'นิด้า' ลงนามความร่วมมือ 'มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ' วิจัยและพัฒนา เพื่อชุมชนอย่างยั่งยืน
นิด้า ร่วมกับ มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงนามบันทึกความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ ส่งเสริมและสร้างงานบริการวิชาการแก่ชุมชนและประเทศชาติอย่างยั่งยืน
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ หรือ นิด้า จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการ ร่วมกับ มูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 10.00 น. ณ หอเกียรติยศ ชั้น 1 อาคารสยามบรมราชกุมารี นิด้า โดยมี ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ หล่อสุวรรณรัตน์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ รองศาสตราจารย์ ดร.อมรรัตน์ อภินันท์มหกุล รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและชุมชนสัมพันธ์ และคณะผู้บริหารสถาบัน พร้อมด้วยศาสตราจารย์พิเศษ ทันตแพทย์หญิง ท่านผู้หญิง เพ็ชรา เตชะกัมพุช ประธานกรรมการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ นายวรวุฒิ กุลแก้ว เลขาธิการมูลนิธิทันตนวัตกรรม ในพระบรมราชูปถัมภ์ และเจ้าหน้าที่มูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ เข้าร่วมงานดังกล่าว
สำหรับบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาความร่วมมือทางวิชาการนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการทำวิจัยร่วมกันเพื่อการพัฒนานวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ที่นำไปสู่การผลิตนวัตกรรมต่างๆ รวมถึงส่งเสริมความร่วมมือในการให้บริการทางวิชาการแก่ชุมชน สังคม ภาครัฐ ภาคเอกชน และประเทศชาติอย่างยั่งยืน ตามปรัชญาของสถาบันที่ว่า "WISDOM for Sustainable Development สร้างปัญญาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน"
ศาสตราจารย์ ดร.ทิพวรรณ อธิการบดีนิด้า กล่าวว่า การลงนามบันทึกความร่วมมือกับมูลนิธิทันตนวัตกรรมฯ ในครั้งนี้เกิดขึ้นจากการที่ นิด้า และมูลนิธิฯ มีจุดกำเนิดเดียวกันคือ การเป็นหน่วยงานที่ก่อตั้งขึ้นจากพระราชปณิธานของ ในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างคุณประโยชน์แก่สังคม โดยนิด้าจะนำเอาองค์ความรู้เกี่ยวกับการปลูกหญ้าแฝกจากมูลนิธิฯ มาทดลองปลูกในนิด้า ศูนย์การศึกษาสีคิ้ว และจะนำเอาองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี Smart Farming เข้าไปผนวกใช้ในการปลูกหญ้าแฝกในแปลงสาธิต เพื่อส่งเสริมและสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชนโดยรอบนิด้าสีคิ้ว เนื่องจากหญ้าแฝกนับเป็นวัตถุดิบหลักที่มูลนิธิทัตนวัตกรรมรับซื้อในราคาสูง เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการผลิตน้ำยาบ้วนปาก โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาดีไอเอฟเพื่ออุตสาหกรรมการแพทย์ การปลูกหญ้าแฝกอย่างมีประสิทธิภาพ จึงก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้แก่คนในชุมชน และกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจ
"นอกจากนี้ นิด้า จะมีการจัดการอบรมในสาขาวิชาต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่สีคิ้ว เช่น การอบรมวิชากฎหมาย เทคโนโลยี การเงิน ฯลฯ เพื่อสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ ก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างรอบด้าน สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไป"