เกิดอะไรขึ้น เมื่อหุ้น Magnificent 7 โดนขายทำกำไร
หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 เป็นหนึ่งในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีในปีนี้ แต่ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มโดนขายทำกำไร และเงินเริ่มหมุนไปยังหุ้นขนาดกลาง - เล็ก ส่วนจะเป็นเพราะอะไร แล้วนักลงทุนควรกังวลหรือไม่ ต้องติดตาม
นับตั้งแต่ต้นปี หุ้นสหรัฐ ได้ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นเมื่อเทียบกับตลาดหุ้นในภูมิภาคอื่นๆ ซึ่งแรงขับเคลื่อนที่หนุนตลาดมาตลอดทั้งปี มาจากหุ้นเพียงแค่ 7 ตัวเท่านั้น ซึ่งหุ้นดังกล่าว ได้แก่ Microsoft, Amazon, Nvidia, Meta, Alphabet, Apple และ Tesla หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ Magnificent 7 ซึ่งนับตั้งแต่ต้นปี หุ้น Magnificent 7 ปรับตัวขึ้นมากกว่า +103.2% เทียบกับดัชนี S&P500 นั้น ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เพียง +18.3% เท่านั้น ส่วนดัชนี NASDAQ ก็ปรับตัวขึ้นเพียง +36.3% แม้ว่าผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มนี้จะให้ผลตอบแทนได้ดีในปีนี้ แต่ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 เริ่มโดนขายทำกำไร ในบทความฉบับนี้จะมาสำรวจกันว่าเกิดอะไรขึ้นกับหุ้นที่ถือเป็นพระเอกในปีนี้ และนักลงทุนควรที่จะเริ่มกังวลหรือไม่
ปัจจัยที่ทำให้หุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 หนุนดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐได้อย่างโดดเด่น
ผลตอบแทนตั้งแต่ต้นปีระหว่างหุ้น Magnificent 7 และ S&P500 Equal Weight
ที่มา : Bloomberg ณ วันที่ 28 พ.ย. 2023
สัดส่วนหุ้น Magnificent 7 ในดัชนี S&P500 จากเดิมที่ต้นปีมีสัดส่วนเพียงแค่ 19.96% และล่าสุดเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 สัดส่วนของหุ้นดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 29.03% หรือคิดเป็นมูลค่าตลาดราว 13 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หากเทียบกับมูลค่าตลาดของ SET Index พบว่า หุ้น Magnificent 7 มีขนาดใหญ่เกือบ 28 เท่าของ SET Index
แม้ว่าในตลอดปี 2023 ตลาดหุ้นสหรัฐ เผชิญกับปัจจัยลบต่างๆ อาทิ วิกฤติธนาคารขนาดเล็ก ดอกเบี้ยนโยบายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หรือปัญหาภาวะสงครามระหว่างอิสราเอล-ฮามาส แต่ผลกระทบของเหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อราคาหุ้น Magnificent 7 แต่อย่างใด และยังปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2023 โดยมองว่า มี 2 ปัจจัยหลัก ซึ่งรองรับการปรับขึ้นราคา ดังนี้
- บริษัททั้ง 7 เหล่านี้ เป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีที่มีการเติบโตและนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง รวมไปถึงเสนอขายผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ให้กับลูกค้า อาทิ นวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligent) บริการ Cloud Computing รวมถึงฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ขั้นสูง นำไปสู่ผลการดำเนินงานที่โดดเด่น เมื่อเทียบกับบริษัทอื่นๆ
