แนวโน้ม 'ราคาทองคำ' จะเป็นอย่างไร ในช่วง 1 ปี หลังจากนี้
"ทองคำ" เป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่นักลงทุนให้ความสนใจ มาดูกันว่า ในช่วง 1 ปี หลังจากนี้ แนวโน้ม "ราคาทองคำ" จะเป็นอย่างไร ยังน่าลงทุน และสร้างผลตอบแทนได้ดีอยู่หรือไม่?
ทองคำ ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าในตัวเองและเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยสูง (Safe Haven) ซึ่งสามารถปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงที่ตลาดเกิดความไม่แน่นอน ทั้งใน ภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือสงคราม โดยช่วง 1 เดือน ที่ผ่านมา ตลาดทั่วโลกได้เข้าสู่สภาวะ Risk-Off (นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยงไปสู่สินทรัพย์ปลอดภัย) อีกครั้ง หลังตลาดถูกกดดันจากความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ส่งผลให้ราคาทองคำพุ่งขึ้นสูงถึง 7% นับตั้งแต่เริ่มสงคราม
ถึงแม้ว่าทองคำจะถูกใช้เป็น Safe Haven Asset ในช่วงภาวะของสงคราม แต่ราคาทองก็มักจะปรับขึ้นในวงจำกัด ขณะเดียวกันก็จะปรับลดลงในวงจำกัดเช่นเดียวกัน ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็มีโอกาสสูงที่ราคาทองคำจะเคลื่อนไหวในกรอบกว้างๆ เนื่องจากปัจจัยที่ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาทองคำ มีทั้งปัจจัยหนุนและปัจจัยกดดันในเวลาเดียวกัน โดยจากการคาดการณ์ของ Bloomberg Consensus ให้กรอบราคาทองสูงสุดและต่ำสุดในช่วง 1 ปี หลังจากนี้ อยู่ที่ประมาณ 1,720-2,200 ดอลลาร์/ออนซ์
กรอบทองคำจาก Bloomberg Consensus 1,720-2,200 ดอลลาร์/ออนซ์
Source : Bloomberg วันที่ 31 ตุลาคม 2023
ราคาทองคำ ปัจจุบันอยู่ที่ 1,969.80 ดอลลาร์/ออนซ์ (ข้อมูลราคาเปิด Gold Spot : XAUUSD ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2566) จะเห็นได้ว่า กรอบการคาดการณ์ดังกล่าวจะอยู่ในกรอบบน-ล่าง ประมาณ 15% โดยมองว่าปัจจัยที่จะส่งผลต่อราคาทองในช่วง 1 ปี หลังจากนี้ มี 4 ปัจจัยหลัก ดังนี้
1. ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ : ปัจจุบันตลาดการเงินทั่วโลกยังมีความผันผวนสูง เนื่องด้วยสงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่ยังคงดำเนินอยู่ ทำให้ ทองคำ เปรียบเสมือนหลุมหลบภัยสำหรับนักลงทุน แต่หากอ้างอิงจากสถิติย้อนหลังในช่วงที่เกิดสงครามแต่ละครั้ง ไม่ว่าจะเป็นสงครามอ่าว (ปี 1991), สงครามอัฟกานิสถาน (ปี 2001), สงครามอิรัก (ปี 2003), สงครามลิเบีย (ปี 2011), สงครามรัสเซีย-ยูเครน (ปี 2022) รวมถึงสงครามอิสราเอล-กลุ่มฮามาส พบว่า ราคาทองคำในช่วงภาวะของสงครามจะปรับขึ้นเฉลี่ยไม่เกิน 10% ซึ่งถือว่าเป็นสถิติที่พอจะใช้อ้างอิงเพื่อคาดการณ์ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในอนาคตได้
