เตือนประชาชนระวังป่วยโรคปอดอักเสบรุนแรงจากการ “สูบบุหรี่ไฟฟ้า”
กรมควบคุมโรค เตือนประชาชนว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้า อาจส่งผลทำให้เกิดโรคและภัยสุขภาพได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคปอดอักเสบรุนแรง ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว รวมถึงอาการทางระบบทางเดินอาหาร เ
จากการเฝ้าระวังข้อมูลเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ในประเทศไทย พบว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ที่จำหน่ายในท้องตลาดมีความหลากหลายในส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์และในบางยี่ห้อไม่สามารถระบุสารตั้งต้นในการผลิตได้ พร้อมทั้งมีการโฆษณาสรรพคุณเกินจริง รวมถึงบิดเบือนข้อมูลว่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่ดีต่อสุขภาพ จนอาจก่อให้เกิดความหลงเชื่อ เข้าใจผิด และนำไปสู่การใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าว
วันนี้ (12 พฤศจิกายน 2565) นพ.ขจรศักดิ์ แก้วจรัส รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า จากกรณีที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แถลงข่าวเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 เรื่องพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) โดยมีสาเหตุมาจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเกิดจากความเข้าใจผิดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอันตราย และไม่ทำให้เกิดโรคร้ายต่อสุขภาพ จนทำให้เกิดการป่วยแบบเฉียบพลันขึ้น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
เลี้ยงลูกอย่างไร? ให้ห่างไกล "โรคปอดอักเสบ"
ป้องกันก่อนเป็นโรค "ปอดอักเสบ" อย่าปล่อยให้รุนแรง อันตรายทั้งเด็ก-ผู้ใหญ่
"โรคอิวารี่"ปอดอักเสบรุนแรง อัดบุหรี่ไฟฟ้าแค่ 3 เดือน ก็ป่วยได้
ออกกำลังกาย กินคลีน ไม่สูบบุหรี่..แล้วทำไมเป็น "มะเร็งปอด"
เช็กอาการผลกระทบจากควันบุหรี่ไฟฟ้า
นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวต่อว่า สำหรับผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก ควันบุหรี่ หากมีอาการไข้ หนาวสั่น ไอ หายใจลำบาก ปวดเมื่อยตามตัว รวมถึงมีอาการในระบบทางเดินอาหาร เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการตรวจรักษาที่โรงพยาบาลใกล้บ้านทันที
นอกจากนี้ เพื่อเป็นการรองรับสถานการณ์ดังกล่าว ขอความร่วมมือไปยังโรงพยาบาลทุกแห่งทั่วประเทศให้จัดระบบเฝ้าระวัง และรายงานข้อมูลผู้ป่วยที่มีอาการเข้าข่ายโรคปอดอักเสบรุนแรง ให้กรมควบคุมโรคทราบ
ย้ำเด็ก-เยาวชนสูบบุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพ
นพ.ขจรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่าขอเน้นย้ำไปยังประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนว่า สูบบุหรี่ไฟฟ้าทำลายสุขภาพ อย่าหลงเชื่อหรือตกเป็นเหยื่อโฆษณาที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าทางเลือกในการช่วยเลิกสูบบุหรี่
ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค 0 2590 3850 หรือ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422