ปลุกพลังแกนนำครูอาชีวะ ร่วมเสริมศักยภาพสร้างการเปลี่ยนแปลง
สสส.ผนึก สอศ.มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ปลุกพลังบทบาทแกนนำครูอาชีวะ ร่วมเสริมศักยภาพสร้างการเปลี่ยนแปลง ป้องกันปัจจัยเสี่ยงเหล้า บุหรี่ อบายมุขในสถานศึกษา ระบุปี 2564 อัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี อยู่ที่ร้อยละ 12.7 แต่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุด ร้อยละ 30.5%
เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2565 ที่ โรงแรมอมารี ดอนเมือง แอร์พอร์ต กทม. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ (สอศ.) มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน จัดกิจกรรมอบรมพัฒนาหนุนเสริมศักยภาพครูแกนนำ ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่าย และหนุนเสริมศักยภาพครู และแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา โดยมีวิทยาลัยเข้าร่วมโครงการกว่า 25 แห่ง
ดร.นิติ นาชิต ผู้อำนวยการสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ (สอศ.)กล่าวว่า สถานศึกษาเป็นสถานที่ ที่จะผลิตกำลังคนสำคัญของประเทศ ดังนั้นกิจกรรมต่างๆ ต้องเริ่มต้นจากสถานศึกษา ที่ต้องลงสู่การพัฒนาครูแกนนำ ว่ามีแนวทางในการพัฒนาลูกศิษย์อย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่การทำกิจกรรมของเด็ก เด็กๆ ก็จะมีภูมิคุ้มกันที่จะไปป้องกันตัวเขาเอง รวมถึงขยายผลไปสู่เพื่อนๆ ทำให้นำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยง
ดร.นิติ กล่าวต่อว่า สำหรับการรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงในสถานศึกษานั้น ปัจจุบันมีกิจกรรมที่ป้องกันยาเสพติดอยู่แล้ว ซึ่งเราเอามาเชื่อมโยงกับกิจกรรมที่ สสส. ทำโครงการในส่วนนี้ เพื่อทำให้เด็กมีกิจกรรม และได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อให้เขามีความเข้มแข็ง และมีภูมิคุ้มกัน
โดยตอนนี้มีสถานศึกษาทั้งหมด 25 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนี้ ซึ่งทั้ง 25 แห่งอยู่ในโครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการอาชีวศึกษา (Excellent Center) ซึ่งเป็นนโยบายของ น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ให้สถานศึกษาพัฒนาผู้เรียน ซึ่งนอกจากในด้านความสามารถแล้ว ก็อยากให้เป็นคนดีด้วย ซึ่งกิจกรรมช่วยป้องกันเหล้า บุหรี่ ก็จะช่วยเสริมสร้างให้เขาเป็นคนดีด้วยเช่นกัน
- ปลุกพลังครูอาชีวะ ป้องกันปัจจัยเสี่ยง
"ต้องยอมรับว่าเด็กอาชีวะ เป็นเด็กวัยรุ่น ถ้าหากิจกรรมที่น่าสนใจ และเข้าถึงเขาได้ก็เป็นเรื่องที่ดี ฉะนั้นกิจกรรมที่ร่วมมือกับ สสส. ล้วนแล้วแต่เป็นกิจกรรมที่ทำให้เด็กมีความสนใจ และสอดคล้องกับช่วงวัยของเขา ฉะนั้นกิจกรรมต่างๆ เขาให้ความสนใจ และให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี" ดร.นิติ กล่าว
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. กล่าวว่า ส สส. ได้สนับสนุนโครงการพัฒนาเครือข่ายและหนุนเสริมศักยภาพครู และแกนนำนักศึกษาอาชีวศึกษา ป้องกันปัจจัยเสี่ยง (เหล้า บุหรี่) ในสถานศึกษา มาอย่างต่อเนื่อง เพื่อขยายแนวร่วมในการทำงานเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง เหล้า บุหรี่ ที่เป็นต้นเหตุต่อเนื่องไปยังปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ เช่น ยาเสพติด
