“วราวุธ” แนะ พลิกวิกฤติเป็นโอกาส ดึง BCG – ESG พลิกโฉมประเทศสู้วิกฤติโลกร้อน
รมว.ทส. แนะพลิกวิกฤติ เป็นโอกาส ดึงแนวทาง BCG และ ESG พลิกโฉมประเทศ สู่การเติบโตทางเศรษฐกิจ ชู 6 ด้านสำคัญ เดินหน้าสู่เป้า ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 และ Net Zero ในปี 2065
วานนี้ (19 ก.ย. 65) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวภายในงาน NEW ENERGY แผนพลังงานชาติ สู่ความยั่งยืน จัดโดย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ถึง “ยุทธศาสตร์การผลักดันสังคมคาร์บอนต่ำ” โดยระบุว่า มิติของ ทส. มีหน้าที่ในการพูดเรื่องกำหนดนโยบายและการขับเคลื่อนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไม่ใช่เรื่องในอนาคตอีกต่อไป แต่เป็นประเด็นที่หลายประเทศทั่วโลกเห็นพ้องต้องกันและเข้ามาร่วมมือกันทำงานภายใต้ความตกลงปารีส และประเทศไทย เข้าร่วมในโครงการนี้ผ่านยุทธศาสตร์ระยะยาว ในการพัฒนาการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับต่ำ
เมื่อ 1 พ.ย. 64 ในการประชุม COP26 นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่าไทยจะดำเนินการภายใต้แนวคิดความตกลงปารีส และเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero) ในปี 2065 เป็นความพยายามที่หากทุกประเทศทำได้ จะทำให้อุณภูมิของโลกใน ปี 2100 เพิ่มขึ้นไม่เกิน 1.5 องศา หากปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปไม่ควบคุม อุณหภูมิของโลกจะขึ้นไป 2.3-2.5 องศา
จากเดิมประเทศไทยวางเป้าหมาย สู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ปี 2065 และ Net zero 2090 ซึ่งเป็นหนทางที่ยาวไกล แต่พอปรับมาเป็นปี 2050 และ 2065 เราต้องปรับแผนยุทธศาสตร์ให้สอดคล้องกับ COP26 และหลังจากที่ปรับแล้ว คาดว่าหลังจากนี้ไปอีก 3 ปี คือ ปี 2025 ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 388 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และจะค่อยๆ ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเหลือ 120 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าในปี 2037
ส่งเสริมพลังงานสะอาด
รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า มาตรการที่จะลดก๊าซเรือนกระจก ได้แก่ การเพิ่มการใช้พลังงานหมุนเวียน ไม่ว่าจะในภาคอุตสาหกรรม ภาคขนส่ง หรือแม้แต่ภาคครัวเรือน นอกจากนี้ยังมีการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและใช้พลังงาน การส่งเสริมการใช้อีวี กระทรวงการคลัง มีมาตรการส่งเสริมทางภาษีให้ประชาชนสามารถซื้อหาอีวีได้ในราคาประหยัดมากขึ้น มีการส่งเสริมการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 50% หรือแม้แต่การเปลี่ยนสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการช่วยลดคาร์บอนฟรุตพรินต์ในเครื่องใช้ไฟฟ้า และการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการทำนา เพราะการปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจก ก๊าซมีเทนมากมาย
เปลี่ยนวิกฤติ เป็นโอกาส
นายวราวุธ กล่าวต่อไปว่า จากนี้ไปเราต้องพลิกวิกฤติเป็นโอกาสในการพลิกโฉมประเทศ โดยเฉพาะจากสถานการณ์โควิด-19 และความไม่สงบในยุโรป วันนี้ต้องกลับมาดูว่า การจะสร้างเศรษฐกิจของไทยจากนี้ให้เดินหน้า ให้มั่นคง จะต้องยืนบนขาของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น นโยบาย BCG และ ESG ที่ภาคเอกชนและภาคธุรกิจต้องนำมาใช้ ในการสร้างวิกฤติเป็นโอกาส ในการเติบโตของเศรษฐกิจของไทยจากนี้ไป
"รวมถึงแนวคิด Green Recovery และ เศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียว จะตอบโจทย์ เราจะเดินไปข้างหน้าด้วยขาของเราเอง ลดการนำเข้าหลายอย่าง เพราะวันนี้เห็นแล้วว่า พอเกิดความไม่สงบในยุโรปต้นทุนต่างๆ เพิ่มขึ้นไม่ว่าจะ พลังงาน ปุ๋ย ฯลฯ ดังนั้น แนวคิด BCG ของภาครัฐ และ ESG ของเอกชน จะสอดคล้องและทำให้ตอบโจทย์การทำการค้านานาอารยประเทศมากขึ้น"
“การเปลี่ยนรูปแบบการลงทุนที่ตอบโจทย์สังคมและสิ่งแวดล้อม จะมีบทบาทเข้ามามากขึ้น เพราะหลายกองทุนในต่างประเทศ เวลาจะให้การสนับสนุนทางการเงินกับโครงการใดหรือบริษัทใดจะดูว่าบริษัทท่านมีคาร์บอนฟรุตพรินต์ มีการรับผิดชอบต่อสังคมมากน้อยแค่ไหนอย่างไร และมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากน้อยแค่ไหนอย่างไร ดังนั้น การที่เศรษฐกิจของไทยจะเดินไปข้างหน้าไม่ว่าจะองค์กรขนาดใหญ่ หรือ เอสเอ็มอี มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการคำนึงถึงแนวคิด BCG หรือ ESG
เดินหน้า 6 ด้านสำคัญ
รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า ในส่วนของภาครัฐเอง มีการดำเนินการทั้งหมด 6 ด้านด้วยกัน ได้แก่ 1. ด้านโยบาย ในการบูรณาการสู่เป้าหมาย Net zero มีนโยบายตั้งแต่ระดับยุทธศาสตร์และในรายสาขาไม่ว่าจะภาคขนส่ง การเกษตร อุตสาหกรรม ธุรกิจต่างๆ และการขับเคลื่อนนโยบาย BCG เพื่อสร้าง S-Curve ใหม่ของเศรษฐกิจประเทศไทย
รวมถึงส่งเสริมภาคการเกษตรให้มีการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ จากที่มีการนำข้าวทิ้งในผืนนาตลอด 3-4 เดือน เกิดการหมักหมม บ่มเป็นก๊าซมีเทน และทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ขณะนี้ รัฐบาลของเยอรมัน ได้ร่วมมือกับรัฐบาลไทย โดย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทดลองเทคโนโลยีใหม่ ปลูกข้าวแบบเปียกสลับแห้ง สิ่งที่ตามมา คือ ประหยัดน้ำ เพิ่มผลผลิตทางการเกษตรจาก 1 ไร่ ได้ข้าว 700 กิโลกกรัม เป็น 800 กว่ากิโลกรัม สิ่งที่ตามมาก๊าซเรือนกระจกหายไปกว่า 70%
2. การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีต่างๆ วันนี้แน่นอนว่าตราบใดที่มีมนุษย์ จะมีการผลิตคาร์บอนไดออกไซด์ และ ก๊าซเรือนกระจก ขณะนี้มีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ CCS และ CCUS ในการเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ในพื้นโลก ซึ่งอยู่ระหว่างการประชุมว่าจะใช้ในไทยได้อย่างไรเพราะต้นทุนค่อนข้างสูง
นอกจากนี้ ยังเร่งการปรับปรุงกฎหมาย ปรับปรุงเทคโนโลยีที่เหมาะสมในการใช้ CCS และ CCUS การลงทุน และการมูลค่าเพิ่มของคาร์บอนเครดิตและมาตรการทางภาษีให้ภาคเอกชนและภาคธุรกิจดำเนินการ
3. การค้า การลงทุน ขณะนี้ มีการประสานงาน BOI ในการส่งเสริมการลงทุนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงในสาขาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน ขนส่ง เกษตรกรรม ป่าไม้ สนับสนุนให้เกิดการลงทุนสีเขียว การจัดซื้อจัดจ้าง แม้แต่ภาครัฐเอง กรมบัญชีกลางได้ขึ้นทะเบียนสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยภาครัฐได้ออกมาตรการเพื่อช่วยให้ไทยก้าวสู่สถานะความเป็นกลางทางคาร์บอนและ Net zero ได้มากขึ้น
4. การพัฒนากลไกตลาดคาร์บอนเครดิตทั้งในและต่างประเทศ โดยทาง สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้จัดทำแนวทาง กลไกในการบริหารจัดกาคาร์บอนเครดิตให้เกิดเป็นรูปธรรม โดยวันพุธ 21 ก.ย. 65 อบก. ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ขับเคลื่อนภาคเอกชนในการยกระดับการผลิตสินค้าและบริการที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ และเชื่อมต่อเเพลตฟอร์มการซื้อขายพลังงานสะอาดเเละคาร์บอนเครดิต เป้าหมายสู่ Green Gold มูลค่าคาร์บอน 325,450 ล้านบาท
“เหตุผลที่ต้องเร่งขนาดนี้ เพราะ ประเทศไทย ปล่อยก๊าซเรือนกระจก 0.8% ของทั้งโลกเท่านั้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ น้ำท่วม น้ำแล้ง ความรุนแรง ไทยจะเป็น 1 ใน 10 ประเทศที่โดนผลกระทบ ดังนั้น เป็นเหตุผลว่าทำไมวันนี้ ทส. ต้องเร่งไม่ว่าจะหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชนในการร่วมกันแก้ไขปัญหา”
5. การเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดก๊าซเรือนกระจก ประเทศไทยมีพื้นที่ 323 ล้านไร่ ปัจจุบัน มีพื้นที่ป่า 31.8% ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กำหนดว่าประเทศไทย ต้องมีพื้นที่สีเขียว 55% ในจำนวนนี้ 35% เป็นป่าสมบูรณ์ และ 15% เป็นป่าเศรษฐกิจ และอีก 5% เป็นพื้นที่สีเขียวในเมืองใหญ่
ดังนั้น ในวันนี้ป่าสมบูรณ์ 35% เรามีอยู่ 31.8% ยังเหลืออีกราว 3% ที่ต้องเพิ่มให้ได้ ดังนั้น ทางกระทรวงฯ ได้สนับสนุนการปลูกป่าธรรมชาติ ป่าเศรษฐกิจ ไม้โตเร็ว กรมป่าไม้ กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ออกระเบียบ ส่งเสริมการปลูกป่า เมื่อปลูกป่าแล้ว เชิญภาคเอกชนมาช่วยกัน และแบ่งปันคาร์บอนเครดิต
"ผู้ปลูกจะได้ 90% และภาครัฐได้ 10% ดังนั้น ปี 2565 ได้เตรียมพื้นที่ให้ประชานและเอกชนเข้ามามีส่วนร่วม ประมาณ 6 แสนไร่ ทั้งป่าชายเลน และป่าบก โดยเฉพาะป่าชายเลน ที่สามารถดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้มากถึง 5-10 เท่าของป่าบก”
6. กฎหมาย โดยขณะนี้ ทส. อยู่ระหว่างการผลักดัน (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... ดำเนินการภายใต้แผนการปฏิรูปประเทศ การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วทั่วโลก ทำให้ต้องเปลี่ยนมาตรการจากสมัครใจเป็นภาคบังคับ จากนี้ไปขอความร่วมมือธรรมดาไม่ได้ ต้องเป็นภาคบังคับ
ขณะเดียวกัน ต้องเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและกลไกการเงิน ประสานงานกับกระทรวงการคลังและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกในรายสาขาและไปสู่การปฏิบัติอย่างจริงจัง คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ถึงต้นปีหน้า จะสามารถนำเสนอ (ร่าง) พระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พ.ศ.... เข้าสู่การพิจารณาต่อคณะรัฐมนตรีได้
รมว.ทส. กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา ทส. ได้จัดการประชุมภาคีขับเคลื่อนการปฏิบัติงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของไทย (TCAC) เป็นการจำลองการประชุม COP แต่ละปี ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สร้างการตระหนักรู้ให้ภาคเอกชน ธุรกิจ องค์กรใหญ่ๆ เอสเอ็มอี และ พี่น้องประชาชน เยาวชน เข้ามามีส่วนร่วม สร้างการขับเคลื่อนในเอกชนจำนวนมาก และตอกย้ำว่าไทยเป็นหนึ่งในผู้นำในการแก้ไขปัญหา การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เกิดขึ้น และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสร้างความร่วมมือทุกภาคส่วน จะผลักดันให้เราเดินตามเป้าหมายที่วางไว้
"โดยภาคเอกชนเป็นภาคที่มีศักยภาพมากที่สุด การปรับเปลี่ยนธุรกิจสู่การปล่อยคาร์บอนต่ำ การวางแผนรับมือความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อต่อสู้กับมาตรการทางภาษีต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งสำคัญ ต้องขอบคุณภาคเอกชนและประชาชน คนรุ่นใหม่ ที่ให้ความสำคัญด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น การนำเรื่องสิ่งแวดล้อมมาใช้ในชีวิตประจำวัน ใช้ถุงผ้า ใช้ขวดน้ำส่วนตัว ลดขยะพลาสติกให้น้อยลง"
“ประเทศไทยมีศักยภาพ มีความพร้อม พัฒนา แก้ไขปัญหา เชื่อมั่นว่าเราทำได้ เพราะเชื่อมั่นศักยภาพของคนไทย ไม่มีอะไรที่คนไทยทำไม่ได้ ความร่วมมือของทุกภาคส่วนกว่า 67 ล้านคนในไทย หากร่วมมือกันก้าวสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนอย่างยั่งยืน จะสามารถรักษาโลกใบนี้ให้กับคนรุ่นต่อไปได้ หากไม่ทำตอนนี้จะทำตอนไหน และหากทำด้วยกันแล้วไม่มีอะไรที่คนไทยทำไมได้ ทุกอย่างเป็นจริงได้” รมว.ทส. กล่าวทิ้งท้าย