึ้น
ประกอบ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน การปล่อยสินเชื่อ ของธนาคารฯ ต้องดูในเรื่องความสามารถชำระหนี้ของลูกค้าเป็นหลัก แต่การมีข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืน จะเป็นส่วนเสริมในการช่วยพิจารณาได้ว่า ควรปล่อยเพิ่มหรือไม่ เช่น หากลูกค้ายังทำธุรกิจที่อยู่ในระดับสีแดง หรือมีกิจกรรมทางธุรกิจที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ธนาคารฯ ก็อาจจะขอพิจารณาก่อน ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ไปแทนที่กัน แต่เป็นส่วนเสริมที่จำเป็น
"ความคาดหวังของเราคือ เราต้องการอยู่ในโลกการเงินที่ทุกคนมีข้อมูลของตัวเอง เช่น ลูกค้าแต่ละรายมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่และปีหน้าจะดีขึ้นได้อย่างไร หรือแม้แต่ใครที่มาเป็นซัพพลายเชน สามารถตรวจสอบได้หมด โดยในระยะสั้นมองว่า เป็นเรื่องของโอกาสการเข้าถึงด้านสินเชื่อและเงินทุน แต่ในระยะยาว Thailand Taxonomy มีผลต่อความอยู่รอด (Survivor) ของภาคธุรกิจไทย เพราะในที่สุดแล้ว ทุกคนจำเป็นที่ต้องปรับตัว และเปลี่ยนผ่านสู่ภาค ธุรกิจสีเขียว และความยั่งยืน"
แม้วันนี้ Taxonomy ยังถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับผู้ประกอบการไทย แต่สำหรับ กรุงศรี เอง มีความได้เปรียบในการเป็นธนาคารซึ่งอยู่ภายใต้ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หรือ MUFG หนึ่งในกลุ่มสถาบันการเงินที่ใหญ่ระดับโลก และยังเป็นหัวหอกสำคัญในการขับเคลื่อนเรื่องของ Transition Finance เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจก้าวสู่โลกการเงินเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Finance อย่างแข็งแกร่ง จึงเป็นจุดแข็งให้ธนาคารฯ มีความเชี่ยวชาญและองค์ความรู้ในด้าน Sustainable Finance ที่เกิดจากประสบการณ์การทำงานร่วมกับหลากหลายภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกของ MUFG
ประสบการณ์ดังกล่าว ยังได้ถูกนำมาถ่ายทอดในการสัมมนา Krungsri Business Talk ภายใต้หัวข้อ Striving Green Businesses Through Thailand Taxonomy เป็นอีกกิจกรรมที่ทางกรุงศรี เดินหน้าติดอาวุธความรู้ เสริมความแกร่งให้กับผู้ประกอบการไทย เพื่อให้มองเห็นถึงโอกาสในการปรับตัวสู่ภาคธุรกิจยั่งยืนก่อนใคร ซึ่งการสัมมนาเริ่มต้นด้วยการแนะนำที่มาและความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมี Thailand Taxonomy
ศิริพิมพ์ วิมลเฉลา ผู้อำนวยการฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาอุตสาหกรรมของไทยยังคงเป็นอุตสาหกรรมที่ไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยมากกว่าร้อยละ 30 ของ GDP ภาคอุตสาหกรรมไทยอยู่ในโลกเก่า ดังนั้นโจทย์สำคัญคือ ภาคอุตสาหกรรมประเทศไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านไปสู่อุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในจังหวะที่เหมาะสม คือเริ่มแต่เนิ่นๆ เพื่อให้มีเวลาในการปรับตัว แต่จะเปลี่ยนผ่านอย่างไรให้มีอุปสรรคน้อยและรวดเร็ว จำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมความยั่งยืนจากกลไก Sustainable Finance เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว
"เป็นเรื่องยากสำหรับผู้ประกอบการจะเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมที่เป็นสีเขียวโดยสิ้นเชิง ซึ่งอาจจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนสูง อย่างไรก็ดีเราไม่ได้มองว่าจะมุ่งไปกรีนอย่างเต็มที่ 100% ในระยะแรก แต่จะเน้นลดการไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม อย่างน้อยจากน้ำตาลเข้ม ไปน้ำตาลอ่อน"