รวมถึงปัจจัยเสี่ยงด้านการพนัน ทั้งการสร้างความรู้ความเข้าใจ การช่วยเหลือกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง ตลอดจนการร่วมดูแลสิ่งแวดล้อมให้ปลอดจากปัจจัยเสี่ยง โดยมีครู นักเรียน นักศึกษาเข้าร่วมโครงการจำนวนมาก ซึ่งเป็นตัวแทนจากทุกแผนกวิชาเข้าร่วมฝึกฝนทักษะ จนเกิดเป็นแกนนำครู นักเรียน นักศึกษา เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการช่วยป้องกันปัจจัยเสี่ยง ส่งผลหลายด้าน ต่อนักเรียน นักศึกษา เช่น ผลการเรียนดีขึ้น ลดการเกิดอุบัติเหตุ ลดการบาดเจ็บ การเสียชีวิต จากปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
- พฤติกรรมสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ระบุเยาวชน 15-24 ปีมากสุด
ทั้งนี้ จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากรไทย ปี2564 โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ปี 2564 อัตราการสูบบุหรี่ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี อยู่ที่ร้อยละ12.7 ซึ่งลดลงจากปี 2560 (ร้อยละ15.4) ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชนก็ลดลงเช่นกัน แต่จากสถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้า พบ 78,742 คนสูบบุหรี่ไฟฟ้า
โดยมีสัดส่วนเป็นเยาวชน 15-24 ปีมากที่สุด (ร้อยละ 30.5%) ซึ่งกลุ่มเยาวชนควรได้รับข้อมูลที่ถูกต้องเพื่อประกอบการตัดสินใจ ส่วนสถานการณ์พนัน ประจำปี 2562 โดยศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน พบประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าร้อยละ 98.9 เกิดจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีคนรอบข้างเล่นการพนัน โดยมีเยาวชนที่อายุ 15-25 ปี เล่นการพนันจำนวน 4.3 ล้านคน และมีพฤติกรรมเข้าข่ายเป็นปัญหาอยู่ 6 แสนคน จึงควรมีการสร้างภูมิคุ้มกันเยาวชนให้รู้เท่าทันปัจจัยเสี่ยง
ขณะที่ อ.นพรัตน์ เบ้าหล่อ วิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ กล่าวว่า โครงการของวิทยาลัยเทคนิคอำนาจเจริญ คือ โครงการลด ละ เลิกบุหรี่ในสถานศึกษา กิจกรรมหลักๆ ทำเกี่ยวกับสื่อ คลิปวิดีโอ หนังสั้น ลงในติ๊กต็อก รวมทั้ง เฟซบุ๊ก ยูทูบ ซึ่งวัตถุประสงค์ของโครงการคือให้นักศึกษาใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ให้ลด ละ เลิกอบายมุข ตอนแรกตั้งเป้าให้นักศึกษาเข้าร่วมโครงการ 100 คน แต่เมื่อมาพิจารณาดูแล้วอยากให้เด็กได้รับโอกาส และความเสมอภาค จึงให้เด็กทั้งแผนกเข้าร่วมเพื่อให้เด็กรู้ถึงโทษจากเหล้า บุหรี่
“สิ่งที่เราเริ่มทำโครงการคือ อบรมเรื่องการทำสื่อวิดีโอ ไม่ว่าจะเป็นการเขียนสคริปต์ การตัดต่อวิดีโอ และให้เด็กอัปคลิปผ่านช่องยูทูบโดยทำควบคู่กับการอบรมให้ความรู้ โดยให้หมอจากโรงพยาบาลอำนาจเจริญมาให้ความรู้เกี่ยวกับโทษของบุหรี่ ก่อนที่ให้เด็กจับกลุ่มระดมสมองว่าได้ความรู้อะไรบ้าง และให้เขานำเสนอ พร้อมกับมีเงินรางวัลเป็นกำลังใจให้กับเขา ทั้งนี้อยากให้ สสส.มีโครงการดีๆ แบบนี้ให้เด็กห่างไกลจากยาเสพติด ทั้งเหล้า และ บุหรี่ เพื่อหวังให้เด็กเป็นพลเมืองที่ดีในสังคมต่อไป” อ.นพรัตน์ กล่าว