‘การทูตทุเรียน’ หอมหวาน เชื่อม 75 ปี‘จีน-อินโดนีเซีย’

ทุเรียนผลไม้หนามแหลมกลิ่นยั่วยวน คนชอบก็หลงใหล คนไม่ชอบแทบทนกลิ่นไม่ได้ แต่รู้กันว่าชาวจีนคลั่งไคล้ผลไม้ชนิดนี้มาก
เว็บไซต์แชนเนลนิวส์เอเชียรายงานว่า อินโดนีเซียกำลังเริ่มส่งออกทุเรียนแช่แข็งไปจีนในปีนี้ หลังจากสองประเทศสรุปข้อตกลงจัดหาทุเรียนฉบับประวัติศาสตร์กันได้แล้ว ในวาระเฉลิมฉลองครบรอบ 75 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตจีน-อินโดนีเซีย ที่พักหลังจีนใช้วิธีซื้อทุเรียน ราชาแห่งผลไม้คอยดึงดูดใจประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อพยายามสร้างสัมพันธ์หวานในภูมิภาคท่ามกลางรอยร้าวกับมหาอำนาจคู่อริอย่างสหรัฐ
รัฐบาลปักกิ่งให้คำมั่นเปิดตลาดจีนที่กำลังเติบโตและนำเข้าทุเรียนจากประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากขึ้น วิธีการยอดนิยมนี้ถูกขนานนามว่า “การทูตทุเรียน”
- ตลาดทุเรียนจีนกำลังเติบโต
อินโดนีเซียหมายตาความต้องการทุเรียนอย่างมหาศาลของจีน ปีก่อนจีนนำเข้าผลไม้กลิ่นตลบอบอวลชนิดนี้มูลค่าเกือบ 7 พันล้านดอลลาร์
อินโดนีเซียเชื่อว่าวิธีนี้จะช่วยเปิดทางไปสู่จุดหมายปลายทางการส่งออกเงินดีที่อื่นๆ ได้ ที่ซึ่งคนรักทุเรียนจะได้รู้จักสายพันธุ์ต่างๆ ได้มากขึ้น
ที่ปารีจี มูตอง (Parigi Moutong) ในจังหวัดสุลาเวสีกลาง โด่งดังเรื่องทุเรียนหมอนทอง ทุเรียนพันธุ์นี้มีต้นกำเนิดในประเทศไทย แต่ปัจจุบันปลูกกันแพร่หลายในอินโดนีเซียและเวียดนาม ทุเรียนหมอนทองลูกใหญ่ โดยทั่วไปหนักราว 3-5 กก. เนื้อนุ่ม รสหวาน เม็ดเล็ก เนื้อหนากว่าสายพันธุ์อื่นๆ
แม้หมอนทองอินโดนีเซียแช่แข็งวางขายในจีนเรียบร้อยแล้ว แต่เป็นการส่งออกผ่านประเทศไทย ตอนนี้การส่งออกโดยตรงอยู่ใกล้แค่เอื้อม
“ถ้าเราส่งผ่านไทยจะใช้เวลาราวหนึ่งเดือนถึงเมืองจีน ถ้าเราส่งตรงจากท่าเรือปันโตโลน (เมืองปาลูในสุลาเวสีกลาง) ไปยังจีน จะใช้เวลาราวหนึ่งสัปดาห์เท่านั้น” มูฮัมหมัด ตาฮีร์ ผู้อำนวยการพีที อัมมาร์ ทุเรียน อินโดนีเซียกล่าวและว่า ต้นทุนขนส่งทุเรียนตรงไปถึงจีนแค่ครึ่งหนึ่งของการส่งออกผ่านประเทศไทย
ปีที่แล้ว บริษัทขนส่งทุเรียน 30 ตู้คอนเทนเนอร์ เมื่อใดที่ได้ส่งตรงไปยังจีนคาดว่าจะเพิ่มเป็น 50 ตู้
ขณะที่จีนได้บังคับใช้ระเบียบปฏิบัติการส่งออกทุเรียนที่เข้มงวดกำหนดให้เกษตรกรและซัพพลายเออร์อินโดนีเซียต้องปฏิบัติตามมาตรฐานอันเคร่งครัด เช่นแนวทางปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีแนวทางการบริหารจัดการที่ดี และแนวทางการผลิตที่ดี เพื่อให้มั่นใจว่ามีการควบคุมคุณภาพในระดับสูง ต้องสามารถติดตามทุเรียนได้ตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีความโปร่งใสและตรวจสอบได้ทั้งกระบวนการส่งออก ซึ่งอินโดนีเซียก็มีวิธีการที่ตอบโจทย์