ศิริพิมพ์ กล่าวต่อไปว่า ภาคการเงินการธนาคารมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดธุรกิจสีเขียว ซึ่ง Thailand Taxonomy เป็นผลลัพธ์ของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ ภาคธุรกิจ และภาคการเงิน โดยจัดทำเกณฑ์ชี้วัดให้มีความสอดคล้องกับหลักสากล รวมถึงเหมาะสมกับบริบทของประเทศไทยและเน้นวัตถุประสงค์ด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change Mitigation)
"สุดท้ายปัจจัยความสำเร็จของเรื่องนี้ทั้งหมด เป็นเรื่องความร่วมมือทุกฝ่ายและทุกภาคส่วนในสังคม ซึ่งวันนี้เราเริ่มเห็น practice ของธนาคารที่เปลี่ยนไปและทุกฝ่ายไปในทิศทางเดียวกันมากขึ้น"
Colin Chen Head of ESG Finance, Asia Pacific, Asian Investment Banking Division, MUFG Bank, Ltd. ร่วมแชร์ประสบการณ์ภาพรวม Sustainable Finance ในระดับโลกว่า แนวโน้มการเติบโตของ Sustainable Finance หรือภาคการเงินเพื่อความยั่งยืนระยะยาวที่กำลังส่งสัญญาณขยายตัวต่อเนื่องทั่วโลก โดยนานาประเทศเริ่มหันมาพัฒนากรอบ และกำหนดมาตรการต่างๆ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่ตลาดภาค ธุรกิจสีเขียว ปัจจัยสำคัญส่วนหนึ่งเป็นผลกระทบมาจากมาตรการความเข้มงวดต่างๆ ของภาคธุรกิจในกลุ่มประเทศผู้นำด้านธุรกิจสีเขียวชั้นนำ อาทิ ในสหภาพยุโรป ซึ่งการจัดทำ Thailand Taxonomy จะเป็นก้าวสำคัญของการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนผ่าน ไปสู่แนวทางการดำเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน
แจ่มจันทร์ ศิริกาญจนาวงศ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารฝ่ายธุรกิจหลักทรัพย์ตราสารหนี้ บมจ.กรุงศรี กล่าวถึง กรุงศรี มีการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนา Sustainable Finance หรือ ESG Finance ของภาคการเงินการธนาคารว่า ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมามีการจัดกิจกรรมเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง โดยกรุงศรี มีแผนที่จะปล่อยสินเชื่อสีเขียวเพิ่มขึ้น 50,000-100,000 ล้านบาท ภายในปี 2030
ปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการ บัญชีและการเงิน บริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพจำกัด (มหาชน) หรือ BEM ในฐานะตัวแทนภาคธุรกิจที่ผ่านประสบการณ์ด้าน Sustainable Finance มาร่วมแชร์ประสบการณ์ โดยเปิดเผยว่า BEM ยังคงได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนอย่างต่อเนื่องในการออก หุ้นกู้ เพื่อความยั่งยืน ซึ่งทางบริษัทฯ ได้ดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2564 และต่อเนื่องในปี 2566 สะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าและความสำคัญของการบริหารภายใต้หลักการที่คำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการที่ดี การบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม
"ลูกค้าเราก็ให้ความสำคัญต่อ ESG ดังนั้นสิ่งที่เราทำจึงตอบโจทย์ลูกค้า ซึ่งธนาคารเป็นอีกภาคส่วนที่มีส่วนช่วยอย่างมากในการให้คำแนะนำข้อมูลต่างๆ ช่วยในการวิเคราะห์ว่าเราควรออกหุ้นกู้อย่างไรให้มีความเหมาะสม มีการให้คำปรึกษาทำงานร่วมกันมาโดยตลอด"
ยงยุทธ เสฏฐวิวรรธน์ กรรมการผู้จัดการ ฝ่ายการบริหารการเงินกลุ่มและศูนย์บริการร่วมทางการเงิน บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) กล่าวว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนมีความสำคัญต่ออนาคตของธุรกิจของ ไทยยูเนี่ยน และการเติบโตของบริษัทฯ เพราะเป็นรากฐานของการเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และผู้คน ซึ่งเป็นแนวทางที่จะทำให้ไทยยูเนี่ยน สามารถบรรลุเป้าหมายของบริษัทฯ ที่มุ่งมั่นเพื่อสุขภาพที่ดีของผู้คนและท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ หรือ Healthy Living, Healthy Oceans จนสามารถเป็นผู้นำด้านอาหารทะเลที่ได้รับความไว้วางใจระดับโลก
