การสูบ "บุหรี่ไฟฟ้า" ช่วยให้ "เลิกสูบบุหรี่" แบบมวนได้จริงหรือ?
หลายคนมีความเชื่อว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า สามารถช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ แต่ความจริงแล้วจะเป็นอย่างที่คิดหรือไม่ต้องลองมาหาคำตอบไปพร้อมกันกับผลสำรวจที่นักวิชาการได้อ้างอิงในบทความนี้
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) เผยว่า จากการอ้างว่า บุหรี่ไฟฟ้า เป็นเหตุให้อัตราการสูบบุหรี่ลดลงในปี 2564 นั้น หากพิจารณาข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2534-2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของไทยลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่แล้วก่อนที่จะมีบุหรี่ไฟฟ้าลักลอบเข้ามาใช้ในไทยในปี 2550
ในทางตรงข้าม ความชันของกราฟจำนวนคนสูบบุหรี่กลับมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2550 สะท้อนว่า บุหรี่ไฟฟ้าน่าจะเป็นสาเหตุทำให้การลดอัตราการสูบบุหรี่ชะลอตัวลงกว่าที่ควรจะเป็นด้วยซ้ำ แนวโน้มดังกล่าวเป็นหนึ่งในที่มาของความพยายามป้องกันการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยออกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในไทยตั้งแต่ปี 2557
ซึ่งหากวิเคราะห์ข้อมูลดังกล่าวยังพบว่า สอดคล้องกับข้อมูลของ Euromonitor ที่พบอัตราการสูบบุหรี่ทั่วโลกลดลงอย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะมีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2557 นั่นจึงเป็นเหตุผลให้อุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ ต้องหาผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อชักจูงคนที่ เลิกสูบบุหรี่ และเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่ ให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อคงลูกค้ายาสูบต่อไป
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เสริมว่า NASEM (National Academies of Science, Engineering and Medicine, USA) ได้รายงานว่า 80% ของผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อ เลิกสูบบุหรี่ จะหันมาติดบุหรี่ไฟฟ้าแทน ในขณะที่กลุ่มที่ใช้วิธีอื่นเพื่อเลิกบุหรี่ (Nicotine Replacement Therapy, NRT) มีเพียง 9% ที่ยังสูบบุหรี่ บ่งชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ทำให้หยุดนิโคติน เป็นเพียงหันมาเสพนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าแทน และสรุปว่า กลยุทธ์การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามาเลิกบุหรี่มวนในผู้ใหญ่ต้องแลกด้วยการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนนักสูบหน้าใหม่ที่ยังไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ซึ่งงานวิจัยชี้ชัดว่า นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายต่อปอด หัวใจ และหลอดเลือด โดยเฉพาะจะทำลายสมอง ตั้งแต่เป็นทารกในครรภ์จนถึงอายุ 25 ปี
"จึงเป็นเหตุผลที่ไทยจึงไม่ควรยกเลิกกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะต้องแลกกับอนาคตของเยาวชน ซึ่งอาจจะเข้ามาเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้" ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว
ยิ่งหากศึกษากรณีตัวอย่างในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และนิวซีแลนด์ ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่อนุญาตให้มีบุหรี่ไฟฟ้าทั้งสิ้น แม้จะมีกฎหมายห้ามขายให้เยาวชนก็ตาม แต่กลับมีวิกฤติการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน
"มาตรการที่ดีที่สุดของไทยคือ ห้ามนำเข้าและห้ามขาย บุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเยาวชนไทยอย่างแท้จริง ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องร่วมมือกันบังคับใช้กฎหมายให้เข้มงวด และไทยควรเร่งเข้าร่วมพิธีสารเพื่อกำจัดการค้าที่ผิดกฎหมายในผลิตภัณฑ์ยาสูบ (Protocol to Eliminate Illicit Trade in Tobacco Products) ในกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก ซึ่งการเข้าร่วมพิธีสารฯ จะเป็นความร่วมมือระหว่างประเทศในการติดตามและตรวจสอบ (Track and Trace) ตั้งแต่ต้นทางการผลิต การกระจายสินค้า จนไปถึงร้านค้าปลีก โดยจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถการบังคับใช้กฎหมายและได้รับความร่วมมือระหว่างประเทศในการกำจัดต้นเหตุของการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายจากอุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ" ผศ.ดร.นพ.วิชช์ กล่าว