ทำไมวัยรุ่นหญิงถึงสูบ"บุหรี่ไฟฟ้า"หาคำตอบได้
นักสูบหน้าใหม่และวัยรุ่นผู้หญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลสำรวจสุขภาพคนไทยปี 2562-2563 พบวัยรุ่นอายุ 10-19 ปี เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า 5.3% สูบเป็นประจำ 2.9% และที่น่าตกใจคือ 30% ของวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประจำเป็นผู้หญิง
การเติบโตของบุหรี่ไฟฟ้าและผลิตภัณฑ์ยาสูบแบบให้ความร้อน(Heated Tobacco Product)ได้รับความนิยมมากขึ้นทั่วโลก จากประมาณ 7 ล้านคนในปี 2011 เพิ่มมาเป็น 41 ล้านคนในปี 2018
ในปี 2021 ตามข้อมูลจากยูโรมอนิเตอร์ (Euromonitor International) บริษัทสำรวจข้อมูลทางการตลาดระดับโลก มีการคาดการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 45 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่ตลาดทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึงเกือบ 2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ หรือเกือบ 6 แสนล้านบาท เติบโตขึ้นกว่า 180% ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
ตลาดใต้ดินบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 6,00 ล้านบาทต่อปี
โดยในประเทศสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และฝรั่งเศส ถือเป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด 3 อันดับแรกที่มีการใช้จ่ายสูงถึง 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐไปกับผลิตภัณฑ์ไร้ควันและบุหรี่ไฟฟ้าในปี 2018
รศ.อุ่นกัง แซ่ลิ้ม รองคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ให้สัมภาษณ์"กรุงเทพธุรกิจ"ว่าหลังจากที่มีการแบนห้ามนำเข้าหรือครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าทำให้ตอนนี้บุหรี่ไฟฟ้ากลายเป็นอยู่ตลาดใต้ดิน ซึ่งการจะไปเก็บข้อมูล หรือควบคุมจึงเป็นไปได้ยากมากขึ้น
โดยจากการศึกษา พบว่า ตลาดใต้ดินของบุหรี่ไฟฟ้ามีมูลค่าประมาณ 2,800-6,000 ล้านบาทต่อปี เนื่องจากมีการเติบโตค่อนข้างเร็ว และยิ่งมีการห้ามเหมือนยิ่งยุ คนให้ความสนใจมากขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
นักสูบหน้าใหม่พุ่ง เหตุหาซื้อง่าย-งานอดิเรก
ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคติดต่อ สหรัฐอเมริกาหรือ CDC เปิดเผยรายงานว่า ระหว่างปี 2016-2019 ยอดขายบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้นเกือบ 300% และพบว่าในปี 2020 มีเกือบ 20% เป็นนักเรียนมัธยมปลาย รายงานชี้ว่า เป็นผลมาจากกลิ่นและรส รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ผลิตต้องการดึงดูดใจวัยรุ่น ปี 2019 สหรัฐอเมริกาตื่นตัวเรื่องการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า เมื่อมีรายงานพบผู้ป่วยโรคปอดอักเสบกว่า 2,500 คน และเสียชีวิต 55 คน ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้า จนรัฐนิวยอร์กออกกฎหมายแบนบุหรี่ไฟฟ้าแต่งกลิ่น โดยอ้างเหตุผลว่าเป็นการดึงดูดใจวัยรุ่น
อย่างไรก็ตามต้นเดือนมกราคม 2563 ศาลคว่ำกฎหมายนี้ โดยให้เหตุผลว่าใช้อำนาจมากเกินไป ต่อมากันยายน 2563 มีข้อกำหนดให้บริษัทต้องยื่นขออนุญาตก่อนวางจำหน่าย
รศ.อุ่นกัง กล่าวต่อว่าตอนนี้ในประเทศไทยยังไม่มีตัวเลขชัดเจนว่ามีผู้สูบมากน้อยขนาดไหน เพราะเมื่อห้ามจะไปถามใครก็ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ยกเว้นจะเห็นว่ามีการสูบในที่สาธารณะมากขึ้น ขณะเดียวกันการหาซื้อบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำได้ง่ายขึ้น เพียงพิมพ์ไปในเว็บไซต์ก็มีขึ้นมามากมาย แถมราคาไม่แพงเหมือนช่วงแรกๆ รวมทั้งการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้ไม่มีกลิ่นติดตัว ไม่เหมือนสูบบุหรี่ทั่วไป และหลายคนซื้ออุปกรณ์บุหรี่ไฟฟ้าเป็นเหมือนงานอดิเรก มี Accessory ให้สะสมแต่งบุหรี่ไฟฟ้าให้สามารถปรุงแต่งกลิ่นและรสมากมาย
- “บุหรี่ไฟฟ้ายังมีข้อถกเถียงในสังคมไทยว่าเหมาะสม ควรเป็นสินค้าควบคุม หรือควรห้าม ออกกฎหมายชัดเจน และในไทยยังไม่มีงานวิจัยชี้ชัดว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายต่อร่างกายอย่างไร ควรจะจัดเก็บภาษีอย่างไร หรือควรจะดำเนินการอย่างไร ทำให้ขณะนี้การใช้บุหรี่ไฟฟ้ามีความแพร่หลาย และหลายคนมองเป็นเรื่องปกติในการสูบบุหรี่ไฟฟ้า รวมทั้งไม่คิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่อีกด้วย”รศ.อุ่นกัง กล่าว
“บุหรี่ไฟฟ้า”ในไทยไม่มีกฎหมายควบคุมโดยตรง
สำหรับการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย ปัจจุบันไม่มีการตราหรือบัญญัติกฎหมายที่ใช้ควบคุมโดยตรง เพียงใช้การออกประกาศหรือคำสั่งตามขอบเขตอำนาจของผู้รับผิดชอบในส่วนราชการนั้นๆ เพื่อการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าในขอบข่ายอำนาจตามกฎหมายที่มีอยู่ ทำให้เกิดความสับสนในการบังคับใช้และทำความเข้าใจต่อเนื้อหาของกฎหมาย
การขายสินค้าที่เคยถูกสั่งห้ามจึงไม่อาจลงโทษได้ตามกฎหมายเดิม แม้ว่าคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ 9/2558 ยังคงให้มีผลใช้บังคับต่อไปได้ ตามที่มาตรา 37 คุ้มครองไว้ก็ตาม แต่ไม่มีมาตราที่กำหนดโทษให้ดำเนินคดีลงโทษได้แล้ว
“เมื่อเวลาพบเห็นคนสูบบุหรี่ และบอกให้เขาหยุดสูบ มักจะได้รับคำตอบมาทันทีว่าทำไมต้องไม่ให้สูบ เพราะไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมาย ขณะเดียวกันในไทยงานวิจัยเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้ามีน้อยมาก ไม่มีการศึกษาวิจัยเรื่องโทษหรืออันตรายที่ชัดเจน ดังนั้น หากรัฐทำให้เป็นสินค้าควบคุมโดยใช้มาตรการภาษีที่เหมาะสม อาจเป็นฐานภาษีเพิ่มเติมจากภาษียาสูบที่สร้างรายได้ให้แก่รัฐบาลปีละหลายพันล้านบาท จึงอยากแนะนำบุหรี่ไฟฟ้าให้เป็นสินค้าควบคุม และส่งเสริมการวิจัยเพื่อใช้ในการดำเนินนโยบายบุหรี่ไฟฟ้า”รศ.อุ่นกัง กล่าว
"บุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ กัญชา" ประตูสู่วงจรสีเทา
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 2 พ.ย. ภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบในประเทศไทย ได้จัดเสวนาวิชาการ "บุหรี่ไฟฟ้า วิกฤตสุขภาวะวัยรุ่นไทย" มีนักวิชาการ และภาคีเครือข่ายร่วมแสดงความคิดเห็นห่วงใยกลุ่มนักสูบหน้าใหม่ โดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงที่เข้าสู่วงจรบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น โดย ศ.ดร.สมพงษ์ จิตระดับ คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ กล่าวว่า พื้นฐานที่ทำให้เด็กและเยาวชนไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดนั้น จะทำให้ สำคัญก่อนที่จะไปเรื่องนั้น คือ เรื่องบุหรี่ เมื่อก่อนกว่าจะสู้กับบุหรี่ได้เป็นเรื่องยาก เพราะคนสูบบุหรี่กว่า 10 ล้านคน แต่ปัจจุบัน บุหรี่ลดลงไปจำนวนหนึ่ง