2. ความต้องการใช้ทองคำ : ความต้องการใช้ ทองคำ ระหว่างปี 2013 จนถึง ไตรมาส 2 ปี 2023 เฉลี่ยอยู่ที่ราวๆ 1,000 ตันต่อปี โดยทองคำถูกได้รับความนิยมในการทำเครื่องประดับมากที่สุดตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ในช่วงที่ ราคาทองคำ อยู่ในระดับสูง ความต้องการจากกลุ่ม jewelry ลดลงบ้าง ในขณะที่ปี 2022 ภายหลัง Fed ได้เริ่มใช้นโยบายการเงินแบบตึงตัว ส่งผลให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น จนกระทั่งเกิดกระแส De-Dollarization (การลดบทบาทของดอลลาร์) ซึ่งทำให้ทางธนาคารกลางแต่ละประเทศ ได้มีการเพิ่มบทบาทในการถือครองทองคำมากขึ้นในฐานะ Store of Value โดยนำทุนสำรองไปซื้อทองคำมากขึ้นเพื่อกระจายความเสี่ยงในการลงทุน นอกเหนือจากการสะสมพันธบัตรรัฐบาล ด้วยเหตุนี้จึงมองว่า ราคาทองคำระยะหลังจากนี้ จะมีทั้งปัจจัยหนุนและปัจจัยกดดันในเวลาเดียวกัน ส่งผลให้ราคามีโอกาสที่จะแกว่งตัวอยู่ในกรอบ
ความต้องการในการซื้อทองคำ ระหว่างปี 2013 จนถึงไตรมาสที่ 2 ปี 2023
Source : World Gold Council 2023
3. แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ : อัตราดอกเบี้ยสหรัฐในปัจจุบันอยู่ที่ 5.25%-5.50% และตลาดคาดว่า Fed อาจสิ้นสุดวัฏจักรการขึ้นดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้ หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐมีแนวโน้มชะลอลงต่อเนื่อง หากศึกษาความสัมพันธ์ระหว่าง ราคาทองคำ กับ เงินเฟ้อ และช่วงที่ Fed คงดอกเบี้ยในอดีตพบว่า ในช่วงเวลาดังกล่าว ราคาทองคำมักจะปรับตัวขึ้นได้อย่างจำกัด
4. ต้นทุนของธุรกิจเหมืองทองคำ : จากข้อมูล World Gold Council ในไตรมาสที่ 1/2022 พบว่า ต้นทุนการขุดเหมืองทองคำ (Average all-in sustaining costs) อยู่ที่ 1,232 ดอลลาร์/ออนช์ ในขณะที่ราคาทองคำมักจะเทรดสูงกว่าค่าเฉลี่ยของต้นทุนการขุดเหมือง (margin average) ประมาณ 338 ดอลลาร์ ในช่วงปี 2012-2019 หรือที่ระดับราคา 1,570 ดอลลาร์ ทำให้ประเมินได้ว่าราคาทองคำจะปรับลดลงจำกัด นอกจากนี้ล่าสุดยังพบว่าต้นทุนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในปี 2023 โดยข้อมูลล่าสุดภายหลังไตรมาสที่ 1/2023 ต้นทุนการขุดเหมืองทองคำเพิ่มขึ้นเป็น 1,358 ดอลลาร์/ออนช์ ซึ่งเป็นผลมาจากต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากปี 2022 จากปัญหาห่วงโซ่อุปทาน (Global Supply Chain) การขาดแคลนแรงงานในช่วงโควิด และปัญหาต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ราคาทองคำ ต้นทุนการขุดเจาะ (AISC) ระหว่างปี 2012-2022
Source : World Gold Council 2023
ถึงแม้ว่าล่าสุดสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสในครั้งนี้จะยังไม่สามารถระบุได้แน่ชัดว่า จะรุนแรงขึ้นหรือบานปลายแค่ไหน แต่จากการคาดการณ์ ราคาทองคำ จากนักวิเคราะห์และปัจจัยต่างๆ ที่ส่งผลต่อราคาทองคำ ก็พอทำให้สรุปได้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสสูงที่จะวิ่งอยู่ในกรอบที่ 1,720-2,200 ดอลลาร์/ออนซ์ หรือราคาสามารถปรับขึ้นและลงได้จากราคาทองคำในปัจจุบัน ดังนั้นในแง่ของการลงทุนอาจจะเหมาะกับเครื่องมือการลงทุนที่จำกัดความเสี่ยงและสามารถสร้างผลตอบแทนได้ ไม่ว่าราคาทองคำจะปรับเพิ่มขึ้นหรือลดลง
Source : World Gold Council 2023, Bloomberg
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และเว็บไซต์ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds