มูลนิธิรักษ์ตับ ชวนลงชื่อแคมเปญ Voice for change เพื่อเปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ
"มูลนิธิรักษ์ตับ" ชวนรวมพลังลงชื่อแคมเปญ "Voice for change - หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ" ดันให้ถึงเป้าหมาย 10,000 เสียง เพื่อเพิ่มโอกาสผู้ป่วยเข้าถึงสิทธิการรักษาด้วยยานวัตกรรม
22 มีนาคม 2566 "มะเร็งตับ" ถือเป็นหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของคนไทย และยังถือเป็น "มะเร็ง" ที่มียอดผู้เสียชีวิตมากที่สุดเมื่อเทียบกับมะเร็งชนิดอื่นๆ ที่พบในประเทศ โดยในปี พ.ศ. 2563 ยอดผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับมีจำนวนสูงถึง 26,704 ราย จากจำนวนผู้ป่วยที่พบทั้งหมด 27,394 ราย ขณะที่ยอดผู้ป่วยใหม่และจำนวนผู้เสียชีวิตยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต ถือเป็นวาระเร่งด่วนทางด้านสาธารณสุขของไทยที่ทุกคนต้องหันมาให้ความสำคัญไม่แพ้ภัยสุขภาพอื่นๆ
เนื่องจากมะเร็งตับมักไม่ค่อยแสดงอาการในระยะเริ่มต้น กว่าผู้ป่วยจะทราบว่าตนเองป่วยเป็นมะเร็งตับก็อยู่ในระยะลุกลามแล้ว อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังมีโอกาสที่จะได้รับการรักษาให้หายได้ หากแต่ปัจจุบันผู้ป่วยมะเร็งตับในไทยยังไม่สามารถเข้าถึงสิทธิการรักษาตามมาตรฐานสากล ประกอบกับราคาค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูง จึงทำให้ยอดผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับยังคงเพิ่มสูงขึ้น ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่แค่หนึ่งชีวิตที่ถูกพรากไป แต่ยังหมายถึงหนึ่งชีวิตที่มีความหมายสำหรับอีกหลายชีวิต หนึ่งชีวิตอันเป็นที่รัก หนึ่งชีวิตที่อาจเป็นเสาหลักของครอบครัว หรือหนึ่งชีวิตที่อาจเป็นตัวคุณเองก็ได้
เพื่อเป็นกระบอกเสียงสะท้อนถึงผลกระทบที่ผู้ป่วยต้องเผชิญและผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านแนวทางการรักษาผู้ป่วย มะเร็งตับ อย่างมีคุณภาพ มูลนิธิรักษ์ตับ จึงได้จัดแคมเปญ Voice for Change : หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ เพื่อเชิญชวนให้ประชาชนมาร่วมลงชื่อเพื่อเร่งผลักดันสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยให้ครอบคลุมยานวัตกรรมสำหรับ โรคมะเร็งตับ เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยมีเป้าหมายที่จะรวบรวมจำนวนผู้ลงชื่อให้ได้ 10,000 รายชื่อ บน change.org อย่างไรก็ดี จนถึงขณะนี้มีผู้ลงชื่อผลักดันแคมเปญแล้ว 3,432 คน หรือราว 1 ใน 4 ของยอดที่ต้องการ ซึ่งยังขาดอยู่อีก 6,568 รายชื่อ เพื่อยื่นเรื่องให้หน่วยงานที่พิจารณาสิทธิการรักษาพยาบาลตระหนักถึงความสำคัญของยานวัตกรรมที่มีต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งตับ และบรรจุยาที่มีประสิทธิภาพตามหลักมาตรฐานสากลลงในรายการเบิกจ่าย ซึ่งจะช่วยขยายโอกาสการเข้าถึงการรักษาและเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นให้ผู้ป่วยมะเร็งตับ
แม้แนวทางการรักษา โรคมะเร็งตับ ในปัจจุบันจะมีหลากหลายวิธี อาทิ การผ่าตัด การปลูกถ่ายตับ การอุดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงก้อนมะเร็ง การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) การรักษาด้วยยามุ่งเป้า (Targeted Therapy) และการรักษาด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy) ร่วมกับยาต้านการสร้างหลอดเลือด โดยขึ้นอยู่กับดุลพินิจของแพทย์ในการเลือกแนวทางการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วย แต่ยังมีผู้ป่วยมะเร็งตับจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถเข้าถึงยานวัตกรรมเพื่อรักษา มะเร็งตับ ที่มีผลการวิจัยรับรองถึงประสิทธิภาพในการเพิ่มอัตราการรอดชีวิตได้ เนื่องจากข้อจำกัดด้านสิทธิเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลขั้นพื้นฐานของคนไทยที่ยังไม่ครอบคลุม ส่งผลให้ผู้ป่วยยังคงต้องทุกข์ทรมานจากอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง
วีรยุทธ ยอดคำ ผู้ป่วยมะเร็งเซลล์ตับระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะลุกลาม เผยถึงประสบการณ์การป่วยเป็นมะเร็งตับและขั้นตอนการรักษาว่า ผมป่วยมาตั้งแต่ปี 2562 รับประทานอาหารไม่ได้ น้ำหนักลดลงวันละ 1-2 กิโลกรัมทุกวัน ในช่วง 1 เดือน น้ำหนักผมลดไป 20 กิโลกรัม คิดว่าตัวเองคงไม่รอด เมื่อพบหมอจึงแนะนำให้รักษาด้วยการรับประทานยา เพราะเคสผมเป็นระยะลุกลาม เนื่องจากเป็นไวรัสตับอักเสบซี หมอจึงให้ยาต้านไวรัสก่อน แล้วค่อยใช้ยาพุ่งเป้ารักษามะเร็งอีกที ผมรับประทานยาเม็ดได้ประมาณ 2-3 เดือน แล้วเกิดอาการข้างเคียงเยอะมาก มือเท้าแตก จับอะไรนิดหน่อยเป็นแผลแตกหมดเลย ใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างลำบากจึงขออาจารย์หยุดยา เพราะรู้สึกทนไม่ไหวและขอเปลี่ยนเป็นยาตัวอื่น อาจารย์เลยแนะนำตัวยาปัจจุบันให้ เป็นยาฉีดเข้าเส้นเลือด ซึ่งรู้สึกว่าดีขึ้น ไม่มีผลข้างเคียง และน้ำหนักเพิ่มขึ้น ถ้าเปรียบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งรายอื่นๆ ที่ผมเคยพูดคุยด้วยตอนรอพบหมอ เขาบอกว่าพวกเขาได้รับยาคีโม แต่มันไม่ใช่ยาที่พวกเขาอยากได้ เพราะกลับบ้านไปแล้วจะรู้สึกเจ็บปวดทรมานมาก ผมร่วง กินข้าวไม่ได้ นอนไม่ได้ เพราะจริงๆ แล้วทุกคนก็อยากเข้าถึงยาที่มีประสิทธิภาพ อยากได้สิ่งที่ดีๆ ให้ชีวิตตัวเอง ปัจจุบันผมมาหาหมอทุกๆ 3 สัปดาห์ เพื่อมารับยา แต่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายเอง เพราะยาไม่ได้อยู่ในสิทธิ์รักษา 30 บาท
การเผชิญกับโรคมะเร็งตับ ถือเป็นความท้าทายไม่แค่เฉพาะกับผู้ป่วย แต่ยังรวมถึงครอบครัวและเจ้าหน้าที่ผู้ดูแล ที่ต้องต่อสู้เคียงข้างร่วมกันไปกับผู้ป่วย และคอยให้กำลังใจซึ่งกันและกัน นอกจากนี้ มะเร็งตับยังถือเป็นภัยสุขภาพที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระบบสาธารณสุขของไทยต้องรับมืออย่างต่อเนื่องด้วยจำนวนยอดผู้ป่วยที่พุ่งสูงขึ้น
รศ.พญ.วัฒนา สุขีไพศาลเจริญ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินอาหารและตับ โรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น และประธานมูลนิธิรักษ์ตับ กล่าวว่า อุบัติการณ์ของ โรคมะเร็งตับ ในไทยเป็นสถานการณ์ที่น่าเป็นห่วง เสียงสะท้อนและสนับสนุนจากเราทุกคนในการรณรงค์ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาสิทธิการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะสิทธิในการเบิกจ่ายยาตามแนวทางการรักษาพยาบาลโดยไม่สร้างความยากลำบากด้านค่าใช้จ่ายแก่ผู้ป่วย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันความเปลี่ยนแปลงต่อเส้นทางการรักษาของผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อช่วยชะลอสถานการณ์ความรุนแรงของโรค และช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสเข้าถึงสิทธิการรักษาที่ได้มาตรฐานเช่นประเทศอื่นๆ ทั่วโลก และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ผู้ป่วย
นอกจากการจัดกิจกรรมการรณรงค์บนเว็บไซต์ change.org เพื่อรวบรวมรายชื่อประชาชนที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงของการรักษาผู้ป่วยมะเร็งตับแล้ว ทางมูลนิธิฯ ยังได้ทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อวิดีโอในโลกออนไลน์ร่วมกับสามอินฟลูเอนเซอร์คนรุ่นใหม่ ได้แก่ พี่ชาวี@RealChaVee, อาเธอร์ (อาธารญา)@ArthurLoriJa และ sutiฯ@sfkkfs เพื่อสะท้อนเรื่องราวความยากลำบากที่ผู้ป่วยมะเร็งตับและครอบครัวต้องเผชิญ รวมถึงตอกย้ำถึงความสำคัญของพลังเสียงเรียกร้องจากประชาชนเพื่อนำไปสู่การพิจารณาและบรรจุสิทธิการรักษาพยาบาลที่ครอบคลุม
แคมเปญ Voice for Change : หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ มีเป้าหมายรวบรวม 10,000 รายชื่อ เพื่อนำไปประกอบจดหมายเปิดผนึกและยื่นต่อหน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพิจารณาสิทธิรักษาพยาบาลของคนไทย อันจะนำไปสู่โอกาสในการเข้าถึงตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วย คลายความกังวลใจด้านต่างๆ ของผู้ดูแล ลดการสูญเสียทรัพยากรแรงงานของประเทศ และช่วยให้ระบบดูแลสุขภาพของประเทศไทยรับมือกับภัยคุกคามทางสุขภาพนี้ได้อย่างยั่งยืน
ปัจจุบัน มะเร็งตับ ยังคงเป็นภัยสุขภาพที่คุกคามชีวิตคนไทยและสร้างความยากลำบากในการใช้ชีวิตให้แก่ผู้ป่วยอย่างมาก โดยที่เราไม่อาจรู้ว่าจะเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวหรือแม้กระทั่งตัวเราเองเมื่อใด การผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านแนวทางการรักษาโรคมะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นจึงเป็นหนทางหนึ่งที่อาจมอบโอกาสให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งตับได้ลุกขึ้นสู้และมีชีวิตใหม่ เพื่อคนที่พวกเขารัก แต่การเปลี่ยนแปลงนี้จะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องอาศัยพลังและความร่วมมือจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะตัวเราในฐานะประชาชน ที่ต้องร่วมกันเปล่งเสียงสะท้อนให้ดังยิ่งขึ้น เพราะทุกเสียงของเราล้วนมีความหมายสำหรับผู้ป่วยมะเร็งตับ
ทุกเสียงมีความสำคัญต่อการผลักดันการพิจารณาสิทธิรักษาพยาบาล ร่วมลงชื่อในแคมเปญ Voice for Change : หนึ่งเสียง เปลี่ยนชีวิตผู้ป่วยมะเร็งตับ ได้โดย คลิก