ปลุกพลังความเปลี่ยนแปลง ชวนคนไทย 'ทำไมเราควรสร้างสังคมปลอดบุหรี่ไฟฟ้า'

ปัจจุบันประเทศไทยกำลังใช้งบประมาณค่าใช้จ่ายครึ่งหนึ่งของสปสช. หมดไปกับการดูแลรักษาผู้ป่วยโรค NCDs ซึ่ง "การสูบบุหรี่" คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญ จึงนำมาสู่เวที "เติมพลัง ปลุกความคิด สร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า" เพื่อเร่งสร้างความตระหนักถึงอันตราย และลดการแบกรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ไม่เพียงพอ
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่ สูบบุหรี่ เผยแนวโน้มสถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยย้อนหลัง 30 ปีที่ผ่านมาของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ในกิจกรรมงาน "เติมพลัง ปลุกความคิด สร้างสังคมปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า" ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ระบุถึงแนวโน้มดีขึ้น
โดยในปี 2564 พบประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป มีจำนวน 56.1 ล้านคน แต่มีคนสูบบุหรี่ 10.9 ล้านคน นั่นคือจำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ลดลง สวนทางกับจำนวนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 17.6 ล้านคน ในระหว่างปี 2534-2564 ขณะที่จำนวนคนที่สูบบุหรี่ไม่เพียงแต่เพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงเหลือ 10.9 ล้านคน นั่นคือลดลงจาก 12.3 ล้านคน ในปี 2534 ลดไป 1.4 ล้านคน แต่ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเกิดอีกหนึ่งปัญหาที่ท้าทายจากการระบาดของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่นั่นคือ บุหรี่ไฟฟ้า ที่วันนี้เริ่มระบาดรุนแรงในเด็กและเยาวชนทั่วประเทศหนักหน่วงขึ้นจนกำลังกลายเป็นปัญหาระดับชาติ
จากการสำรวจการบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรคกระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี พบการ สูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จาก 3.3% ในปี 2558 เพิ่มขึ้น 5.3 เท่า และมีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี ซึ่งสะท้อนว่าเด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะเกิดการเสพติดนิโคตินไปตลอดชีวิต ซึ่งเป็นสารเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดาแต่อาจจะหนักหนายิ่งกว่า
หลุมพรางวันที่ควันบุหรี่ "หอมหวาน"
นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดใจในงานเดียวกันว่า การทำงานขับเคลื่อนเพื่อทำสงครามกับบุหรี่วันนี้สมรภูมิเปลี่ยนไปหมดแล้ว เนื่องจากการ disruption ของเทคโนโลยี สิ่งที่ทำให้เปลี่ยนคือการมาของบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะความน่าเป็นห่วงในกลุ่มเป้าหมายใหม่คือเพศหญิงกำลังมีจำนวนเพิ่มขึ้น
"ตอนนี้ผู้หญิงไทยสูบประมาณ 1.3% แต่เยาวชนที่เป็นผู้หญิง พบว่าวันนี้สูบอยู่ถึง 15% เพราะวันนี้ควันบุหรี่มันหอม แต่อย่าลืมว่านี่คือความหอมที่ซ่อนยาพิษ"
นพ.พงศ์เทพ กล่าวเพิ่มว่า ยิ่งหาก บุหรี่ไฟฟ้า ถูกกฎหมายอัตราการ สูบบุหรี่ไฟฟ้า ของเยาวชนหญิงอาจจะเพิ่มไปถึง 30-40% เมื่อกลายเป็นผู้ใหญ่ก็จะติดบุหรี่ตามไปด้วย ขณะเดียวกันปัจจุบันอายุเฉลี่ยของผู้หญิงไทยอยู่ที่ 80 ปี ซึ่งมากกว่าผู้ชายไทยที่มีอายุเฉลี่ย 72 ปี ถึง 8 ปีเนื่องจากผู้ชายมีพฤติกรรมสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่า แต่หากอนุญาตให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมายจะส่งผลให้ผู้หญิงไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้นจนอายุสั้นเท่ากับผู้ชายที่ 72 ปี เพราะควันบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้มีกลิ่นเหม็นอีกต่อไป แต่กลายเป็นกลิ่นหอมหวานที่ล่อลวงให้นักสูบหน้าใหม่อยากลิ้มลองและอาจติดได้ง่ายดายตั้งแต่ในครั้งแรกๆ ทำให้หลงลืมไปว่าบุหรี่คือความสุขเทียม เพราะทำให้เราเสพติดและอยากได้มากขึ้นๆ ซึ่งในวันหนึ่งก็ต้องชดใช้
"การสูบบุหรี่เป็นความสุขเพียงชั่วครั้งชั่วคราว แต่ถ้าสูบแล้วติดต้องกลับไปสูบอีก พอไม่สูบเริ่มลงแดงจะอยากได้มากขึ้นและมากขึ้นในที่สุดก็กลายเป็นทาส และวันหนึ่งก็ต้องชดใช้ เพราะไม่มีของฟรีในโลก ตนเคยเป็นแพทย์รักษาผู้ป่วยติดบุหรี่ถุงลมโป่งพองใส่ท่อช่วยหายใจตอนจะกลับบ้านจับมือสัญญากับตนทุกคนว่าจะเลิกบุหรี่แต่สุดท้ายกลับมารักษาตัวอีกรอบ" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
