โมเดล อีเอสจี ทำแล้ว ธุรกิจได้ ทุกคนได้

บทความฉบับที่แล้ว ผมพยายามหาเหตุผลมาแสดงให้ผู้อ่านเห็นว่า ESG ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด ดังนั้นในบทความนี้ ผมจะย้ำถึงคุณค่าของการนำ ESG ไปสร้างมูลค่าให้ธุรกิจ โดยขอตั้งต้นจากคำบ่นที่ได้ยินบ่อย ๆ ว่า “ESG คือ ต้นทุนที่แท้ทรู”

จะต้นทุน (cost) หรือลงทุน (investment) ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้เงิน 

หลายคนมอง ESG เป็นภาระในเชิงกิจกรรม ไม่ใช่กระบวนการ ก็เลยไม่แปลกที่จะกลายเป็น cost กลายเป็นงานงอก แต่สำหรับผม ESG เป็น common sense ของการลงทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ แค่เพิ่ม mindset ด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมเข้าสู่การทำธุรกิจปกติ ตัวอย่างง่ายๆ คือ การเปลี่ยนหลอดไฟจากฟลูออเรสเซนต์เป็น LED นอกจากจะช่วยลดค่าไฟและประหยัดพลังงานแล้ว ยังช่วยยืดอายุการใช้งาน ทำให้ค่าบำรุงรักษาลดลงด้วย สรุปคือ ถ้าเรามอง ESG แยกจากเป้าหมายธุรกิจ ESG จะกลายเป็น cost ทันที

คำถามต่อมา “บริษัทควรเริ่ม ESG ยังไง” เมื่อก่อนในหัวผมจะมีแต่หลักการที่ยากจะเข้าใจ เมื่อเวลาผ่านไปผมก็เข้าใจธรรมชาติของ ESG มากขึ้นเท่าๆ กับที่ผมเข้าใจธรรมชาติของธุรกิจ แท้จริงแล้วมันคือเรื่องเดียวกัน ต้องการผลลัพธ์ที่มีรีเทิร์นและอิมแพค ดังนั้นการทำ ESG คือ การทำธุรกิจ เวลาคุยเรื่อง ESG คือ การคุยเรื่องธุรกิจ...ธุรกิจที่มองอนาคต ทำให้เราแฮปปี้ และทำให้ทุกคนแฮปปี้ด้วย

ESG ทำได้ในธุรกิจทุกขนาด ทุกอุตสาหกรรม ยิ่งเป็นบริษัทเล็กยิ่งทำง่ายไม่ยุ่งยากเท่าบริษัทใหญ่ ขณะเดียวกัน ทั้งบริษัทเล็กใหญ่ก็สามารถใช้ ESG เป็นเครื่องมือปิดความเสี่ยงที่ซับซ้อนและช่วยแสวงหาโอกาสใหม่ๆ จากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและสิ่งแวดล้อมได้

ทุกวันนี้เราจะเห็นหลายองค์กรผสาน ESG เป็นเนื้อเดียวกับโมเดลธุรกิจหรือการทำ R&D เพื่อสร้างรายได้ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน สร้างฐานผู้บริโภค segment ใหม่ๆ และทำให้ทุกคนได้ประโยชน์ ตัวอย่างของธุรกิจเหล่านี้ก็เริ่มมีให้เห็นมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การผลิตอาหารที่ทำจากพืชช่วยลดการปล่อยก๊าซมีเทน ซึ่งเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การทำรองเท้าหรือเสื้อผ้าจากขยะพลาสติกในทะเล หรือการสร้างบ้านเพื่อผู้สูงอายุ และอื่นๆ อีกมากมาย ยังไม่นับรวม SMEs และ startup ที่โตอย่างรวดเร็วและกำลังมาต่อขยายระบบนิเวศเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 

 

จากสิ่งที่ผมเล่ามา มีหลายสำนักวิจัยพิสูจน์ว่า ESG เป็นปัจจัยหนึ่งที่กำหนดทิศทางธุรกิจ เช่น ผลสำรวจของ Harvard Business Review พบว่าคนในยุคนี้กว่า 55% โดยเฉพาะ New Gen (อายุ 25-30 ปี) ยอม “จ่ายเพิ่ม” เพื่อซื้อสินค้าหรือบริการที่ให้ประสบการณ์ดี ๆ แก่ลูกค้าและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม จนเกิดกระแสบริโภคที่กลายเป็น green fashion ของคนยุคใหม่

ผมไม่เถียงว่าการทำ ESG บางอย่างเป็น cost แต่จะทำอย่างไรให้สัดส่วนเงินที่ลงไปกับ ESG เป็นเงินลงทุนมากที่สุด หลายบริษัทที่ทำเป็น แล้วเห็นประโยชน์ อาจเปลี่ยนจุดอ่อนของธุรกิจให้กลายเป็นจุดขายในตลาดที่นำไปสู่ความเป็นผู้นำและรอดได้แบบยาวๆ

สิ่งที่ต้องไม่ลืม คือ อะไรก็ตามที่ธุรกิจทำแล้ว ต้องประเมินและเก็บข้อมูลอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง จากนั้นนำข้อมูลมาปรับปรุงและสร้างจุดต่อยอดของธุรกิจ พร้อมแสดงให้ทุกคนเห็นศักยภาพของการใช้ ESG พัฒนาธุรกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ไม่ใช่แสดงให้เห็นแต่จำนวนของโครงการทำความดีและเงินบริจาคเพียงอย่างเดียว