“เริ่มตั้งแต่การปลูกไปจนถึงจัดหีบห่อพร้อมส่ง ต้องตามรอยได้หมด หน่วยกักกันอินโดนีเซียสร้างแอปพลิเคชันขึ้นมาดำเนินโดยใช้บาร์โค้ด” อาหมัด มันสุรี อัลฟิอัน หัวหน้าศูนย์กักกันสัตว์ ปลา และพืชของ จ.สุลาเวสีกลางอธิบาย
ด้วยแอปพลิเคชันนี้แค่เจ้าหน้าที่สแกนบาร์โค้ดก็ทราบได้เลยว่า สินค้าบรรจุมาจากโกดังหรือสวนใด
- สนับสนุนผู้ปลูก
พีที ซิลเวีย อเมอร์ตา จายา เป็นหนึ่งใน 14 โรงงานแปรรูปทุเรียนในปารีจี มูตองที่จดทะเบียนส่งออกทุเรียนแช่แข็งตรงไปยังจีน
บริษัทซึ่งมีเครือข่ายเกษตรกร 500 รายในเขตกำลังขอการรับรองส่งออกทุเรียนสดไปยังตลาดจีนอันกว้างใหญ่ไพศาล
“เราต้องการปลูกทุเรียนในสวนเพิ่ม เราทำงานกับชุมชนตลอดมา ถ้ามีที่ดินว่าง เราจะบอกว่ามาปลูกสินค้าโภคภัณฑ์กันเถอะ” นี มาเด อายู นิงสีห์ ผู้อำนวยการบริษัทกล่าว
จ. สุลาเวสีกลางมีพื้นที่สวนทุเรียนราว 187,500 ไร่ แต่มีเพียง 10% เท่านั้นที่ได้รับการรับรองจากทางการท้องถิ่น เกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเกษตรแบบง่ายๆ
“เราหวังให้เกษตรกรมีโดรนใช้ และมีเครื่องไม้เครื่องมือทางการเกษตรที่ทันสมัยมากขึ้น นี่เท่ากับว่าเราจำเป็นต้องปรับงบประมาณที่รัฐบาลท้องถิ่นจัดหาให้” ไอ วายัน วาร์ดิกา นักวิเคราะห์จากกรมพืชอาหาร พืชสวนและสวนครัวในปารีจี มูตองกล่าวในมุมมองของข้าราชการ
- กระชับสัมพันธ์แกร่ง
นักสังเกตการณ์ระบุ อินโดนีเซียคาดหวังว่าสัมพันธ์อันดีระหว่างสองประเทศจะเอื้อให้สามารถส่งออกทุเรียนไปจีนได้โดยตรง
เดือน พ.ย.ปีก่อน ประธานาธิบดีปราโบโว สุเบียนโต ไปเยือนจีนหลังจากรับตำแหน่งได้เพียงหนึ่งเดือน
“ระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดี เราตกลงกันเรื่องพิธีสารสำหรับมะพร้าวจากอินโดนีเซีย เรายังทำงานเรื่องทุเรียน และผมคิดว่าเป้าหมายอยู่ไม่ไกลแล้ว ผู้บริโภคชาวจีนรักอาหารและผลไม้อินโดนีเซีย เราเห็นสินค้ามากมายเข้าไปในตลาดจีน” หวัง ลู่ตง เอกอัครราชทูตจีนประจำอินโดนีเซียเล่าความเป็นมาเป็นไป
ด้านกระทรวงเกษตรอินโดนีเซียได้จำแนกทุเรียนสายพันธุ์ท้องถิ่นทั่วประเทศได้กว่า 100 สายพันธุ์ ในจำนวนนี้มีห้าสายพันธุ์พรีเมียมที่มีศักยภาพการส่งออกสูงมากเหมาะกับการพัฒนาในระดับใหญ่ต่อไป
ลิเฟอร์ดี ลุคมัน ผู้อำนวยการฝ่ายผลไม้และไม้ดอกของกระทรวง ระบุ “เรามีโครงการมาตั้งแต่ปี 2024 เริ่มต้นในห้าจังหวัด ปลูกทุเรียนที่คาดว่าจะส่งขายตลาดโลกได้มากในภายหลัง หน่อเหล่านี้มาจากเมล็ดทุเรียนแต่ละสายพันธุ์ราว 1,000 ต้น” ลิเฟอร์ดีกล่าวและว่า อินโดนีเซียเป็นประเทศปลูกทุเรียนชั้นนำประเทศหนึ่งของโลก ผลผลิตราว 1.2 ล้านตันต่อปี แต่เน้นขายตลาดในประเทศเป็นหลัก
“ทำไมส่วนแบ่งเค้กทุเรียนถูกไทย เวียดนาม และมาเลเซียครอบงำล่ะ เราไม่ได้อยากเป็นผู้ผลิตทุเรียนรายใหญ่สุดของโลกหรอก เพียงแต่ตอนนี้เรายังเป็นแค่ผู้ชมเท่านั้นเอง” เจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรเผยความในใจ แต่บ่งบอกถึงแผนการที่อินโดนีเซียจะเดินหน้าต่อไป