พร้อมยอมรับว่าการต่อสู้กับสงครามบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่เป็นสงครามที่ยากจะเอาชนะ ต้องเกิดจากการรวมพลังกันทุกภาคส่วนที่ร่วมใจรวมพลังกันฝ่าฟันไป
"วันนี้กำลังรบในสงครามที่ยากจะเอาชนะเป็นสงครามทุนนิยมที่มีเงิน 1 ล้านล้านบาท แต่เรามีโอกาสชนะถ้ามีความร่วมมือกันในทุกฝ่าย ทุกภาคีเครือข่าย นอกจากนั้นยังต้องอาศัยความร่วมมือจากสื่อสาร ความร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ที่จะช่วยสื่อสารกับสังคมได้รับรู้ เราต้องใช้ทุกช่องทางและทุกกระบวนในการสื่อสาร โดยมีงานวิจัยว่า 1 บาทที่ได้ลงไปกับการทำงานด้านยาสูบจะได้คืนมา 10 บาท ซึ่งเกิดจากอายุคนไทยที่ยืนยาวขึ้น แล้วกลับมาเป็นแรงงานของประเทศ ลดอัตราความพิการ ลดการป่วยติดเตียง แต่ละบาทนั้นไม่สำคัญเท่ากับชีวิตคนไทยที่แข็งแรงขึ้น" นพ.พงศ์เทพ กล่าว
ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าวเสริมว่า ซึ่งแม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมาย และแม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งปราบปรามผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้า แต่ยังมีช่องว่างทำให้สินค้าแพร่กระจายทั้งทางตรงและออนไลน์ ดังนั้น ในการรับมือปัญหาเรื่องบุหรี่ไฟฟ้าจำเป็นที่ภาคีเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบทุกภาคส่วน ต้องร่วมมือกันทั้งระดับนโยบายและการสื่อสารรณรงค์ที่ต่อเนื่อง การขับเคลื่อนต้องทำสองฝั่ง หนึ่งคือการควบคุมโดยด้านกฎหมาย อีกด้านคือการให้ความรู้ถึงพิษภัยอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีเป้าหมายที่อยากจะให้บรรจุเข้าไปในหลักสูตรในทุกโรงเรียน
"รวมถึงครูและผู้ปกครองจะต้องรับรู้และตระหนักถึงความสำคัญในการสื่อสารและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า ไม่เช่นนั้นจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ที่ลดลงมีโอกาสที่จะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้จำนวนคนสูบบุหรี่ที่ลดลงไปแล้วกลับเพิ่มขึ้นมาใหม่ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่เป็นอนาคตของชาติ" ศ.เกียรติคุณ นพ.ประกิต กล่าว
ประชาสังคม พลังเงียบรุกทุกพื้นที่
ในการทำงานขับเคลื่อนบุหรี่ที่ผ่านมาต้องถือว่าเครือข่ายและภาคประชาสังคมมีบทบาทค่อนข้างมาก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลจิตอาสาที่ทำงานร่วมกันมาอย่างยาวนาน ผ่านร้อนหนาวกับการต่อกรบุหรี่มวน มาถึงวันนี้ยังต้องเดินหน้าสู้ต่อกับสงครามครั้งใหม่ นั่นคือ "บุหรี่ไฟฟ้า"
แสงเดือน สุวรรณรัศมี ผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เล่าเรื่องราวการทำงานในระดับพื้นที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าแพร่อย่างรวดเร็วมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาหรือเรียกว่าแทบไม่มีพื้นที่ไหนที่ไม่ถูกการรุกคืบของบริษัทบุหรี่ โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน และเป็นเรื่องจริงที่ว่ามีจำนวนไม่น้อยเลยที่ไม่รู้ว่าการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ขณะที่มีการจำหน่ายอย่างแพร่หลายเยอะมาก ทำให้เด็กเข้าใจว่าการที่เขาสามารถซื้อได้เพราะถูกกฎหมาย ซึ่งเครือข่ายครูและโรงเรียนมีบทบาทสำคัญมากในการให้ความรู้ เขาคือคนที่เผชิญปัญหาเด็กในโรงเรียนเราพยายามสื่อสารให้เขารู้เท่าทันและปรับกลยุทธ์การทำงานในการสื่อสารและเฝ้าระวังบุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น เราจึงพยายามสื่อสารให้เด็กรับรู้ว่าบุหรี่ไฟฟ้ายังผิดกฎหมายอยู่ แต่ขนาดเป็นสินค้าที่ผิดกฎหมายยังแพร่ระบาดเร็วขนาดนี้ หากถูกกฎหมายงานใหญ่จะตกอยู่กับภาคีเครือข่ายฯ ที่ทำอาจยิ่งทำงานยากขึ้น
"คาดว่าจะทำให้อัตราการสูบบุหรี่ในเด็กและเยาวชนสูงขึ้น ซึ่งทุกวันนี้อยู่ที่อัตรา 17% แม้จะลดลงมาเรื่อยซึ่งเราหมายถึงบุหรี่มวน แต่เรากลับพบว่าเด็กใช้บุหรี่ไฟฟ้ามากขึ้น ก้าวกระโดดจาก 3-4% เพิ่มมาเป็น 15% โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่นหญิงน่าเป็นห่วงมาก เพราะเขาสามารถใช้ได้ง่ายกว่าบุหรี่มวนทั่วไป"
ท้ายสุดในฐานะตัวแทนคนทำงานระดับพื้นที่ ตนเอ่ยว่าอยากส่งสัญญาณไปยังผู้กำหนดนโยบายฯ ควรที่จะใช้อำนาจบังคับกวาดล้างร้านขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น รวมถึงช่องทางการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าทางออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนมาก รวมถึงการพยายามสื่อสารเรื่องอันตรายบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งคนยังเข้าใจผิดอยู่มากว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ปกติ