"เทรนด์ทั่วโลกกำลังมุ่งไปทิศทางเดียวกันคือ การใส่ใจสิ่งแวดล้อมแบบยั่งยืน ดังนั้นไทยยูเนี่ยนจึงได้วางเป้าชัดเจนและทำต่อเนื่องมาอย่างยาวนาน เพื่อให้เราสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ลงทุนได้ดีขึ้น นักลงทุนเขาเองก็อยากเห็นความเปลี่ยนแปลง เราเองในฐานะผู้นำตลาดก็อยากบุกเบิกด้านนี้"
ยงยุทธ กล่าวต่อว่า แม้ว่าที่ไทยยูเนี่ยนจะมีการจัดตั้งหน่วยงานด้านความยั่งยืนเป็นรูปธรรม แต่องค์กรยังคงเชื่อมั่นว่า การรับบทบาทหน้าที่ขับเคลื่อนความยั่งยืนไม่ได้เป็นของแผนกใดแผนกหนึ่งเท่านั้น หากเป็นการทำงานร่วมกันของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะผู้นำองค์กรหรือซีอีโอที่มีบทบาทนำในการขับเคลื่อนเรื่องนี้
"เรื่องความยั่งยืนในอนาคตอันใกล้ ต้องมองซัพพลายเชนมากขึ้น เรามีเป้าหมายที่สนับสนุนให้ซัพพลายเออร์ของเรามาร่วมกันลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ต้องการเงินทุน ธนาคารจึงมีบทบาทมากในการซัพพอร์ตในด้านนี้ ส่วนตัวรู้สึกดีใจที่ sustainable finance เติบโตขึ้นเรื่อยๆ อยากให้มองเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ เพราะใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ ปัจจุบันสำหรับบางธุรกิจ ความยั่งยืนไม่ใช่เรื่อง Nice to Have อีกต่อไปแล้ว แต่คือ License to Operate ที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ"
ประกอบ กล่าวเสริมว่า จากการที่ กรุงศรี ได้มีโอกาสให้บริการปรึกษาด้านการเงินเพื่อความยั่งยืน ทั้งร่วมหนุนเสริมขับเคลื่อนการดำเนินการไปพร้อมกับลูกค้าภาคธุรกิจหลายราย ยิ่งเป็นการเพิ่มพูนประสบการณ์ด้าน ESG Financing มากขึ้น ซึ่งกรุงศรี พร้อมที่จะนำประสบการณ์ดังกล่าว มาต่อยอดเพื่อพัฒนานวัตกรรมสินค้าและบริการใหม่ๆ ให้แก่ลูกค้าธนาคารฯ
"กรุงศรีมีความยินดีที่จะแชร์ประสบการณ์ที่เรามีแก่ลูกค้า เราร่วมแก้ไขไปกับลูกค้าด้วยกัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่ได้คือ ทำให้เราทราบว่าอะไรที่เราควรจะต้องป้องกันหรือไปต่อ ประสบการณ์เหล่านี้ยิ่งทำให้องค์ความรู้ของกรุงศรียิ่งแน่นขึ้นไป ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมทางการเงินเพื่อความยั่งยืนอย่างต่อเนื่องของธนาคารฯ"
ประกอบ กล่าวต่อไปอีกว่า ปัจจุบันธนาคารฯ ยังตั้งหน่วยงานด้าน ESG เพื่อให้คำปรึกษาด้านการเงินเพื่อความยั่งยืนแก่ลูกค้าโดยเฉพาะ ที่ยังสร้างความแตกต่างด้วยบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านการเงินและการลงทุนเพื่อความยั่งยืนทั้งในระดับนานาชาติ
"ถามว่ากรุงศรีพร้อมไหม เรามีทีมบุคลากรในระดับ Global ที่มีความเชี่ยวชาญและเครือข่ายระดับโลกจาก MUFG สิงคโปร์กว่า 30 คน เรามี Know How ที่สามารถแชร์ประสบการณ์กับลูกค้าได้ และเราตระหนักดีว่าในต่างประเทศเขา implement กันเข้มข้นมากน้อยเพียงใด"
เหล่านี้ เป็นความสำเร็จในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและโซลูชันทางการเงินอย่างยั่งยืนต่อเนื่อง ทำให้ กรุงศรี ได้รับรางวัล "Country Awards 2022 Best Bank for Sustainable Finance, Domestic" จากงาน The Asset Asian Awards 2022 ซึ่งจัดโดย The Asset นิตยสารการเงินชั้นนำของเอเชีย ซึ่งรางวัลดังกล่าว เสมือนเป็นการตอกย้ำความเป็นตัวจริงด้าน ESG Financing ของกรุงศรี