- ท่ามกลางสภาวะทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนสูงในปีนี้ ทำให้นักลงทุนมองหาบริษัทที่มีขนาดใหญ่ที่มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง และสามารถทนทานต่อปัจจัยด้านมหภาคได้ดีเมื่อเทียบกับบริษัทขนาดกลาง-เล็ก
หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 อาจโดนขายทำกำไรในระยะสั้น แต่ยังคงไม่น่ากังวล
หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ปรับตัวขึ้นมาโดดเด่นในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงยังมีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนจากผลการดำเนินงานในไตรมาส 3 อย่างไรก็ดีจากราคาที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาจึงทำให้เกิดแรงขายทำกำไรบ้างในช่วงหลัง แต่หากดูจากข้อมูลค่า P/E เทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดฟองสบู่หุ้นเทคในอดีตจะพบว่าปัจจุบันหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 ยังคงไม่ได้อยู่ในระดับที่น่ากังวลเหมือนในอดีต
ค่า P/E ของหุ้นกลุ่ม Magnificent 7 เทียบกับหุ้นที่นิยมลงทุนในช่วงฟองสบู่หุ้นขนาดใหญ่ หรือ Nifty Fifty ในปี 1972 และ Dot Com Crisis ปี 2000
ที่มา : Bloomberg, Apollo Chief Economist
- หากพิจารณาจากค่า Forward P/E นั้น นักลงทุนอาจเริ่มเกิดความกังวล เนื่องจากค่า Forward P/E เฉลี่ยของหุ้นกลุ่ม Magnificent เทรดที่ 30.57 เท่า ขณะที่ดัชนี S&P500 Equal Weighted Index (ให้น้ำหนักหุ้นในดัชนี S&P500 เท่าๆ กัน) ซื้อขายอยู่ที่ระดับเพียง 15.6 เท่า อย่างไรก็ดีหากอ้างอิงจากข้อมูลหุ้นที่ได้รับความนิยมในอดีตช่วงเหตุการณ์ Dot Com Crisis ปี 2000 หรือ ยุค Nifty Fifty ในปี 1972 (เหตุการณ์หุ้นขนาดใหญ่ได้รับความนิยมเข้าลงทุน หลังปัญหาฟองสบู่หุ้นอิเล็กทรอนิกส์ประสบปัญหา) กลับพบว่า ระดับ P/E หุ้นในกลุ่ม Magnificent 7 ยังปรับขึ้นไม่ถึงระดับที่สูงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาดังกล่าว
- ในการประกาศผลการดำเนินงานไตรมาสที่ 3 จะเห็นว่า บางบริษัทกำลังเผชิญความท้าทายในอนาคต เช่น ปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งล่าสุดสหรัฐได้ออกมาตรการควบคุมการส่งออกชิปไปยังประเทศจีนส่งผลกระทบเชิงลบต่อแนวโน้มการเติบโตของ Nvidia หรือ การแข่งขันตัดราคา (Price War) ที่เข้มข้นในกลุ่มผู้ผลิตและจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าทำให้ผลประกอบการของ Tesla ไตรมาสล่าสุดลดลงอย่างมีนัยสำคัญ เป็นต้น อย่างไรก็ดีอ้างอิงจากข้อมูล Bloomberg Consensus ระบุว่าอัตราเติบโตของกำไรต่อหุ้นเฉลี่ยของกลุ่ม Magnificent 7 สำหรับปี 2024 จะอยู่ที่ระดับ 26% ต่อเนื่องจากผลการดำเนินงานในปีนี้ ของกลุ่ม Magnificent 7 ที่ส่วนใหญ่ยังออกมาเติบโตมากกว่าที่คาด ทำให้คาดว่าปัจจัยลบบางอย่างจะส่งผลกระทบในระยะสั้นเท่านั้น
หุ้นกลุ่มอื่นๆ มีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกลุ่ม Magnificent 7