แต่สิ่งที่น่าสนใจ คือ เรื่องของบุหรี่ไฟฟ้า ผู้หญิงหลายคนมองว่าสูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วเท่ห์ และมีเรื่องกัญชา ซึ่งทั้งบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า และกัญชา เป็น 3 อันตรายแนวราบและท้าทายเด็กและเยาวชน ซึ่งเด็กและเยาวชนเข้าถึงอันตรายทั้ง 3 สถานการณ์วิกฤตในปัจจุบันเป็นสถานการณ์น่าเป็นห่วง ไม่ใช่เพียงการปราบปรามยาเสพติด
"ถ้าเด็กและเยาวชนยุ่งเกี่ยวทั้ง 3 ก็จะสามารถไปยุ่งเกี่ยวกับเหล้า ยาบ้า และสู่ความรุนแรง ปืนได้ โดยเฉพาะเด็กที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยง ตอนนี้สุขภาวะของเด็กไทยน่าห่วงอย่างมาก เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่เตี้ย แคระแกร็น แต่รุนแรง ขณะเดียวกันในสังคมคนเครียดและมีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งประเทศไทยมีการควบคุมบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า เหล้า แต่ในทางปฎิบัติกลายเป็นเรื่องเสรี ใครๆ ก็เข้าถึงได้ทำให้ทุกคนเปิดประตูสู่วงจรสีเทาจนเป็นเทาดำได้" ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าว
ดัน "บุหรี่ไฟฟ้า" เป็นวาระแห่งชาติ จัดทำหลักสูตรบุหรี่ศึกษา
ทั้งนี้ "เด็กและเยาวชน รวมถึงผู้หญิง" เป็นเป้าหมายนักสูบหน้าใหม่ เพราะเด็กและเยาวชนอยากรู้อยากเห็น ขณะที่ผู้หญิงเป็นเรื่องค่านิยม เจตคติ และเรื่องของสังคมที่อยู่โดดเดี่ยวมากขึ้น การยอมรับเด็กเป็นเรื่องสำคัญ ขณะเดียวกัน เด็กพัฒนาการอ่อนแอและอันตราย เด็กไทยด้อยคุณภาพ มีพัฒนาการด้านสมอง หัวใจ ปอด และมะเร็งทั่วร่างกายได้
ศ.ดร.สมพงษ์ กล่าวต่อว่าสำหรับการป้องกันนั้น จะต้องมีการผลักดันบุหรี่ไฟฟ้าเป็นวาระแห่งชาติ เหมือนที่สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศผลักดันกัญชาเป็นวาระแห่งชาติ รวมถึงจัดทำระบบหลักสูตร บุหรี่ศึกษา เพิ่มทักษะสมรรถนะ ความเข้าใจให้แก่เด็ก และมหาวิทยาลัยต้องร่วมกันป้องกันโดยการทำ MOU ร่วมกัน
“บุหรี่ไฟฟ้า” วิกฤตประเทศระบาดสู่เด็กประถม
ด้าน พชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า การสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องน่ากังวล ที่ผ่านมาพบว่าเด็กป.5 ก็สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้ว และไม่ใช่สูบคนเดียว แต่เป็นการรวมกลุ่มกันสูบ โดยบุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่งแบ่งกันสูบประมาณ 20 คน ดังนั้น การสูบบุหรี่ไฟฟ้า เป็นวิกฤตของคนไทยทั้งประเทศ อีกทั้ง บุหรี่ไฟฟ้ามีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ เหมือนเครื่องประดับในร่างกาย และหลายคนสูบเพราะรู้สึกเท่ห์ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่เพียงเรื่องของคนอยากสูบหรือไม่อยากสูบ แต่เป็นเรื่องการตลาดที่เกี่ยวข้อง
“เป้าหมายของการขายบุหรี่ไฟฟ้า ในขณะนี้ คือเด็ก โดยเฉพาะเด็กเล็ก เพราะยิ่งสูบยิ่งติดยิ่งสูบนาน ตอนนี้เด็กประถมสูบบุหรี่ไฟฟ้าจำนวนมาก และตอนนี้ไม่ใช่วิกฤตสุขภาพ แต่เป็นวิกฤตของประเทศ เราควรผลักดันบุหรี่ไฟฟ้า เป็นวาระแห่งชาติ เมื่อเด็กเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ไว เขาก็จะเข้าสู่เหล้า ยาเสพติด และความรุนแรงได้ไว ถ้ากันเด็กไม่ให้เข้าสู่วงจรเหล่านี้ จึงเป็นภารกิจของทุกคน” พชรพรรษ์ กล่าว
พชรพรรษ์ กล่าวปัจจุบันไทยมีปัญหาทั้งโครงสร้างสังคม เศรษฐกิจ ครอบครัว และอื่นๆ ซึ่งผู้กำหนดนโยบายและสถาบันครอบครัวอ่อนแอลง ฉะนั้น ต้องฝากไปถึงผู้กำหนดนโยบายต้องไม่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย และต้องผลักดันให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นวาระแห่งชาติ อย่าหวังเพียงภาษีจากสิ่งที่เป็นภัยต่อประชาชน ต่อสังคม รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อย่าง กระทรวงศึกษาธิการ ต้องทำให้ครูเข้าใจบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อถ่ายทอดความรู้ ข้อมูลไปยังเด็กและผู้ปกครองอย่างเข้าใจ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง
สร้างความเข้าใจครู ผู้ปกครอง เท่าทันบุหรี่ไฟฟ้า
ขณะที่ ฐาณิชชา ลิ่มพานิช ผู้รับผิดชอบโครงการครอบครัวปลอดบุหรี่ กล่าวว่าบุหรี่ไฟฟ้า เป็นปัญหาเชิงโครงสร้าง สถานการณ์ตอนนี้ไม่ใช่ซื้อได้เพียงโซเซียลมีเดีย แต่ในตลาดก็สามารถซื้อได้ ซึ่งบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสถานการณ์ใกล้ตัวทุกคน แต่ไม่ว่าจะเป็นที่โรงเรียน หรือที่บ้าน ครู ผู้ปกครองอาจจะไม่เข้าใจเรื่องเหล่านี้
“การแก้ปัญหาเรื่องสูบบุหรี่ไฟฟ้า ต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้มีสภาพแวดล้อมที่รู้เท่าทัน สร้างกระบวนการเรียนรู้ในโรงเรียนแก่ครู หรือการสร้างความเข้าใจแก่ผู้ปกครอง การมีเครือข่ายที่มีพ่อแม่ช่วยกัน เป็นเรื่องที่ดี ต้องทำงานร่วมกัน รวมถึงขณะนี้มีข้อมูลจำนวนมาก เราต้องหาเหตุผลว่าทำไมเด็กๆ ถึงเชื่อข้อมูลไหนและไม่เชื่อข้อมูลไหน ต้องมีการออกแบบการเรียนรู้ สร้างความเข้าใจแก่เด็ก” ฐาณิชชา กล่าว
สื่อสารกับลูกด้วยเข้าใจ ไม่ตำหนิ ไม่สั่งสอน
ผศ.พญ.จิราภรณ์ อรุณากูล (หมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน) ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้า หลายคนมักมองว่าทำให้เกิดการยอมรับ ทั้งที่จริงๆ ไม่ใช่เป็นการยอมรับ ขณะเดียวกันโครงสร้างทางสังคม บีบบังคับทำให้เด็กและเยาวชนไม่ได้รับการยอมรับ หรือได้รับการชื่นชมว่าเก่ง เจ๋ง เท่ห์ ทำให้เด็กไปสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อทำให้รู้สึกว่าตัวเองเจ๋ง เท่ห์ และบางคนบ้าน โรงเรียนไม่ได้ทำให้เขารู้สึกสบายใจ มีความสุข เขาก็จะไปสู่การสูบบุหรี่ไฟฟ้า หรือยุ่งเกี่ยวกับสิ่งไม่ดี เพื่อทำให้เขารู้สึกผ่อนคลาย สงบ สบายใจ และได้เป็นส่วนหนึ่งในการรับเข้ากลุ่ม เป็นทางออกของเด็ก
“การสื่อสารที่สำคัญ แทนที่จะไปเห็นลูกแล้วโวยวาย หรือดราม่า โดยไม่ฟังว่าเขาผิดหวังอะไรบ้างที่มาเป็นลูกของเรา จนทำให้เขาต้องวิ่งเข้าหาสิ่งไม่ดี การที่พ่อแม่เจอลูกสูบบุหรี่ไฟฟ้า พ่อแม่ต้องกลับมาตั้งสติและเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ พยายามมองว่าเขาทำด้วยเหตุผลบางอย่าง ซึ่งเราต้องฟัง ถ้าเราไม่ฟัง เราจะไม่ได้ยิน และอย่าเข้าไปตำหนิ หรือดราม่าใส่ลูก”ผศ.พญ.จิราภรณ์ กล่าว
แต่ขอให้ไปฟังเขาว่าทำไมเขาทำ ซึ่งการฟังเขาจะทำให้ลูกเข้าใจว่าพ่อแม่ฟังเขาเพื่ออยากเข้าใจ ไม่ใช่เพื่อตำหนิ และฟังเขาด้วยความตั้งใจ ไม่ใช่ฟังเพื่อสั่งสอน และชวนเขาคิดว่าที่เขาทำเป็นอย่างไร รวมถึงสื่อสารด้วยความเป็นห่วง ความรักลูก อยากให้ลูกปลอดภัย ต้องให้กำลังใจและให้เวลาแก่ลูก
ทั้งนี้ โครงสร้างของสังคม ไม่ว่าจะเป็น พ่อแม่ไม่มีเวลาเลี้ยงลูก เด็กเติบโตมาไร้ตัวตน การศึกษาที่ห่วย โรงเรียนไม่ได้เป็นแหล่งพัฒนาศักยภาพมนุษย์ ฉะนั้น การแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ เหล้า หรือปัจจัยเสี่ยงต่อเด็ก ถ้ามองเพียงให้ความรู้เด็กอาจจะไม่สามารถแก้โจทย์ เพราะรากคือสภาพเศรษฐกิจ สังคม ที่ไม่ได้ตอบสนองประชาชน อยากให้การเมืองใส่ใจเรื่องคุณภาพชีวิต เพราะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุดสำหรับชาติ
5 ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่าผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ามักจะบอกว่าต้องการขายบุหรี่ไฟฟ้าให้แก่ผู้ใหญ่ แต่เมื่อมองน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า กลับเห็นชัดเจนว่า น้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าต้องการขายให้แก่เด็ก และปัจจุบันน่าจะมีมากกว่า 16,000 กว่ารสชาติ ขณะเดียวกัน มีงานวิจัยของต่างประเทศ ระบุว่าน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ และอาจเสียชีวิตเฉียบพลันได้ นอกจากนั้น ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าจะมีลักษณะเหมือนอุปกรณ์การเรียน
ประเทศไทยมีอัตราการสูบบุหรี่ในไทย พบว่า วัยรุ่นอายุ 10-19ปี เคยลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า 5.3% และสูบประจำ 2.9% โดยในจำนวนที่สูบประจำ 30% เป็นผู้หญิง
- โดย 5 ปัจจัยทำให้เด็กไทยเสี่ยงติดบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่
- 1.มีพ่อแม่หรือคนในครอบครัวสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- 2.มีเพื่อนสูบบุหรี่ไฟฟ้า
- 3.คนรอบตัวมองว่าการสูบบุหรี่เป็นเรื่องปกติ
- 4.เคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน
- 5.เข้าใจผิดคิดว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย
53% ของวัยรุ่นไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีภาวะซึมเศร้า
“นิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่ธรรมดา พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา และการสูบบุหรี่ไฟฟ้า นำเด็กกลุ่มปกติเข้าสู่การสูบได้ โดยบุหรี่ไฟฟ้า จะมีนิโคตินสูงกว่าบุหรี่ธรรมดา โดยบุหรี่ไฟฟ้า 1 แท่งมีนิโคตินมากกว่าสูบบุหรี่ธรรมดา 20 มวน เด็กไทยที่เริ่มด้วยบุหรี่ไฟฟ้า มีแนวโน้มสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า หรือสูบบุหรี่ทั้งธรรมดา และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 7 เท่า ขณะเดียวกันบุหรี่ไฟฟ้าสัมพันธ์กับโรคซึมเศร้า โดย 53% ของวัยรุ่นไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีภาวะซึมเศร้า และ 7 ใน10 ของเด็กไทยที่ติดบุหรี่จะไม่สามารถเลิกได้”รศ.ดร.พญ. เริงฤดี กล่าว
อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาบุหรี่ไฟฟ้า ต้องช่วยกันทำให้บุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่เรื่องปกติในสังคม เวลารบกับบุหรี่ธรรมดา ที่คนเลิก เพราะบุหรี่ไม่ดี น่ารังเกียจ ใครสูบก็ไม่อยากเข้าใกล้ เราต้องทำให้บุหรี่ไฟฟ้า และยาเสพติด หรือเหล้าเหมือนกับบุหรี่ธรรมดา และต้องทำให้เป็นไปในระดับนโยบาย