'โตไปไม่สูบ' ชวนเด็กใต้ สร้างนวัตกรรมรู้ทัน 'บุหรี่ไฟฟ้า'

'โตไปไม่สูบ' ชวนเด็กใต้ สร้างนวัตกรรมรู้ทัน 'บุหรี่ไฟฟ้า'

"เด็กใต้" สร้างสื่อนวัตกรรม ผ่านเวที "โตไปไม่สูบ" กิจกรรมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา โดยใช้ "บอร์ดเกม" สร้างภูมิคุ้มกัน เพื่อฝึกเข้าสังคม และสื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนรู้จักการปฏิเสธ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่

ใครจะคิดว่า "บอร์ดเกม" อีกหนึ่งกิจกรรมสันทนาการยอดฮิตของวัยรุ่นไทยจะถูกหยิบยกมาเป็น "สื่อสร้างสรรค์" สร้างภูมิคุ้มกัน ความตระหนัก และเสริมการเรียนรู้ให้เด็กและเยาวชนไทยห่างไกลพิษภัย บุหรี่ไฟฟ้า

หากเอ่ยถึง "บุหรี่ไฟฟ้า" รับรู้กันดีว่ากำลังเป็นมหันตภัยร้ายที่คุกคามเด็กและเยาวชนอย่างมากโดยเฉพาะเยาวชนในภาคใต้ เมื่อพบผลสำรวจว่าพี่น้องชาวใต้นั้นมีอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากที่สุดในประเทศ

สถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กและเยาวชน และเครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) 20 โรงเรียน ใน 10 จังหวัดภาคใต้ จัดเวที "โตไปไม่สูบ" เวทีโชว์ แชร์ เด็กใต้สร้างสื่อนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ไฟฟ้าเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเด็กและเยาวชนในภาคใต้เพื่อไม่ตกเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่บุหรี่ไฟฟ้า

\'โตไปไม่สูบ\' ชวนเด็กใต้ สร้างนวัตกรรมรู้ทัน \'บุหรี่ไฟฟ้า\'

ฮาริส มาศชาย ผู้อำนวยการศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว กล่าวว่า โตไปไม่สูบ เป็นแคมเปญที่เครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) ได้ช่วยกันออกแบบกระบวนการสร้างกิจกรรมรณรงค์ลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าในสถานศึกษา โดยจะมี บอร์ดเกม โตไปไม่สูบ พัฒนาโดยกลุ่มไอเกลอนิสิต มหาวิทยาลัยทักษิณ นำมาใช้รณรงค์เพื่อปกป้องเด็กไทยจากภัยอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายเยาวชนให้เกิดการรวมกลุ่มการเล่นอิสระ และมีพื้นที่ในการพูดคุยสะท้อนปัญหา และหาทางออกจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า ได้นำไปใช้กับกลุ่มเยาวชนกว่า 2,000 คน พบว่าบอร์ดเกมช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน ให้รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้า ช่วยฝึกเข้าสังคม สื่อสารกับผู้อื่น ซึ่งถือเป็นทักษะที่สำคัญต่อเยาวชน ในการฝึกการปฏิเสธไม่เอาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และส่งเสริมการกำหนดเป้าหมายและแรงจูงใจ ฝึกการควบคุมอารมณ์และความเครียดเมื่อถูกกดดันจากตัวเกมหรือผู้เล่นคนอื่น และมีส่วนช่วยดึงให้เยาวชนลดการติดจอคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือ หันมามีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับผู้อื่นมากขึ้น

รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ยังเล่าถึงผลสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า ภาคใต้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงที่สุดทุกรอบการสำรวจ โดยปี 2564 อยู่ที่ 22.4% สูงกว่าอัตราสูบทั้งประเทศ 17.4%

"ผลสำรวจดังกล่าวยังสอดคล้องกับสำรวจพฤติกรรมการ สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย ร่วมกับ กระทรวงศึกษาธิการ กรุงเทพมหานคร สำรวจเยาวชน 40,164 คนทั่วประเทศ เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 พบกลุ่มเด็ก เยาวชน สูบบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึง 18.6% โดยมีความเข้าใจผิดว่า บุหรี่ไฟฟ้า ช่วยให้เลิกบุหรี่มวนได้ 61.23% และบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน 50.2% สะท้อนว่าเยาวชนยังขาดความรู้และความเข้าใจผลกระทบจากการสูบบุหรี่ที่ถูกต้อง เพราะบุหรี่ไฟฟ้ามีสารเสพติดที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทั้งระบบหายใจ ระบบหลอดเลือดสมอง ระบบประสาทและสมอง อื่นๆ สสส. จึงต้องเร่งสร้างความตระหนักรู้ให้เด็ก เยาวชน ไม่ตกเป็นเหยื่อนักสูบหน้าใหม่" รุ่งอรุณ กล่าว

ชัยวุฒิ บุตรเหล่ ผู้จัดการโครงการป้องกันเด็กไทยไม่ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า PROTECT NEW GEN กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้จัดคาราวานบ่มเพาะคนรุ่นใหม่เพื่อปลุกไอเดียไม่ตกเป็นเหยื่อบุหรี่ไฟฟ้า 23 พื้นที่ โดยมีกลุ่มเด็กและเยาวชนเข้าร่วม 2,343 คน และได้ร่วมสนับสนุนโรงเรียนเครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) 20 โรงเรียน ได้จัดให้มีการนำเสนอผลงานและถอดบทเรียน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เมื่อวันที่ 19-20 ธันวาคม 2567 ที่โรงเรียนหาดใหญ่รัฐประชาสรรค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ผศ. ดร. พรไทย ศิริสาธิตกิจ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวว่า เวทีโชว์ แชร์ เด็กใต้สร้างสื่อนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยงบุหรี่ไฟฟ้ามีความน่าสนใจในหลายมิติ โดยเฉพาะแกนนำเยาวชน นอกจากมีภูมิคุ้มกันที่ดีแล้ว ยังสามารถสร้างภาวะผู้นำทางความคิดให้เกิดการต่อยอดและขยายผลกับกลุ่มเพื่อนได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงกลุ่มพี่เลี้ยงครูที่สร้างระบบในการร่วมจัดการจัดการความรู้ ร่วมสร้างนวัตกรรมต้นแบบลดปัจจัยเสี่ยงของบุหรี่ไฟฟ้า และขยายผลไปยังห้องเรียนได้อย่างน่าสนใจ รวมถึงกลไกของโรงเรียนที่นำไปสู่นโยบาย ทำให้การทำงานในทุกระดับของเครือข่ายโรงเรียนนวัตกรรมลดปัจจัยเสี่ยง (บุหรี่ไฟฟ้า) ทั้ง 20 โรงเรียน ที่กระจายถึงเด็กมากกว่า 15,000 คน

สำหรับกิจกรรมในงานประกอบด้วยการจัดเวที Showcase นำเสนอผลงานเด่นสื่อสารลดปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ ร่วมด้วยกิจกรรม Walk rally ผ่านการจัดนิทรรศการ และยังมี World Café แลกเปลี่ยนความคิดเห็น และต่อยอดความรู้ นวัตกรรมลด บุหรี่ และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อค้นหา Best Practice และสร้างเครือข่ายเฝ้าระวังลดปัจจัยเสี่ยง

\'โตไปไม่สูบ\' ชวนเด็กใต้ สร้างนวัตกรรมรู้ทัน \'บุหรี่ไฟฟ้า\'