การที่หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 โดนขายทำกำไรนั้น อาจไม่ใช่สิ่งที่นักลงทุนต้องกังวล เพราะหลังจากปัจจัยมหภาคต่างๆ เริ่มเอื้ออำนวยต่อการลงทุนมากขึ้น เช่น อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่ย่อตัวลง รวมถึงตัวเลข CPI ที่มีแนวโน้มปรับลดลงและรายงานน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาด ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่าวัฏจักรอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นใกล้สิ้นสุดแล้ว ส่งผลให้นักลงทุนเริ่มกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่มอื่นๆ นอกจากกลุ่ม Magnificent 7 สังเกตได้จากกองทุน ETF IWM ซึ่งเป็นตัวแทนดัชนีหุ้นเล็ก Russell 2000 ที่มีเม็ดเงินไหลเข้ามา 5 สัปดาห์ติดต่อกัน อาจเป็นสัญญาณว่าหุ้นที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่ม Magnificent 7 มีความน่าสนใจมากขึ้น ทั้งในแง่ของ Valuation ที่อยู่ในระดับต่ำ รวมถึงความเชื่อของนักลงทุนที่มีต่อ Fed ในการยุติการใช้นโยบายการเงินรัดกุมในปีหน้า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวอาจเริ่มเป็นสัญญาณที่ดีต่อตลาดหุ้นโดยรวมว่า ตลาดหุ้นกลุ่มอื่นๆ จะสามารถปรับเพิ่มขึ้นได้หลังจากนี้ ไม่เพียงแต่กระจุกการปรับขึ้นเฉพาะกลุ่ม Magnificent 7 เท่านั้น
เม็ดเงินไหลเข้าหุ้นขนาดกลาง-เล็กในสหรัฐ ติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 5
ที่มา : Bloomberg
หุ้นกลุ่ม Magnificent 7 เป็นหนึ่งในการลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่น่าพึงพอใจในปีนี้ ทำให้นักลงทุนอาจให้ความสนใจเฉพาะแต่หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ แต่มองว่าการกระจายความเสี่ยงมายังหุ้นในกลุ่มขนาดกลางถึงเล็ก นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในการลงทุน ซึ่งน่าจะเริ่มมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ตามกลุ่ม Magnificent 7 หลังจากตลาดมั่นใจมากขึ้นว่าดอกเบี้ยจะเริ่มกลับมาเป็นขาลงในอนาคต อย่างไรก็ดีในปีหน้า ความเสี่ยงที่เศรษฐกิจจะเริ่มชะลอตัวยังคงมีอยู่ การลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก นักลงทุนควรจะยังคงต้องเน้นหุ้นในกลุ่มที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง มีฐานะทางการเงินที่ดี และราคาหุ้นเริ่มฟื้นตัว เช่น กลุ่ม Software ที่มีรายได้มั่นคงจากการรับรู้รายได้ล่วงหน้าผ่านรูปแบบ Subscription เป็นต้น
ที่มา : Bloomberg, Seeking Alpha, Bernstein Analysis, Apollo Chief Economist
ข้อมูล บทความ บทวิเคราะห์และการคาดหมาย รวมทั้งการแสดงความคิดเห็นทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในรายงานฉบับนี้ทำขึ้นบนพื้นฐานของแหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดที่ได้รับมาและพิจารณาแล้วเห็นว่า น่าเชื่อถือ แต่ทั้งนี้ไม่อาจรับรองความถูกต้อง ความสมบูรณ์ แท้จริงของข้อมูลดังกล่าว ความเห็นที่แสดงไว้ในรายงานฉบับนี้ได้มาจากการพิจารณาโดยเหมาะสมและรอบคอบแล้ว และอาจเปลี่ยนแปลงได้โดยไม่จำเป็นต้องแจ้งล่วงหน้าแต่อย่างใด บทความ บทวิเคราะห์ และการคาดหมายทั้งหลายที่ปรากฏ อยู่ในรายงานฉบับนี้เป็นการนำไปใช้โดยผู้ใช้ยอมรับความเสี่ยงและเป็นดุลยพินิจของผู้ใช้แต่เพียงผู้เดียว
ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บลจ.ทิสโก้ หรือ TISCO Contact Center โทร. 0 2633 6000 กด 4, 0 2080 6000 กด 4 และเว็บไซต์ tiscoasset หรือแอปพลิเคชัน TISCO My Funds